svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

14 กุมภาพันธ์ "วันราชภัฏ" ย้อนอดีต 132 ปี จากโรงเรียนฝึกหัดครู สู่ มหาวิทยาลัย

13 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

14 กุมภาพันธ์ 2567 ครบรอบ 32 ปี "วันราชภัฏ" พาย้อนประวัติศาสตร์อันยาวนาน 132 ปี จากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ สู่วิทยาลัยครู กระทั่งเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ในทุกวันนี้

วันราชภัฏ คืออะไร?
ทุกวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันราชภัฏ” สืบเนื่องจากเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม "สถาบันราชภัฏ" แก่วิทยาลัยครูทั่วประเทศ ซึ่งชาวราชภัฏ ถือเป็นการสถาปนามหาวิทยาลัยราชภัฏ

คำว่า “ราชภัฏ” ให้ความหมายที่กินใจความว่า “คนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน”

หากตีความตามความรู้สึกยิ่งกินใจและตีความได้กว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีกนั่นก็คือ “การถวายงานประดุจข้าราชบริพารที่รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทที่ต้องถวายงานอย่างสุดความสามารถ สุดชีวิต และสุดจิตสุดใจ” 

ชาวราชภัฏ มองการเป็นคนของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ย่อมเป็นข้าของแผ่นดินอีกด้วย เนื่องจากว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทผู้เป็นมิ่งขวัญของพวกเราชาวราชภัฏ ทรงเป็นแบบอย่างการทรงงานเพื่อบ้านเมือง และแผ่นดินอย่างที่มิเคยทรงหยุดพักแม้เพียงนิด แม้ยามที่ทรงประชวรก็ไม่เคยหยุดทรงงาน เพื่อความสุขของปวงชนชาวสยามของพระองค์นั้นเองด้วยเ หตุผลเหล่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจึงได้

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร พระราชทานพระราชลัญจกร อันเป็นเครื่องประกอบพระราชอิศริยยศ พระราชอิศริยศักดิ์ ลงมาเป็นตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏ ประหนึ่งเครื่องเตือนความทรงจำว่าพวกเราชาวราชภัฏคือ “คนของพระราชา และข้าของแผ่นดิน”

ใน วันราชภัฎ ทุก ๆ มหาวิทยาลัยราชภัฎทั่วประเทศ จะจัดกรรมต่างๆ ขึ้น อาทิ การทำบุญตักบาตร การจัดนิทรรศการ การเสวนาทางวิชาการ และการมอบรางวัลต่างๆ เป็นต้น 
14 กุมภาพันธ์ \"วันราชภัฏ\" ย้อนอดีต 132 ปี จากโรงเรียนฝึกหัดครู สู่ มหาวิทยาลัย

สัญลักษณ์ประจำ มหาวิทยาลัยราชภัฏ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนาม "ราชภัฏ" และตราประจำมหาวิทยาลัย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเกียรติยศสูงสุดแก่ชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วพระราชอาณาจักร โดยนาม “ราชภัฏ หมายความว่า เป็นคนของพระราชา”

ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏ พิจารณาจากดวงตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 เพื่อกำหนดรูปแบบสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยราชภัฏ และได้รับพระราชทานมาเป็นตราประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วพระราชอาณาจักร ซึ่งมีรายละเอียด ตราประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏ ดังนี้

  1. เป็นรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ให้กำเนิดสถาบัน
  2. เป็นรูปแบบที่เป็นกลาง เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นที่ตั้ง ธรรมชาติ และความสอดคล้องกับชื่อมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ได้รับพระราชทาน
  3. สีของตราประจำมหาวิทยาลัย มี 5 สี โดยมีความหมาย ดังนี้
  • สีน้ำเงิน แทนค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ให้กำเนิด และพระราชทานนาม “มหาวิทยาลัยราชภัฏ”
  • สีเขียว แทนค่าแหล่งที่ตั้งในแหล่งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม
  • สีทอง แทนค่าความเจริญรุ่งเรืองทางภูมิปัญญา
  • สีส้ม แทนค่าความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
  • สีขาว แทนค่าความคิดอันบริสุทธิ์ของนักปราชญ์แห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ตราสัญลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

ย้อนที่มาก่อนเป็น "ราชภัฏ"
มหาวิทยาลัยราชภัฏ (Rajabhat University) อักษรย่อ : RU เป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยที่พัฒนามาจาก โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ที่ตั้งอยู่ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของประเทศ

โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยครู หลังจากนั้น ได้รับพระราชทานนาม "ราชภัฏ" จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้เป็นชื่อประจำสถาบัน พร้อมทั้งพระราชทาน พระราชลัญจกรเป็นตราประจำมหาวิทยาลัย โดยในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏ มีอยู่ทั้งสิ้น 38 แห่ง ทั่วประเทศ
14 กุมภาพันธ์ \"วันราชภัฏ\" ย้อนอดีต 132 ปี จากโรงเรียนฝึกหัดครู สู่ มหาวิทยาลัย
ไทม์ไลน์ ราชภัฏ เริ่มจาก โรงเรียนฝึกหัด
มหาวิทยาลัยราชภัฏ มีพัฒนามาจาก "โรงเรียนฝึกหัด" เช่น โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์, โรงเรียนฝึกหัดครูประจำมณฑล การก่อเกิด "โรงเรียนฝึกหัด" มีไทม์ไลน์และประวัติ ดังนี้

  • วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2435 โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์แห่งแรก ตั้งขึ้นและเปิดสอนบริเวณโรงเลี้ยงเด็ก ตำบลสวนมะลิ ถนนบำรุงเมือง จังหวัดพระนคร ซึ่งปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร หลังจากนั้น จึงได้ขยายไปตั้งอยู่ทุกภาคของประเทศ
  • ต่อมาได้เริ่มจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูขึ้นใน มณฑลนครราชสีมา ชื่อ โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลนครราชสีมา เมื่อราวปี พ.ศ. 2457 ต่อมาก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมมณฑลนครราชสีมา” ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
  • ในปี พ.ศ. 2462  ได้จัดตั้ง "โรงเรียนฝึกหัดครูมณฑล" ขึ้น เพื่อผลิตครูที่สอนในระดับประถมศึกษา ผู้สำเร็จการศึกษา เรียกว่า "ครูประกาศนียบัตรมณฑล"
  • ต่อมา “โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมมณฑลอุดร” เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 ซึ่งตั้งขึ้นบริเวณสโมสรเสือป่ามณฑลอุดร อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี 
  • "โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑลพายัพ" เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2466 ณ บ้านเวียงบัว ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 
  • ในปี พ.ศ. 2468 ธรรมการมณฑล ได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประจำมณฑลขึ้นโดยเฉพาะ เรียกว่า "โรงเรียนฝึกหัดครูมูลประจำมณฑลนครศรีธรรมราช" ซึ่งปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา 
  • เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2469 "โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรม" ตั้งอยู่ที่ ตำบลอู่เรือ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เปิดเรียนครั้งแรก ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี 
  • ขณะที่ “โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์” เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2475 สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ประทานอาคารพร้อมที่ดินประมาณ 4 ไร่ บริเวณถนนเพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน คือ ศูนย์กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

สำหรับ “โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยม” เป็นโรงเรียนที่เปิดสอนในระดับฝึกหัดครูมัธยม รับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนฝึกหัดครูประถม (ป.ป.) และนักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยม ปีที่ 8 มาศึกษาต่อเพื่อเลื่อนฐานะจากครู ป.ป. ให้สูงขึ้นไปสู่ครู ป.ม. ก่อตั้งวันที่ 9 กันยายน 2483 ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

หลักจากมีการยกเลิกการปกครองแบบมณฑลแล้ว ทำให้โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑล เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตร จังหวัด" และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "โรงเรียนฝึกหัดครู(ต่อท้ายด้วยจังหวัดที่ตั้ง)" พร้อมขยายการก่อตั้งโรงเรียนออกไปยังภูมิภาคมากขึ้น
14 กุมภาพันธ์ \"วันราชภัฏ\" ย้อนอดีต 132 ปี จากโรงเรียนฝึกหัดครู สู่ มหาวิทยาลัย
ก้าวเข้าสู่ยุค "วิทยาลัยครู"
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศยกฐานะ โรงเรียนฝึกหัดครู เป็น "วิทยาลัยครู"  พร้อมกับเปิดสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ. สูง) และหลักสูตรปริญญาตรีของสภาการฝึกหัดครู โดยกำหนดในพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ 2518 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 

ทั้งนี้ วิทยาลัยครู เป็นสถาบันอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนนักศึกษาถึงระดับปริญญาตรีในสาขาครุศาสตร์ หลักสูตรของสภาการฝึกหัดครู โดยมีวิทยาลัยครู จำนวน 17 แห่ง ได้แก่

  1. วิทยาลัยครูจันทรเกษม กรุงเทพมหานคร
  2. วิทยาลัยครูเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
  3. วิทยาลัยครูเทพสตรี จังหวัดลพบุรี
  4. วิทยาลัยครูนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
  5. วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
  6. วิทยาลัยครูนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์
  7. วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร
  8. วิทยาลัยครูพระนคร กรุงเทพมหานคร
  9. วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  10. วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก
  11. วิทยาลัยครูมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
  12. วิทยาลัยครูยะลา จังหวัดยะลา
  13. วิทยาลัยครูสงขลา จังหวัดสงขลา
  14. วิทยาลัยครูสวนดุสิต กรุงเทพมหานคร
  15. วิทยาลัยครูสวนสุนันทา กรุงเทพมหานคร
  16. วิทยาลัยครูอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
  17. วิทยาลัยครูอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

วิทยาลัยครูเพชรบุรี ภาพ-สมบูรณ์ แก่นตะเคียน
พระราชทานชื่อ "สถาบันราชภัฏ"

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ “สถาบันราชภัฏ” ให้กับวิทยาลัยครูทั่วประเทศ จึงมีผลทำให้วิทยาลัยครู เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นสถาบันราชภัฏตั้งบัดนั้น 

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวราชภัฏเป็นล้นพ้นด้วยทรงพระเมตตา ทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ พระราชทานพระราชลัญจกรประจำพระองค์ให้เป็น “สัญลักษณ์ประจำสถาบันราชภัฏ” นับเป็นมหาสิริมงคลอันควรที่ชาวราชภัฏทั้งมวลจักได้ภาคภูมิใจ 

ชาวราชภัฏ พร้อมใจกันปฏิบัติหน้าที่สนองพระมหากรุณาธิคุณให้เต็มความสามารถในอันที่จะพัฒนาสถาบันราชภัฏให้เป็น สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนา ท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุง ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู และทำให้สถาบันราชภัฏ เปิดทำการสอนในาขาวิชาอื่นๆ นอกจากสาขาการศึกษาตั้งแต่นั้นมา

ในเวลาต่อมา นายสุขวิช รังสิตพลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้อนุมัติให้จัดตั้ง สถาบันราชภัฏ เพิ่มขึ้นจำนวน 5 แห่ง ตามโครงการ 1 ใน 5 โครงการสถาบันราชภัฏเพิ่มในระยะแรก โดยได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการและกระจายโอกาสทางการศึกษาของประชากรในระดับภูมิภาค ได้แก่

  • สถาบันราชภัฏชัยภูมิ
  • สถาบันราชภัฏศรีสะเกษ
  • สถาบันราชภัฏนครพนม 
  • สถาบันราชภัฏกาฬสินธุ์ (ปัจจุบันเป็น มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์)
  • สถาบันราชภัฏร้อยเอ็ด

ยกระดับ "มหาวิทยาลัยราชภัฏ" เพื่อพัฒนาท้องถิ่น
วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ส่งผลให้ "สถาบันราชภัฏ" ทั่วประเทศ ได้รับการยกฐานะและปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา และมีภารกิจและปณิธานตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ 

พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 มาตรา 7 ระบุว่า

“ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้ เชิดชูภูมิปัญญาของท้องถิ่น สร้างสรรค์ ศิลปวิทยา เพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชน มีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล และยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน วิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุง ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุง ศิลปะและวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู”

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ทั้ง 38 แห่ง แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มภาคใต้ จำนวน 5 แห่ง

  • มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช (มร.นศ.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต (มรภ.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สข.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (มรย.)

กลุ่มภาคกลาง จำนวน 9 แห่ง

  • มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา (มร.อย.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี (มร.รพ.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ (มรร.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี (มรท.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (มรว.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี (มรภ.พบ.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี (มรภ.กจ.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม (มรน.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง (มร.มจ.)

กลุ่มรัตนโกสินทร์ จำนวน 5 แห่ง

  • มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม (มจษ.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร (มรภ.พระนคร)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี (มรธ.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.)

กลุ่มภาคเหนือ จำนวน 8 แห่ง

  • มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (มร.ชม.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง (มร.ลป.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (มรอ.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (มรพส.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร (มรภ.กพ.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ (มร.นว.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ (มรภ.พช.)

กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 11 แห่ง

  • มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (มร.อด.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรม.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย (มรล.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร (มร.สน.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มรนม.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ (มรภ.บร.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ (มรภ.สร.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี (มรภ.อบ.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ (มชย.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด (มรภ.รอ.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (มรภ.ศก.)

14 กุมภาพันธ์ \"วันราชภัฏ\" ย้อนอดีต 132 ปี จากโรงเรียนฝึกหัดครู สู่ มหาวิทยาลัย
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

logoline