svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

21 ก.พ. เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ยุบพรรค “อนาคตใหม่” สู่ "ก้าวไกล" บนเส้นทางการเมือง

21 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

21 ก.พ. เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค "อนาคตใหม่" พรรคก้าวเมืองหัวก้าวหน้า สู่พรรค "ก้าวไกล" บนเส้นทางการเมืองไทย

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ วันนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว หรือเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นอีกวันนี้ที่หน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยจารึกไว้ เพราะเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำตัดสินยุบ "พรรคอนาคตใหม่" พรรคหัวก้าวหน้า เป็นมิติใหม่ของการเมืองไทยในขณะนั้น พร้อมตัดสิทธิทางการเมือง กรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง ห้ามเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง และห้ามจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง

การยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้พรรคกู้ยืมเงิน 191.2 ล้านบาท เพื่อทำกิจกรรมในช่วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เป็นการปิดฉาก พรรคการเมือง ที่มีอายุทางการเมืองเพียง 1 ปีเศษ ๆ แต่กลับเป็นพรรคการเมือง ที่ได้รับจับตามองจากคนไทย และคนทั่วโลกในขณะนั้น 
21 ก.พ. เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ยุบพรรค “อนาคตใหม่” สู่ \"ก้าวไกล\" บนเส้นทางการเมือง

ที่มา-ที่ไป "คดียุบพรรคอนาคตใหม่"

พรรคอนาคตใหม่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2561 โดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล พร้อมทั้งผู้ร่วมจดจัดตั้งอีก 24 คน ยื่นจดแจ้งชื่อจัดตั้งพรรคการเมือง ต่อ กกต. ในการประชุมใหญ่ของพรรคเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2561 นายธนาธรได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนแรก และนายปิยบุตร ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคคนแรก โดพรรคอนาคตใหม่ได้รับการรับรองจาก กกต. ให้มีสถานะเป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2561

ช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองไทย เนื่องจากเป็นช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง ครั้งแรกในปี 2562 นับตั้งแต่มีการรัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2557 และพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกตั้งขึ้นโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้เป็นที่จับตามองของสัมคมไทยและสังคมโลก ในฐานะหน้าใหม่ของการเมือง มีจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร มีฐานเสียงเป็นประชากรส่วนใหญ่ ที่เป็นชนชั้นกลางที่อาศัยอยู่ในเมือง นักศึกษา ผู้เบื่อหน่ายต่อความขัดแย้งทางการเมืองเดิม

และจากความกล้าหาญทางนโยบาย ทำให้ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ ได้จำนวน สส. ทั้งสิ้น 81 คน และได้รับคะแนนมหาชนเป็นลำดับที่ 3 ของสภา และยังเป็นพรรคที่ได้คะแนนมหาชน มากที่สุดในกรุงเทพมหานคร

และจากเงื่อนไขทางรัฐสภาในขณะนั้น ทำให้ให้พรรคเพื่อไทย ไม่สามารถเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคจึงมีมติให้เสนอชื่อ นายธนาธร เป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน พร้อมวรรคทองของนายธนาธร "ผมพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี"

แต่ในที่สุดแล้ว ในการจัดตั้งรัฐบาลและการโหวตเลือกนายกฯ ที่่สุดพรรคพลังประชารัฐได้เป็นแกนนำจัดตตั้งรัฐบาล และมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ พรรคอนาคตใหม่จึงทำได้ดีที่สุดคือ เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่ก็สามารถทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาฯ ได้อย่างดุเดือด สร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองได้เป็นอย่างมาก
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ทำหน้าที่ในสภาฯ

จุดเริ่มต้นของการยุบพรรคอนาคตใหม่ หากย้อนกลับไปถึงที่มาที่ไป ตามลำดับเหตุการณ์ ดังนี้

ต่อมาวันที่ 20 ก.ย. 2562 ภายหลัง ป.ป.ช.เผยแพร่บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีเข้ารับตำแหน่ง สส.รวมคู่สมรส มีจำนวน 5,000 ล้านบาท มีการปล่อยกู้ยืมแก่พรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191.2 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 สัญญาคือ สัญญาแรกจำนวน 161.2 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 จำนวน 30 ล้านบาท

ซึ่งกรณีดังกล่าว นายธนาธร ได้ชี้แจงวันต่อมา คือวันที่ 21 ก.ย. 2562 ยืนยันว่า เงินกู้ดังกล่าวไม่ใช่รายได้ และชี้แจงต่อ กกต.แล้ว
21 ก.พ. เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ยุบพรรค “อนาคตใหม่” สู่ \"ก้าวไกล\" บนเส้นทางการเมือง

แต่ในวันที่ 23 ก.ย. 2562 นายศรีสุวรรณ จรรยา อดีตเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยในขณะนั้น ได้ยื่น กกต. ให้ตรวจสอบสัญญาการกู้เงิน ระหว่าง "นายธนาธร" กับ "พรรคอนาคตใหม่" ว่า ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ซึ่งวันที่ 19 พ.ย. 2562 กกต.มีมติให้พรรคอนาคตใหม่ ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง มาประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม หลังเคยมีการเรียกเอกสารดังกล่าวไปแล้ว แต่พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้ส่งเอกสาร หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง มาให้แก่คณะอนุกรรมการวินิจฉัยคำร้องและปัญหาหรือข้อโต้แย้ง แม้ภายหลังวันที่ 27 พ.ย. 2562 พรรคอนาคตใหม่ จะจัดส่งเอกสารเพิ่มเติม พร้อมขอขยายเวลาส่งเอกสารบางส่วนอีก 120 วัน โดย กกต.ขยายให้จัดส่งเอกสารภายในวันที่ 2 ธ.ค.2562

แต่ในวันที่ 2 ธ.ค. 2562 กกต.ได้มีมติตัดพยานหลักฐาน และให้คณะกรรมการสืบสวน และไต่สวนพิจารณาจากพยานหลักฐาน ที่ส่งมาก่อนหน้า โดยระบุว่า พรรคอนาคตใหม่มีเจตนาถ่วงเวลา เนื่องจากเอกสารอยู่ในการครอบครองของพรรคอนาคตใหม่อยู่แล้ว 

ก่อนที่วันที่ 11 ธ.ค. 2562 กกต. มีมติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากเห็นว่า การกู้ยืมเงินจากนายธนาธรของพรรคอนาคตใหม่ เป็นการกระทำฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมให้พรรคอนาคตใหม่ชี้แจงข้อกล่าวหาในวันที่ 25 ธ.ค. 2562 

ต่อมาวันที่ 10 ม.ค. 2563 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้มีการเปิดเอกสารที่อ้างว่า มีการยกคำร้องในชั้นอนุกรรมการและชั้นสอบสวนของ กกต.ไปแล้ว และในวันที่ 27 ม.ค. 2563 ทีมทนายความของพรรคอนาคตใหม่ ได้ยื่นหลักฐานชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ซึ่งในวันที่ 5 ก.พ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสาร นัดอ่านคำวินิจฉัยยุบหรือไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่ ในวันที่ 21 ก.พ. 2563 โดยวันที่ 12 ก.พ. 2563 ได้ให้พยานบุคคลรวม 17 ปาก ของพรรคอนาคตใหม่ จัดทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็นหนังสือยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ เลขาธิการ กกต.ในฐานะผู้เกี่ยวข้อง จัดทำความเห็นเป็นหนังสือ และส่งเอกสารต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันเดียวกัน

ทั้งนี้ ในวันที่ 14 ก.พ. 2563 นายธนาธร ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ ย้ำความมั่นใจว่า พรรคอนาคตใหม่จะไม่ถูกยุบแน่นอน และในวันที่ 21 ก.พ. 2563 จะไม่เดินทางไปศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะฟังคำวินิจฉัยที่พรรคอนาคตใหม่แทน

จากนั้น วันที่ 18 ก.พ. 2563 นายปิยบุตร ได้มีการแถลงปิดคดีเงินกู้ นอกศาลรัฐธรรมนูฐที่พรรคอนาคตใหม่ โดยยืนยันว่า เงินกู้ไม่ใช่รายได้ แต่เป็นหนี้สินและโทษไม่ถึงยุบพรรค
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

กระทั่งวันที่ 21 ก.พ. 2563 เวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านมีคำตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากเห็นว่า เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มีมติให้สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ กรรมการบริหารพรรค ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ณ วันที่มีการทำสัญญากู้เงินคือ วันที่ 2 ม.ค. 2562 และ 11 เม.ย. 2562 เป็นเวลา 10 ปี 

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุตอนหนึ่งว่า การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ต้องอาศัยรายได้ของพรรค ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดแหล่งที่มาไว้ในมาตรา 62 ดังนั้นเงินส่วนใดที่พรรคนำมาใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งไม่มีแหล่งที่มาจากกฎหมายระบุไว้ ย่อมถือว่าเป็น "เงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 62" แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่ได้บัญญัติห้ามการกู้เงินไว้โดยชัดเจน แต่ไม่ได้รับรองว่าให้กระทำได้ ประกอบกับพรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน

จากข้อเท็จจริง พฤติการณ์ และหลักฐานดังกล่าวจึงเห็นว่า "การกู้ยืมเงินของผู้ถูกร้อง จึงมีเจตนาจะหลีกเลี่ยงการบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่น ตามมาตรา 66 เมื่อการรับบริจาคดังกล่าวต้องห้ามตามมาตรา 66 จึงเป็นการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่น อันรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง มาตรา 72 จึงมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 อันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามมาตรา 92 วรรคสอง
21 ก.พ. เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ยุบพรรค “อนาคตใหม่” สู่ \"ก้าวไกล\" บนเส้นทางการเมือง

จากพรรคอนาคตใหม่ - สู่พรรคก้าวไกล ที่ประวัติศาสตร์อาจจะซ้ำรอย

ในวันเดียวกันกับที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านมีคำตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธรและคณะกรรมการบริหารพรรค ได้ตั้งกลุ่มคณะขึ้นมาใหม่โดยให้ชื่อว่า "คณะอนาคตใหม่" และต่อมาในอีกหนึ่งเดือนหลังจากนั้น "คณะอนาคตใหม่" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "คณะก้าวหน้า" เพื่อเลี่ยงข้อกฎหมาย 

ส่วน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งได้รับมอบเข็มกลัดผู้นำพรรคจากนายธนาธร ให้เป็นหัวหน้าพรรคใหม่ ได้นำ สส.ของพรรคอนาคตใหม่ ที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรครวม 55 คน เข้าสังกัดพรรคใหม่ ที่จดทะเบียนกับทาง กกต. ไว้แล้วในวัน 15 มี.ค. 2563 คือ "พรรคก้าวไกล"

ก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่สามัญของพรรค ในช่วงต้นเดือน เม.ย. 2563 เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค นโยบายพรรค และที่ทำการพรรค โดยจะย้ายออกจากอาคารไทยซัมมิท ซึ่งเป็นอดีตที่ทำการของพรรคอนาคตใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดการร้องเรียนได้ในอนาคต รวมถึงเปลี่ยนแปลงชื่อพรรค และตราสัญลักษณ์พรรค มี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค และทำหน้าที่ทางการเมืองอย่างเป็นที่น่าจับตา จนครบวาระของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในปี 2566
21 ก.พ. เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ยุบพรรค “อนาคตใหม่” สู่ \"ก้าวไกล\" บนเส้นทางการเมือง

ทว่าการย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ของ สส.อนาคตใหม่ ก็มี สส. บางส่วนที่ไม่ได้ย้ายตามมาด้วย กลับเลือกที่จะไปเข้าร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้นอย่าง พรรคภูมิใจไทย โดยมี สส. ในขณะนั้นคนหนึ่งอ้างว่า ไม่สามารถร่วมงานกับพิธาได้

นอกจากนี้ หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ ยังมีการประท้วงในประเทศไทยตลอดปี พ.ศ. 2563 ในระยะแรกเกิดการเดินขบวนในมหาวิทยาลัย วิทยาลัยและโรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศ แต่ก็ไม่ได้มีความรุนแรงเกิดขึ้น 

การยุบพรรคอนาคตใหม่ของศาสรัฐธรรมนูญ ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย คือการทำหน้าที่ตรวจสอบในฐานะฝ่ายค้าน อย่างเข้มข้นของพรรคก้าวไกล ก็นำมาสู่ผลการเลือกตั้งในปี 2566 ที่พรรคก้าวไกล สามารถเอาชนะการเลือกตั้ง ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงต้องมาทำหน้าที่เป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้านแทน

และดูเหมือนประวัติศาสตร์ กำลังจะกลับมาซ้ำรอยอีกครั้ง เมื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. จากคำร้องกรณีถือหุ้น iTV ก่อนที่นายพิธา จะสามารถเอาตัวรอดมาได้ กลับเข้าสภาทำหน้าที่ สส. ได้ตามเดิม แม้จะต้องเสียตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกลไปก็ตาม
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล

อย่างไรก็ตาม วิบากกรรมของพรรคก้าวไกล ก็ยังไม่หมดไป จากการถูกร้องประเด็นที่มีการนำนโยบายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาหาเสียง โดยคดีนี้มีผู้ถูกร้อง 2 ราย ประกอบด้วย นายพิธา และพรรคก้าวไกล

ซึ่งคดีนี้ ในวันที่ 31 ม.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า เป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 อีกทั้งการแก้ไขกฎหมายก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติจึงถือเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบ จึงสั่งให้ยุติการกระทำ 

ซึ่งประเด็นดังกล่าว ทำให้ในวันที่ 1 ก.พ. 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิทางการเมือง จากคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 49 แล้ว คำว่าล้มล้างการปกครองฯอยู่ใน พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (1) (2) ที่อาจเป็นปฏิปักษ์

ซึ่งในกรณีนี้ มีพรรคที่เคยโดนยุบพรรคไปแล้วคือ "พรรคไทยรักษาชาติ" ดังนั้นแล้ว ตนจึงยื่นเรื่องขอให้ กกต.นำผลคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาล ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยยุคพรรคก้าวไกล ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (1) (2)

อย่างไรก็ตามคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าว จะผูกพันถึง กกต. ที่ต้องทำตามหน้าที่ เพราะถือเป็นความปรากฏ ส่วนองค์กรที่ 2 คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ถูกร้องเป็น สส. 44 คนว่า ใช้สิทธิและเสรีภาพ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวตนได้เคยยื่นเรื่องไปแล้วเมื่อปี 2564
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

นอกจากนายเรืองไกรแล้ว ยังมี นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของอดีตพระพุทธอิสระ และเป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จนนำมาสู่คำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 นำคำร้องพร้อมเอกสารมายื่นต่อ กกต.เพื่อให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกลเช่นกัน 
นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของอดีตพระพุทธอิสระ  

จากนี้คงต้องรอดูว่า กกต. จะส่งประเด็นดังกล่าว ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคก้าวไกลหรือไม่อย่างไร หากมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณายุบพรรคก้าวไกล ประวัติศาสตร์การยุบพรรค จะกลับมาซ้ำรอยที่ "พรรคก้าวไกล" ที่เป็นภาคต่อของ "พรรคอนาคตใหม่" หรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่การเมืองไทยต้องติดตามกันต่อไป
 

logoline