กิจการ "วิทยุกระจายเสียง" ในประเทศไทยมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2470 ด้วยพระดำริของ พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และโทรคมนาคม ในรัชกาลที่ 7 ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งวงการวิทยุกระจายเสียงไทย"
พระองค์ทรงดำริตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้น เมื่อ พ.ศ.2471 โดยสั่งเครื่องส่งกระจายเสียงคลื่นสั้นเข้ามาทดลอง และให้อยู่ในความควบคุมของช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ตั้งสถานีที่ตึกที่ทำการไปรษณีย์ปากคลองโอ่งอ่าง ตำบลวัดราชบูรณะเป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อสถานีว่า "4 พีเจ" (HS 4 PJ)
ซึ่งต่อมาได้มีการประกอบเครื่องส่งคลื่นขนาดกลาง 1 กิโลวัตต์ ขึ้น ทำการทดลองที่ตำบลศาลาแดงใช้ชื่อสถานีว่า "หนึ่ง หนึ่ง พีเจ" (HS 11 PJ) ซึ่งการใช้ชื่อสถานีว่า "พีเจ" ในยุคนั้น ย่อมาจากคำว่า "บุรฉัตรไชยากร" อันเป็นพระนามเดิมของพระองค์ท่าน
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีฉัตรมงคล ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเปิดการส่งวิทยุเป็นปฐมฤกษ์ โดยใช้ชื่อสถานีว่า "สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท" (Radio Bangkok at Phyathai) ตั้งอยู่ที่วังพญาไท มีกำลังส่ง 2.5 กิโลวัตต์
โดยพิธีเปิดสถานีกระทำโดยอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันพระราชพิธีฉัตรมงคล จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย กระจายเสียงสู่พสกนิกร ความว่า
"การวิทยุกระจายเสียงที่ได้เริ่มจัดขึ้น และทำการทดลองตลอดมานั้น ก็ด้วยความมุ่งหมายว่าจะส่งเสริมการศึกษาการค้าขายและการบันเทิง แก่พ่อค้า ประชาชน เพื่อควบคุมการนี้เราได้ให้แก้ไขพระราชบัญญัติดั่งที่ได้ประกาศใช้เมื่อเดือนกันยายนแล้ว และบัดนี้ดั่งเครื่องกระจายเสียงอย่างดีมาตั้งที่สถานีวิทยุโทรเลขพญาไทเสร็จแล้ว เราจึงถือโอกาสสั่งให้เปิดใช้เป็นปฐมฤกษ์ตั้งแต่บัดนี้ไป"
นับเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุในประเทศไทย
"วิทยุ" มีคุณค่าทางการศึกษาอย่างไรบ้าง?
นอกจากนี้ วิทยุกระจายเสียง ยังเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญ ในกระบวนการสื่อสาร และมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข่าวสาร วิชาการ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมได้กว้างไกลและทั่วทุกพื้นที่ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนมาโดยตลอดตราบจนปัจจุบัน
ชอบฟังวิทยุตอนไหนกัน?
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ผู้ฟังสามารถเลือกรับฟังรายการวิทยุได้หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น ผ่านเครื่องรับวิทยุ , โทรศัพท์มือถือ , แท็บเล็ต (Tablet) , ในรถยนต์ , คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ , โน้ตบุ๊ก (Notebook) ฯลฯ แถมยังรับฟังได้ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ด้วย
แล้วคุณล่ะ ฟังวิทยุกันไหม ชอบฟังตอนไหน จะขณะเดินทาง ตอนทำงาน ทำกิจกรรม ลุยงานอดิเรก เข้านอน หรืออื่นๆ บอกเราได้นะ
ที่มา
https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/general-knowledge/543664
https://www.facebook.com/TPchannelFan/posts/1094253797382978
https://www.stkc.go.th/
ภาพจาก
https://www.shutterstock.com/th/