svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดความอันตราย โรคกระดูกคอเสื่อม-ภาวะเส้นเอ็นไหล่เปื่อย ที่ "ทักษิณ" เป็น

20 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดความอันตราย "โรคกระดูกคอเสื่อม-ภาวะเส้นเอ็นไหล่เปื่อยจนฉีก" ที่ "ทักษิณ" ต้องเผชิญนอกจากลองโควิด รู้ไหมเกิดขึ้นเพราะอะไร แล้วมีความรุนแรงขนาดไหน

เป็นที่ชัดเจนแล้ว สำหรับอาการป่วยของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งได้รับการพักโทษและปล่อยตัวกลับบ้าน กับภาพที่สร้างความแปลกใจและสงสัยต่อผู้ที่พบเห็น กับภาพวินาทีแรกที่นายทักษิณปรากฏตัว ด้วยการใส่เผือกอ่อนที่คอ และใส่ที่พยุงแขน ออกจากโรงพยบาลตำรวจ 

คำถามตัวโต ๆ จากผู้คนในสังคมคือ "นายทักษิณ" ป่วยเป็นอะไร ทำไมถึงนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจนานถึง 180 วัน ตั้งแต่วันที่เดินทางกลับสู่ประเทศไทย เพื่อรับโทษตามกฎหมาย จนถึงวันที่ได้รับการพักโทษ ถูกปล่อยตัวกลับบ้านจันทร์ส่องหล้า ที่จากมานานนับสิบปี โดยที่ไม่ได้จำคุกจริงสักวัน แต่เมื่อถึงวันจะได้กลับบ้าน จากภาพการใส่สูทลงจากเครื่องบินกลับ กลายเป็นภาพการใส่เผือกอ่อนที่คอ และใส่ที่พยุงแขนแทน
ภาพนาทีนายทักษิณเดินทางออกจากโรงพยาบาลตำรวจ
 

และแล้วในที่สุด สิ่งที่สังคมสงสัยมานาน ก็ได้รับคำชี้แจงจาก นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาเปิดเผยว่า จากการสอบถามกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อาการป่วยของนายทักษิณ ผู้เป็นพ่อ พบว่า นายทักษิณมีอาการป่วย สืบเนื่องตั้งแต่ก่อนที่จะกลับประเทศไทย คือมีการป่วยด้วยโควิด-19 ถึง 3 รอบ

รอบแรกติดเชื้ออู่ฮั่น อาการหนักถึงขั้นเข้าไอซียูเป็นเดือน ปอดจึงไม่สามารถใช้งานได้ 100% เหมือนบุคคลทั่วไป จากนั้นได้ป่วยโควิดอีก 2 รอบ ทำให้นายทักษิณ มีอาการลองโควิดเยอะมาก เนื่องจากมีอายุถึง 70 กว่าปีแล้ว

ส่วนที่ต้องดามคอ เพราะ อาการโรคกระดูกคอเสื่อม ทางโรงพยาบาลแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัด เป็นไปตามวัย แต่นายทักษิณ ขอออกมาก่อน แล้วค่อยกลับเข้าไปรักษาตัวอีกครั้ง และที่ต้องคล้องแขนออกมานั้น เนื่องจาก โรคเส้นเอ็นเปื่อยยุ่ย ต้องได้รับการกายภาพไม่ต่ำกว่า 1 ปี จึงจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ โรคเหล่านี้เกิดกับผู้สูงอายุ  
เปิดความอันตราย โรคกระดูกคอเสื่อม-ภาวะเส้นเอ็นไหล่เปื่อย ที่ \"ทักษิณ\" เป็น

 

ภายหลังได้รับคำชี้แจงอาการป่วยดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นที่เข้าใจของสังคมได้ โดยเฉพาะอาการลองโควิด กับผู้สูงอายุ ซึ่งมีความอันตรายอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ แต่บางส่วนยังคงสงสัยว่า แล้ว โรคกระดูกคอเสื่อม กับ โรคเส้นเอ็นเปื่อยยุ่ย นั้นอันตรายตรงไหน 

เปิดความน่ากลัว โรคกระดูกคอเสื่อม กับ โรคเส้นเอ็นเปื่อยยุ่ย

สำหรับอาการ โรคกระดูกคอเสื่อม อันตรายแค่ไหนนั้น นพ.สิทธิพงษ์ สุทธิอุดม ประสาทศัลยศาสตร์ ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธน เขียนบทความ “กระดูกคอเสื่อมไม่ใช่เรื่องเล็ก อาการปวดคอระดับไหนอันตราย” ให้ข้อมูลไว้ว่า

โรคกระดูกคอเสื่อม เริ่มจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูก ซึ่งเกิดขึ้นแบบช้า ๆ กินเวลาหลายปี ระหว่างนั้นจะมีอาการปวดคอ ต่อมาจะมีกระดูกงอก มีการหนาตัวของเส้นเอ็น ซึ่งจะทำให้ช่องกระดูกสันหลังแคบลง และอาจไปกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง ทำให้เกิดอาการปวดคอร้าวลงแขน มักปวดหลังคอบริเวณ 2 ข้างของกระดูกสันหลัง อาจปวดร้าวขึ้นไปถึงท้ายทอย หรือลงมาบริเวณสะบัก และปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือออกแรง โดยภาวะกระดูกคอเสื่อม จะแสดงอาการมากน้อยแตกต่างไปในแต่ละบุคคล โดยมีปัจจัยต่าง ๆ ประกอบกัน เช่น น้ำหนักตัว พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ภาวะที่มีการสึกกร่อนและฉีกขาดของกระดูกสันหลังส่วนคอเอง เป็นต้น

อาการกระดูกคอเสื่อมระดับไหนอันตราย

โรคกระดูกคอเสื่อม หากมีอาการและปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี อาจทำให้เกิดความรุนแรงของโรค และจะลุกลามจนกระทั่งเดินไม่ได้เลยทีเดียว โรคกระดูกคอเสื่อมแบ่งออกเป็น 3 ระดับอาการ ดังนี้

1.กระดูกคอเสื่อมแต่ไม่กดทับเส้นประสาทและไขสันหลัง จะมีอาการปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ บ่าและไหล่
2.กระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาทคอ จะมีอาการปวดร้าวไปตามบริเวณที่เส้นประสาทถูกกด อาการนี้มักจะเป็นๆ หายๆ แบบเรื้อรัง ร่วมกับอาการชาและอ่อนแรงบริเวณกล้ามเนื้อต้นแขนหรือมือ รวมทั้งปวดร้าวจากคอลงไปที่แขนท่อนล่าง จนถึงนิ้วโป้งและนิ้วชี้
3.กระดูกคอเสื่อมกดทับไขสันหลัง จะมีอาการปวดเกร็งบริเวณลำตัว แขนและขา ปวดหลังคอร้าวไปด้านหลังของไหล่ ไปหลังแขนตรงกล้ามเนื้อเหยียดแขน และอาจปวดร้าวไปถึงด้านหลังของแขนท่อนล่าง จนถึงนิ้วกลาง ก้าวขาได้สั้นลง การทรงและการใช้งานมือลำบาก

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าอาการปวด อาจต้องใช้เวลากว่าอาการจะทุเลาลง แต่บางครั้งก็อาจมีอาการ ที่เป็นสัญญาณเตือนว่าควรรีบพบแพทย์ทันที ได้แก่

  • อาการปวดไม่ทุเลาลงภายใน 2-3 วัน หรือมีอาการมากขึ้นจนไม่สามารถทนได้จนรบกวนกิจวัตรประจำวัน (ลุก นั่ง ยืน เดิน)
  • มีอาการปวดรุนแรง ปวดรุนแรงแบบฉับพลัน แบบไม่ปกติ
  • อาการปวดไม่หายขาดมานานกว่า 3 เดือน
  • อาการปวดคอร่วมกับ อาการปวดร้าวลงแขน แขนชาหรืออ่อนแรง
  • มีปัญหาในการเดิน เช่น ทรงตัวได้ไม่ดี เดินลำบาก ขาเกร็งแข็ง
  • มีปัญหาในการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ

ส่วน การรักษาโรคกระดูกคอเสื่อม ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยเบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบริหารกล้ามเนื้อ และปรับกิจวัตรประจำวัน แต่หากอาการรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก แพทย์อาจรักษาโดยใช้วิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การใช้ยา การทำกายภาพบำบัด การลดอาการปวดด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาท แต่หากอาการไม่ดีขึ้น หรือในรายที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดกระดูกคอ เพื่อป้องกันความเสียหายของเส้นประสาทอย่างถาวร ได้แก่

– การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนคอ เป็นการผ่าตัดเพื่อคลายการกดทับของเส้นประสาทและไขสันหลังโดยการเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนคอเข้าหากัน แพทย์จะให้การรักษาด้วยวิธีนี้ในกรณีเมื่อมีการกดทับเส้นประสาท หรือไขสันหลัง หรือเมื่อมีอาการปวดเรื้อรังจากภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม

– การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียมบริเวณคอ เป็นการผ่าตัดที่นำหมอนรองกระดูกบริเวณส่วนคอ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดออก และนำหมอนรองกระดูกเทียมใส่เข้าไปแทนที่ นอกจากนี้ศัลยแพทย์สามารถตัดกระดูกส่วนที่งอกออกมา และขยายพื้นที่บริเวณหมอนรองกระดูกสันหลังซึ่งจะช่วยลดการกดทับของเส้นประสาทและรากประสาท จะพิจารณาการผ่าตัดเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดคอรุนแรงหรืออาการชา และ/หรือมีอาการอ่อนแรงอย่างชัดเจน

– การผ่าตัดกระดูกส่วนที่กดทับเส้นประสาทผ่านกล้องเอ็นโดสโคป เป็นการผ่าตัดนำเฉพาะกระดูกสันหลังส่วนคอ ส่วนที่มีการกดทับเส้นประสาทออกผ่านกล้องเอ็นโดสโคป โดยเปิดแผลขนาดเพียง 8 มิลลิเมตร ทำให้แผลผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนคอมีขนาดเล็กลงมาก ลดอาการบาดเจ็บ ลดระยะเวลาในการพักฟื้น สามารถคืนคุณภาพชีวิตเดิมให้ผู้ป่วยได้ในเร็ววัน

หากสงสัยว่าตนเองอาจมีภาวะกระดูกคอเสื่อม หรือมีอาการผิดปกติดังข้างต้น ควรรีบรับการวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังโดยเฉพาะ และหากพบว่าเป็นโรคกระดูกคอเสื่อม จะได้วางแผนการรักษาอย่างถูกวิธี
เปิดความอันตราย โรคกระดูกคอเสื่อม-ภาวะเส้นเอ็นไหล่เปื่อย ที่ \"ทักษิณ\" เป็น  

ส่วนภาวะ "โรคเส้นเอ็นเปื่อยยุ่ย" นั้น นพ.ประกาศิต ชนะสิทธิ์ ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์/เวชศาสตร์การกีฬา ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนครธน ได้ให้ข้อมูลไว้ผ่านบทความเรื่อง “ภาวะเส้นเอ็นไหล่เสื่อม เปื่อยจนฉีกขาด ปล่อยเรื้อรังเสี่ยงข้อหัวไหล่เสื่อม” ไว้ว่า

เส้นเอ็นไหล่ คือ เส้นเอ็นขนาดเล็ก 4 เส้นที่อยู่บริเวณรอบข้อไหล่ โดยเส้นเอ็นกลุ่มนี้เป็นส่วนที่ต่อเนื่องมาจากกล้ามเนื้อสะบักทอดผ่านข้อไหล่และยึดเกาะส่วนบนของกระดูกต้นแขน ทำหน้าที่ช่วยในการขยับไหล่ เช่น กางแขน ยกแขน หมุนไหล่ เป็นต้น

หากมีความปกติเกิดขึ้น หรือเกิดการอักเสบรอบนอกของข้อ ซึ่งมีเอ็น ปลอกเอ็น ถุงน้ำกันเสียดสีและกล้ามเนื้อและเอ็นหุ้มข้อเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดเส้นเอ็นไหล่เสื่อม เปื่อย จนฉีกขาดได้

สาเหตุภาวะเส้นเอ็นไหล่เสื่อม

1.เส้นเอ็นไหล่เสื่อมตามอายุการใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพบในผู้สูงอายุที่เคยใช้งานข้อไหล่หนักมาก่อน
2.การใช้ข้อไหล่อย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้อข้อไหล่ฉีกขาด
3.กระดูกงอกที่ข้อไหล่กดทับเส้นเอ็นไหล่
4.ภาวะหินปูนเกาะที่กระดูกคลุมหัวไหล่ หรือลักษณะของปุ่มกระดูกคลุมหัวไหล่กดจิกเส้นเอ็นไหล่ ทำให้เกิดการเสียดสี และเมื่อเกิดการเสียดสีบ่อยๆ ทำให้เนื้อเอ็นเกิดอาการเปื่อย เสื่อม จนฉีกขาดของเส้นเอ็นรอบข้อหัวไหล่ได้
5.เกิดจากคุณภาพของเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงเส้นเอ็นไหล่ลดลง สาเหตุมาจากการสูบบุหรี่หรือโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ซึ่งทำให้เอ็นหัวไหล่บาดเจ็บได้ง่าย แต่การสมานตัวเองหลังการบาดเจ็บทำได้ไม่ดี เกิดภาวะเสื่อม หรือฉีดขาดได้ง่าย

อาการเส้นเอ็นไหล่เสื่อม

– มีอาการปวดไหล่เป็นๆ หายๆ และอาจเรื้อรัง
– มีอาการปวดร้าวลงมาที่แขนหรือปวดตอนเวลากลางคืนร่วมด้วย
– มีอาการขัด ขยับไหล่ลำบากหรือบวมบริเวณไหล่
– อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้น อย่างช้าๆ
– มีอาการปวดเมื่อมีการใช้หัวไหล่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกไหล่เหนือศีรษะ
– อาการปวดทำให้การขยับข้อหัวไหล่ลดลง หรืออาจจะมีอาการอ่อนแรงยกไหล่ไม่ขึ้น ในรายที่มีเส้นเอ็นไหล่เสื่อม เปื่อย จนฉีกขาดของเส้นเอ็นทั้งหมด อาจจะพบมีกล้ามเนื้อรอบๆ หัวไหล่และสะบักลีบเล็กลงได้

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นภาวะเส้นเอ็นไหล่เสื่อม

แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้จากการซักถามอาการและการตรวจร่างกาย เพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เช่น กิจกรรมที่ทำก่อนจะมีอาการ ลักษณะของอาการปวด ความถี่และระยะเวลาที่เกิดอาการ โดยอาจไม่จำเป็นต้องตรวจพิเศษด้วยภาพถ่ายเอกซเรย์ ยกเว้นในกรณีที่แพทย์สงสัยว่ามีกระดูกงอกบริเวณใกล้เคียงกับเส้นเอ็นไหล่ หรือมีหินปูนเกาะไหล่ และทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างกับเส้นเอ็น

หรือสงสัยการมีโรคหรือภาวะอื่นๆ ของกระดูกและข้อไหล่ มีอาการปวดเรื้อรัง รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือสงสัยว่ามีการฉีกขาดของเส้นเอ็นข้อไหล่ร่วมด้วย ซึ่งอาจต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติมด้วยการตรวจภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ข้อมูลจาก : https://www.nakornthon.com/ 
กระดูกคอเสื่อมไม่ใช่เรื่องเล็ก อาการปวดคอระดับไหนอันตราย
ภาวะเส้นเอ็นไหล่เสื่อม เปื่อยจนฉีกขาด ปล่อยเรื้อรังเสี่ยงข้อหัวไหล่เสื่อม

logoline