"ธงทอง" โพสต์ "ย้ายอุเทนถวาย" อย่าหลงประเด็น ชี้ 7 ข้อสำคัญ ที่ดินของจุฬาฯ
10 กุมภาพันธ์ 2567 ดราม่า "ย้ายอุเทนถวาย" ยังไม่จบง่ายๆ หลังจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ได้มีคำสั่งไปยัง อธิการบดีอุเทนถวาย ให้งดรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2567 เพื่อลดปริมาณนักศึกษา เพื่อดำเนินการย้ายสถาบันไปพื้นที่ใหม่ ตามคำสั่งศาลปกครองให้เสร็จภายในรัฐบาลนี้
อย่างไรก็ตาม ได้มีการชี้แจงเพิ่มเติมในภายหลังว่า จะยังคงมีการรับนักศึกษาใหม่ แต่จะกำหนดให้ไปเรียนในวิทยาเขตอื่น กระทั่ง กลุ่มตัวแทนศิษย์เก่าฯ ยื่นหนังสือคัดค้าน "ย้ายอุเทนถวาย" ออกจากพื้นที่เดิม ชี้เป็นการแก้ปัญหาทะเลาะวิวาทไม่ตรงจุด นัดรวมพลแสดงจุดยืนอีกครั้ง 27 ก.พ. ตามข่าวที่เสนอไปก่อนหน้านี้
ล่าสุด ศ.ดร.ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก "Tongthong Chandransu" เปิด 7 ข้อสำคัญถึงกรณี "ย้ายอุเทนถวาย" มีรายละเอียดดังนี้
ก่อนหน้านี้ ผมไม่เคยออกความคิดเห็นเรื่องที่ตั้งวิทยาเขตอุเทนถวายซึ่งอยู่ในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ถึงเวลานี้เห็นใครต่อใครก็พูดเรื่องนี้กันให้ขรมไป ถ้าผมจะพูดบ้าง คงไม่เป็นไรนะครับ
- 1. ผมเคยทำหน้าที่ผู้อำนวยการหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่นานสิบกว่าปี ได้ค้นคว้าเอกสารและผ่านตาเอกสารเกี่ยวกับที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาครบทุกชิ้น ไม่ปรากฏหลักฐานใดว่า “อุเทนถวาย” ได้รับพระราชทาน ได้รับโอน หรือมีกรรมสิทธิด้วยประการหนึ่งประการใดในที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของอุเทนถวายในปัจจุบัน มีแต่เพียงสัญญาเช่า ซึ่งครบกำหนดไปนานปีแล้ว และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ได้ต่อสัญญาเช่าให้อีก
- 2. อุเทนถวาย มีข้อโต้เถียงในเรื่องกรรมสิทธิ และนำคดีขึ้นสู่ศาล คดีถึงที่สุดว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของแปลงนี้
- 3. ผมจำวันเวลาที่แน่นอนไม่ได้ แต่ได้มีการเจรจาตกลงและทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างอุเทนถวายกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าอุเทนถวายจะย้ายการเรียนการสอนไปยังสถานที่ใหม่ แต่ในทางปฏิบัติแล้วเหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง
- 4. เรื่องเหตุกระทบกระทั่งระหว่าง อุเทนถวาย กับสถาบันการศึกษาอีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลกัน มีมาช้านาน และมีความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเกิดขึ้นต่อเนื่อง บางคราวประชาชนคนธรรมดาก็ถูกลูกหลง บาดเจ็บล้มตายไปกับเขาด้วย
- 5. ผมได้ทราบจากข่าวสารสาธารณะว่า กระทรวงอุดมศึกษามีแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนาน โดยการให้สถาบันการศึกษาที่ชื่อ อุเทนถวาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกยังคงรับนักศึกษาปีที่หนึ่งในปีการศึกษาหน้าที่จะถึงนี้ โดยให้ไปจัดการเรียนการสอนในวิทยาเขตหรือสถานที่อื่นซึ่งไม่ใช่พื้นที่ปทุมวัน ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดชี้ขาดมานานปีแล้วว่าเป็นที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 6. การดำเนินการตามข้อ 5 ข้างต้น นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งย่อมอยู่ในฐานะที่จะได้รับทราบตั้งแต่ต้นแล้วว่า เมื่อตนเข้าไปเป็นนักศึกษา จะมีสถานที่เรียนอยู่ที่ใด เป็นการรับทราบข้อมูลล่วงหน้า ทำให้มีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาในสถาบันแห่งนี้
- 7. มีบางเสียงอภิปรายกล่าวอ้างว่า หากอุเทนถวายไม่อยู่ที่ปทุมวันที่แล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะนำที่ดินไปจัดผลประโยชน์หรือทำธุรกิจ ผมเห็นว่าข้อเถียงดังกล่าวเป็นการหลงประเด็น หลงตรรกะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิในที่ดินย่อมมีความชอบธรรมที่จะนำที่ดินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ตามที่เห็นสมควร
จากความรู้ส่วนตัวของผม พื้นที่ตรงนี้อยู่ในแผนการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ในการศึกษามานมนานแล้ว แต่ถ้าในวันข้างหน้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคิดจะปรับแผนไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ก็เป็นเรื่องที่ประชาคมจุฬาฯรวมตลอดถึงประชาชนจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของผู้หนึ่งผู้ใดถ้ามีเรื่องทุจริตคิดมิชอบเกิดขึ้น
ไม่ต้องเดือดร้อนถึงคนอื่นหรอกครับ เพียงแค่คนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน เขาย่อมไม่ยอมอยู่นิ่งอย่างแน่นอนครับ
ที่มา : เฟซบุ๊ก "Tongthong Chandransu"