ยังคงวิกฤตอย่างต่อเนื่อง สำหรับปัญหา ฝุ่นพิษ PM2.5 ที่ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทย อยู่ในขั้นสาหัส ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร หรือเชียงใหม่ ที่มีคุณภาพอากาศเป็นมลพิษติดอันดับโลก และสถานการณ์ยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้น เมื่อศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ ได้มีการคาดการณ์ว่า ฝุ่นละออง 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 16 - 22 กุมภาพันธ์ 2567 ทุกภาคของประเทศไทยยกเว้นภาคใต้ จะมีแนวโน้มของฝุ่นละอองเพิ่มมากขึ้น
สำหรับสาเหตุของการเกิดฝุ่นละออง PM2.5 นอกจากสภาพอากาศตามฤดูกาล ยังเกิดจากการเผาไหม้ตามธรรมชาติ โดยเฉพาะจากฝีมือของมนุษย์ ซึ่งจากการตรวจสอบจากดาวเทียมพบว่า ทั้งในส่วนประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน มีจุดความร้อนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ทำให้สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในประเทศไทยวิกฤตอย่างหนัก จนสังคมเกิดคำถามว่า เมื่อไหร่ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จะร่วมมือกันแก้ปัญหาฝุ่นละออง และหมอกควันข้ามพรมแดนอย่างจริงจังเสียที
ล่าสุด ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ได้ออกมาเปิดเผยว่า ตามที่มีข้อมูลออกมาในเรื่องกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกัมพูชา จัดตั้ง Hotline แก้ปัญหาฝุ่นหมอกควันข้ามพรมแดน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ร่วมกับกองประมวลและวิเคราะห์ข่าว กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ พบว่า ข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลจริง
โดยนายกรัฐมนตรีไทย และนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้หารือเกี่ยวกับเรื่องแก้ปัญหาฝุ่นหมอกควัน ในระหว่างที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชามาเยือนไทย เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 ซึ่งทั้งสองฝ่ายพร้อมร่วมมือแก้ไขปัญหา PM2.5 และให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และการมีอากาศที่สะอาดอย่างยั่งยืน ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันในการจัดตั้ง Hotline และคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมของกัมพูชา เพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตามข้อเสนอของฝ่ายไทย
อีกทั้งกระทรวงการต่างประเทศพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือต่าง ๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลจุดความร้อน และการพัฒนาศักยภาพเครื่องมือและอุปกรณ์ การดับเพลิงและการจัดการด้านการเกษตร รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูล hotspot ต่าง ๆ ภายหลังการสนทนาทางไกล โดยฝ่ายกัมพูชาเห็นด้วยกับเรื่องความสำคัญของการแลกเปลี่ยนข้อมูล และแสดงความพร้อมที่จะแบ่งปันข้อมูลรายวันและแต่งตั้งผู้ประสานงานในเรื่องนี้
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจากกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สามารถติดตามได้ที่ www.mfa.go.th หรือ โทร. 02-203-5000
"จิสด้า" เผยจุดความร้อนไทย พุ่ง 1,870 จุด
ขณะที่วันนี้ (16 ก.พ. 67) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) และจากดาวเทียมอีกหลายดวง เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ไทยพบจุดความร้อนทั้งประเทศ 1,870 จุด ซึ่งข้อมูลจากดาวเทียมยังระบุอีกว่า จุดความร้อนที่พบส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 648 จุด ตามด้วยป่าสงวนแห่งชาติ 519 จุด พื้นที่เกษตร 265 จุด แหล่งชุมชนและอื่นๆ 225 จุด พื้นที่เขต สปก. 197 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 16 จุด สำหรับจังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี 352 จุด
ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านพบจุดความร้อนมากสุดอยู่ที่กัมพูชา 2,348 จุด ตามด้วย พม่า 1,395 จุด ลาว 1,064 จุด และเวียดนาม 575 จุด อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ ประะชาชนสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรง GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่
นอกจากนี้ ค่าฝุ่น PM 2.5 เช้าวันนี้ 12 จังหวัดพบค่าฝุ่นมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, กรมควบคุมมลพิษ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น”
เมื่อเวลา 09.00 น. ของวันที่ 16 ก.พ.2567 พบ 12 จังหวัด ในของประเทศไทยมีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดงมีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ พบมากสุดอยู่ที่ จ.ชัยนาท 94.4 ไมโครกรัม ตามด้วย จ.สุโขทัย 91.5 ไมโครกรัม จ.พิษณุโลก 87.4 ไมโครกรัม จ.นครสวรรค์ 83.6 ไมโครกรัม .จ.พิจิตร 83.1 ไมโครกรัม 9.ลำพูน 83.1 ไมโครกรัม จ.กำแพงเพชร 82.0 ไมโครกรัม 9.เพชรบูรณ์ 81.4 ไมโครกรัม
จ.สิงห์บุรี 79.5 ไมโครกรัม จ.เลย 77.8 ไมโครกรัม จ.อุทัยธานี 76.8 ไมโครกรัม และ จ.อุตรดิตถ์ 75.5 ไมโครกรัม และยังคงพบค่าคุณภาพอากาศที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ในอีก 28 จังหวัดของประเทศ สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครพบค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในเกณฑ์คุณภาพอากาศ ปานกลางไปจนถึงดี