svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

186 ชีวิตระทึก! พาวเวอร์แบงก์ระเบิด ควันท่วมเที่ยวบิน "ดอนเมือง-นครศรีฯ"

ระทึก พาวเวอร์แบงก์ระเบิด ไฟลุกบนเครื่องบิน ขณะกำลังเดินทางจากดอนเมืองไปจังหวัดนครศรีธรรมราช จนเกิดความวุ่นวายกันทั้งลำ โชคดีลูกเรือใช้เวลาเพียง 2 นาทีดับไฟเรียบร้อย แอร์เอเซียออกแถลงขอบคุณผู้โดยสารร่วมมือดับเพลิง

พาวเวอร์แบงก์ระเบิด
24 กุมภาพันธ์ 2567 เกิดเหตุ พาวเวอร์แบงก์ ของผู้โดยสารระเบิดบนเครื่องบินโดยสาร ของสายการบินไทยเเอร์เอเชีย เที่ยวบิน FD3188 ออกเดินทางจากดอนเมือง เวลา 07.20 น.  มุ่งหน้าสนามบินนครศรีธรรมราช โดยมีผู้โดยสารเต็มลำ 186 ชีวิต 

เมื่อเครื่องขึ้นไปได้ประมาณ 30 นาที มีเหตุไฟลุกโชน ควันโขมง ขึ้นบริเวณกลางเครื่องบิน แถวนั่งที่ 15 มองเห็นอย่างชัดเจน ผู้โดยสารตกใจอย่างมาก ขณะที่ลูกเรือบนเครื่องบินสามารถดับไฟได้สำเร็จใช้เวลาประมาณ 2 นาที ท่ามกลางการลุ้นระทึกของผู้โดยสาร โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการบิน สามารถเดินทางไปยังสนามบินนานาชาตินครศรีธรรมราชได้ตามปกติอย่างปลอดภัย หลังเกิดเหตุตรวจสอบพบร่องรอยไฟไหม้สีดำเล็กน้อยตรงบริเวณเบาะที่เกิดเหตุ 

จากสารสอบถามผู้โดยสารเจ้าของพาวเวอร์แบงก์ที่ระเบิด ทราบว่า เดินทางมาพร้อมครอบครัว 8 คน เพื่อไปท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเวลา 3 วัน ก่อนเกิดเหตุตนได้ขึ้นนั่งบนเครื่องตามปกติ แล้วเอาพาวเวอร์แบงก์วางไว้ด้านหน้าตรงที่เก็บสัมภาระ ซึ่งอยู่เบาะด้านหลังของคนที่นั่งด้านหน้า จู่ๆก็เกิดลุกขึ้นมาเอง ตกใจมาก โชคดีไม่บาดเจ็บแต่อย่างใด 
ลูกเรือแอร์เอเซีย เร่งเข้าไปดับไฟ

ขณะที่ สายการบินแอร์เอเชีย ได้ชี้เเจงกรณีที่เกิดขึ้น ระบุว่า...

เที่ยวบิน FD3188 เส้นทางดอนเมือง-นครศรีธรรมราช วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ออกเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมือง เวลา 07.20 น. ได้พบเหตุแบตเตอรี่สำรอง(พาวเวอร์แบงก์) ของผู้โดยสารที่เดินทางในเที่ยวบินดังกล่าว เกิดมีควันและไฟลุกไหม้ ซึ่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ได้รับการฝึก ได้นำถังดับเพลิงควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้โดยสารทุกคนปลอดภัย และเที่ยวบินได้ลงจอด ณ ท่าอากาศยานปลายทางอย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ สายการบินขอขอบคุณผู้โดยสารที่นั่งบริเวณดังกล่าว ที่ช่วยสังเกต พร้อมให้ความช่วยเหลือร่วมมือกับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบิน ด้วยความเรียบร้อยเป็นอย่างดี
ใช้เวลาประมาณ 2 นาที ลูกเรือแอร์เอเซีย สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้

อย่างไรก็ตาม สายการบินเเนะนำผู้โดยสารทุกคนโปรดตรวจสอบแบตเตอรี่สำรองก่อนนำขึ้นเครื่องให้มีคุณภาพเเละขนาดตามที่กำหนด โดยแบตเตอรี่สำรองจะไม่ได้รับอนุญาตให้บรรจุลงในสัมภาระใต้ท้องเครื่อง (ถือขึ้นเครื่องตามขนาดที่กำหนดเท่านั้น) เนื่องจากหากพบเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ พนักงานที่ได้รับการฝึกจะสามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที

ไขคำตอบ "พาวเวอร์แบงก์" ระเบิดได้อย่างไร
ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยโพสต์อธิบายถึงกรณีพาวเวอร์แบงก์ระเบิด ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” ระบุว่า..

สาเหตุที่ พาวเวอร์แบงก์ หรือ พวกแบตเตอรีสำรอง เกิดระเบิดลุกไหม้ไฟได้ ไม่เหมือนกับพวกถ่านไฟฉาย ถ่านอัลคาไลน์ที่คุ้นเคยกันมานานนั้น ก็เพราะมันมักจะเป็นแบตเตอรี่พวกลิเธียมไอออน (lithuim ion) ที่มีน้ำหนักเบา และมีความหนาแน่นของความจุไฟฟ้าสูง แต่ก็ต้องระวังอันตรายอันอาจเกิดขึ้นได้ ถ้าลิเธียมสัมผัสกับอากาศที่มีก๊าซออกซิเจน และทําให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน เกิดความร้อนสูง และเกิดการระเบิดรุนแรงได้

โดยปรกติแบตเตอรี่แบบลิเธียมไออน จึงต้องมีเปลือกแบตเตอรี่และวัสดุห่อหุ้มเซลไฟฟ้าด้านใน ไม่ให้โมเลกุลของก๊าซออกซิเจนสัมผัสกับอะตอมของลิเธียม

แต่ถ้าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนนั้น มีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งในส่วนของวัสดุที่ใช้ห่อหุ้ม และในส่วนของวงจรไฟฟ้าสำหรับการจ่ายไฟและการชาร์จไฟ รวมไปถึงการเสื่อมประสิทธิภาพตามการเวลา หรือถูกกระแทกจนเกิดความเสียหาย หรือจัดเก็บในที่ๆไม่เหมาะสม เช่น มีความร้อนสูง ก็อาจจะนำมาสู่อุบัติเหตุ มีไฟฟ้าลัดวงจรในแบตเตอรี่ เกิดอุณหภูมิที่สูงขึ้น เกิดความเสียหายกับเปลือกหุ้มเซลแบตเตอรี่จนอากาศเข้าไปข้างในและเจอกับโลหะลิเธียม สุดท้าย ก็อาจระเบิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์พาวเวอร์แบงก์ระเบิด โดยที่ไม่ได้มีการเสียบชาร์จอยู่ ถึงจะมีความเป็นไปได้ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก แค่ประมาณ 1 ในล้านเท่านั้น และพาวเวอร์แบงก์ก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่มีการบังคับ ให้ทุกชิ้น ทุกยี่ห้อ ที่จะวางจำหน่ายในประเทศไทย ต้องผ่านมาตรฐาน ด้านความปลอดภัย มอก. 2879-2560 และต้องได้รับอนุญาตในการผลิต-นำเข้า โดยจะต้องมีตรา มอก. แปะอยู่กับพาวเวอร์แบงค์ทุกลูก