svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

บทสรุป 5 ตำรวจ ตม. อุ้มรีดนักธุรกิจชาวจีน ศาลสั่งจำคุกอ่วม คนละ 15 ปี

12 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภายหลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุก 5 อดีตตำรวจ ตม. คนละ 15 ปี คดีอุ้มรีดเงิน 10 ล้านบาท นักธุรกิจชาวจีน และสั่งจำคุกคนชี้เป้า เป็นเวลา 10 ปี "Nation STORY" จะพาไปย้อนเรื่องราวอื้อฉาววงการตำรวจไทย และบทสรุปของเรื่องราวที่เกิดขึ้น

คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2566 น.ส.นามี หญิงชาวไทย อาชีพล่ามแปลภาษาจีน เข้าแจ้งความกับตำรวจ สน.ดินแดง ว่า ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์คล้ายตำรวจ 5-6 คน อุ้มตัวขึ้นรถจากซอยประชาสงเคราะห์ 2 ไปรีดค่าไถ่ หลังจากเดินทางกลับจากศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เพื่อเป็นล่ามให้กับนายฉี (ชาวจีน) ทำธุรกรรมด้านการต่ออายุหนังสือเดินทาง และวีซ่า แต่ไม่สามารถทำธุรกรรมได้ เพราะเอกสารผิดปกติ

น.ส.นามี บอกว่า รู้สึกเอะใจจึงขอเดินทางกลับที่พัก โดยมีเพื่อนของนายฉี ขับรถมาส่ง ระหว่างที่กำลังจะเดินลงจากรถเข้าบ้านในซอยประชาสงเคราะห์ 2 มีกลุ่มชายฉกรรจ์คล้ายตำรวจ เข้ามาประกบ ก่อนอุ้มตนเองและนายฉี ขึ้นรถไปคนละคัน โดยมีรถขับตามขบวนทั้งหมด 4 คัน ระหว่างที่อยู่บนรถชายฉกรรจ์พยายามเค้นถามว่าตนรู้จักนายฉี ได้อย่างไร ซึ่งตนบอกว่ารู้จักมา 1 ปี ในฐานะล่ามแปลภาษา จากนั้นกลุ่มชายฉกรรจ์ ได้พาขับรถวนอยู่บนถนนเส้นแจ้งวัฒนะ ประมาณ 4-5 ชั่วโมง ก่อนพากลับมาปล่อยที่ซอยประชาสงเคราะห์ 2

บทสรุป 5 ตำรวจ ตม. อุ้มรีดนักธุรกิจชาวจีน ศาลสั่งจำคุกอ่วม คนละ 15 ปี

หลังเกิดเหตุนายฉี ยอมรับกับ น.ส.นามี ว่า มาอยู่ในประเทศไทย โดยการแนะนำจากเพื่อนชาวจีนให้สวมบัตรประชาชนคนไทย ก่อนเกิดเหตุเพื่อนโทรศัพท์มาบอกว่า วีซ่ากับหนังสือเดินทางมีปัญหาใกล้หมดอายุ จึงเดินทางไปทำด้วยกันที่หน่วยงานรับผิดชอบ ก่อนถูกอุ้มขึ้นรถไปรีดค่าไถ่ดังกล่าว

ทั้งนี้ นายฉี ยังบอกด้วยว่า ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่บนรถ มีชายฉกรรจ์อ้างตัวเป็นตำรวจข่มขู่ว่า นายฉี จะต้องรับโทษฐานปลอมแปลงบัตรประชาชน จึงขอเรียกค่าไถ่ เป็นเงินคริปโตฯ จำนวน 10 ล้านบาท เพื่อแลกอิสรภาพ ซึ่งนายฉี บอกให้คนร้ายเจรจากับบุตรชาย ที่อยู่ในประเทศจีน และมีการโอนเงินให้ผ่านแอปพลิเคชัน imtoken หลังจากนั้นตนไม่สามารถติดต่อนายฉีได้อีก จนมาทราบภายหลังว่านายฉี ได้เดินทางกลับจีนไปแล้ว ทำให้ตนเองรู้สึกหวาดระแวงจะไม่ปลอดภัย จึงตัดสินใจเข้าแจ้งความกับตำรวจ

ต่อมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เข้ามาควบคุมดูแลคดีนี้ด้วยตนเอง จนทราบตัวกลุ่มผู้กระทำผิดเป็นตำรวจ ตม. สังกัดกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 จำนวน 5 นาย และพลเรือนอีก 1 ราย ซึ่งทำหน้าที่ชี้เป้า มีการออกหมายจับและจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมดไว้ได้ ส่วนตำรวจทั้ง 5 นาย ทาง ผบ.ตร. สั่งไล่ออกจากราชการ

บทสรุป 5 ตำรวจ ตม. อุ้มรีดนักธุรกิจชาวจีน ศาลสั่งจำคุกอ่วม คนละ 15 ปี

สำหรับคดีแก๊งตำรวจปฏิเสธในชั้นสอบสวน ก่อนถูกคุมตัวฝากขังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณา จำนวน 8 นัด รวมระยะเวลานับตั้งแต่วันฟ้องถึงวันอ่านคำพิพากษา เป็นเวลา 7 เดือน 30 วัน จนล่าสุดวันนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2567) ศาลมีคำตัดสินดังนี้

อัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า จําเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจ สังกัดกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 (บก.ตม.1 ) ควบคุมตัวผู้เสียหายชาวจีนทั้งสองขึ้นรถยนต์เป็นพาหนะ ไปที่ทำการกองบังคับ การตรวจคนเข้าเมือง 1 บริเวณศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ แล้วไม่นำตัวผู้เสียหายเข้าสำนักงานฯ แต่กลับขับรถพา ผู้เสียหายทั้งสองวนไปสถานที่ต่าง ๆ และเจรจาต่อรองเรียกเงินจากผู้เสียหายที่ 1 เพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดี แก่ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวมีบัตรประจำตัวประชาชนคนไทยโดยมิชอบ จําเลยที่ 5 ไม่ได้เป็น เจ้าพนักงานแต่เป็นผู้ร่วมวางแผนและนัดหมายผู้เสียหายให้ไปพบ เพื่อให้จําเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จับกุม และเรียกรับเงิน ขอให้ลงโทษจําเลยทั้งหก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 26, 149, 253, 30, 310

บทสรุป 5 ตำรวจ ตม. อุ้มรีดนักธุรกิจชาวจีน ศาลสั่งจำคุกอ่วม คนละ 15 ปี

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักให้ฟังได้มั่นคงว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ซึ่งได้รับข้อมูลจากจำเลยที่ 5 แจ้งให้ทราบเกี่ยวกับผู้เสียหายที่ 1 บุคคลสัญชาติจีน บัตรประจําตัวประชาชนที่ออกให้โดยมิชอบ ออกปฏิบัติหน้าที่ติดตามไปพบผู้เสียหายที่ 1 ลักษณะเป็นบุคคล ต่างด้าวมีพฤติการณ์อันควรสงสัย มีผู้เสียหายที่ 2 เป็นล่ามให้ จึงเชิญตัวบุคคลทั้งสองขึ้นรถยนต์ แล้วเจรจา เรียกเงินจากผู้เสียหายที่ 1 จนกระทั่งตกลงกันได้เป็นเงิน 10 ล้านบาท

โดยบุตรชายผู้เสียหายที่ โอนเงินดิจิทัลเข้าหมายเลขบัญชีที่จําเลยที่ 2 แจ้งให้โอนเข้า แล้วจําเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงปล่อยตัวบุคคลทั้งสองไป อันเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดย มิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมีชอบด้วยหน้าที่ และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

โดยมีจําเลยที่ 5 ร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าวในลักษณะแบ่ง หน้าที่กันเป็นตัวการสมคบร่วมกระทำความผิดกับจําเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แต่เมื่อจําเลยที่ 5 มิได้เป็นเจ้าพนักงาน ขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ จึงมีความผิดเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และสนับสนุน เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

โดยการกระทำของจำเลยทั้ง 6 ดังกล่าว เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็น ความผิดต่อกฎหมายหลายบท และเมื่อการกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะของบททั่วไปตามมาตรา 157 แล้ว ย่อมไม่จำต้องปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก

อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในการเชิญผู้เสียหาย ทั้งสองไปเพื่อตรวจสอบสืบเนื่องจากผู้เสียหายที่ 1 เป็นบุคคลต่างด้าวมีลักษณะอันควรสงสัยว่ากระทำผิด กฎหมาย โดยมีผู้เสียหายที่ 2 ร่วมเดินทางไปด้วยเพื่อเป็นล่าม ไม่ปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อันมีลักษณะเป็นการใช้กำลังบังคับ ข่มขืนใจ หรือทำให้บุคคลทั้งสองกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าวหรือของผู้อื่น

บทสรุป 5 ตำรวจ ตม. อุ้มรีดนักธุรกิจชาวจีน ศาลสั่งจำคุกอ่วม คนละ 15 ปี

นอกจากนี้เมื่อตามพฤติการณ์ช่วงเกิดเหตุ ผู้เสียหายที่ 1 ก็ไม่ต้องการให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ดำเนินคดีแก่ตน จึงได้เจรจาต่อรองจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 โดยผู้เสียหายที่ 2 ก็ช่วยผู้เสียหายที่ 1 เจรจาต่อรองและขอแบ่งเงินจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5

กรณีจึงฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 6 เป็นการร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยประการ ใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอม ต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจ นั้นเองหรือของผู้อื่น การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงไม่เป็นความผิดดังกล่าว

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 คนละ 15 ปี และลงโทษจำคุกจำเลยที่ 6 เป็นเวลา 10  ปี

logoline