svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สรุปดรามาค่าทำฟันประกันสังคม ไม่เท่ากองทุนสุขภาพอื่นรัฐ งานนี้คิดว่าไง

06 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สรุปดรามา การเบิกค่ารักษาทันตกรรมประกันสังคม ไม่เท่าเทียมกับกองทุนสุขภาพอื่นของรัฐ งานนี้ผู้ที่ต้องจ่ายเงินสมทบทุกเดือน คิดเห็นกันอย่างไรบ้าง

เป็นเรื่องราวดรามา ที่ผู้คนในสังคมถกเถียง และตั้งข้อกังขากันมานาน เกี่ยวกับความเท่าเทียมในสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาล ระหว่างผู้ที่อยู่ใน กองทุนประกันสังคม กับกองทุนสุขภาพภาครัฐอื่น ๆ โดยเฉพาะ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) และ ระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ  

และล่าสุด ดรามาความสงสัยในเรื่องนี้ของผู้คนในสังคมได้กลับมาร้อนอีกครั้ง เมื่อรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกมาเปิดเผยประเด็นเกี่ยวกับ สิทธิการเบิกค่ารักษาทันตกรรม ที่ได้เพียงปีละ 900 บาท ไม่เพียงพอต่อการรักษาทันตกรรมที่จำเป็นอย่างครบถ้วน และยังน้อยกว่ากองทุนสุขภาพภาครัฐอื่น ๆ  จนทาง สปส. ต้องมาชี้แจงอย่างต่อเนื่อง

Nation STORY ได้สรุปดรามาครั้งนี้ว่า มีจุดเริ่มต้นอย่างไร และมีคำตอบในคำถามที่ผู้คนในสังคมสงสัยในครั้งนี้อย่างไรบ้าง......
สรุปดรามาค่าทำฟันประกันสังคม ไม่เท่ากองทุนสุขภาพอื่นรัฐ งานนี้คิดว่าไง
 

2 ก.พ. 67 จุดเริ่มการรื้อฟื้นดรามาความเหลื่อมล้ำค่าทำฟัน  

- น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผยว่า เมื่อเดือน ม.ค. 66 กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า ผู้ที่มีสิทธิประกันสังคม เบิกค่ารักษาทันตกรรม ได้น้อยกว่ากลุ่มสิทธิบัตรทอง และระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ 

- การเบิกค่ารักษาไม่ครอบคลุมชนิดของบริการ และค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ต่างจากผู้มีสิทธิในอีกสองระบบ ที่สามารถเบิกได้ตามความจำเป็น ทั้งที่ผู้ประกันตน เป็นกลุ่มเดียวที่กฎหมาย กำหนดให้ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน 

- ในปี 2559 คณะกรรมการประกันสังคม ออกประกาศกำหนดให้ผู้ประกันตน มีสิทธิเบิกค่าบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และผ่าฟันคุด จำกัดในวงเงินเพียง 900 บาท ต่อคนต่อปี ไม่เพียงพอต่อการรักษาทันตกรรมที่จำเป็น ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม และเพิ่มความรุนแรงของโรคทันตกรรมมากยิ่งขึ้น 

- กสม. เห็นว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน ที่จะต้องได้รับบริการสุขภาพ ที่จำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน และเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน จึงขอให้ตรวจสอบ และมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 

- คณะกรรมการการแพทย์โดยความเห็นชอบของ สปส. ได้ประกาศกำหนดให้ ผู้ประกันตนเบิกค่าบริการทันตกรรมรวมกันทุกรายการ ได้ไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่สถานพยาบาลเอกชน และคลินิกทันตกรรมส่วนใหญ่ กำหนดอัตราค่าบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐานเกินกว่า 900 บาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ประกันตนไม่สามารถเบิกได้ ส่งผลให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการทันตกรรมได้เพียง 1 - 2 รายการ และจำนวนหัตถการส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายเต็มวงเงิน 900 บาท

- นอกจากนี้ สิทธิในการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตน ยังไม่ครอบคลุมการรักษาทันตกรรมอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อสุขภาพอีกหลายประเภท เช่น ค่าใช้จ่ายในการเอกซเรย์ ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการป้องกันและรักษาสุขภาพช่องปากและฟัน ทั้งก่อนและหลังทำหัตถการ แตกต่างกองทุนสุขภาพอื่น ๆ ที่สามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์ในกรณีดังกล่าวได้ 

- กสม. เห็นว่า กรณีดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิในสุขภาพของผู้ประกันตน ในการได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพและประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง จึงถือได้ว่าผู้ถูกร้อง กระทำหรือละเลยการกระทำ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ประกันตน

- กสม. มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า บริการทันตกรรมเป็นเพียงกรณีตัวอย่างของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ และระบบสาธารณสุขไทยที่มีมายาวนาน หากพิจารณาในภาพรวมของประเทศจะพบว่า ประชาชนถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยมี 3 ระบบกองทุนแยกจากกัน ภายใต้กฎหมายในเรื่องหลักประกันสุขภาพที่แตกต่างกัน ทำให้ประชาชนบางส่วน เข้าไม่ถึงสิทธิในสุขภาพที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกันตน ซึ่งควรได้รับสิทธิไม่ต่ำกว่าสิทธิบัตรทอง  

- ที่ประชุม กสม. เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2567 จึงมีข้อเสนอแนะในการป้องกัน และแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไปยัง สปส. และคณะกรรมการการแพทย์ ให้ปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่อง หลักเกณฑ์ และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน โดยยกเลิกการกำหนดเพดานค่าบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐานในวงเงินไม่เกิน 900 บาท ต่อคนต่อปี และกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมให้ไม่ต่ำกว่าสิทธิบัตรทอง  

- นอกจากนี้ มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ให้คณะกรรมการประกันสังคม และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันดำเนินการให้ผู้ประกันตน สามารถใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ตามมาตรา 5 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

5 ก.พ. 67 สปส.แจงสิทธิทำฟันประกันสังคม 900 บาท/ปี ไม่ละเมิดสิทธิผู้ประกันตน 

- นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ยืนยันว่า สปส.ไม่ได้ละเมิดสิทธิผู้ประกันตน การปรับเพิ่มมาเป็น 900 บาท เป็นการให้สิทธิเพิ่มเข้ามา เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ง่าย สะดวก ตามสถานพยาบาลต่าง ๆ ได้ โดยไม่ต้องไปเข้าสถานพยาบาลปฐมภูมิ ถ้าผู้ประกันตนอยากรักษาแบบไม่จำกัด ก็เข้าโรงพยาบาล (รพ.) ของรัฐได้เลย ไม่มีปัญหา 

- ส่วนจะมีการปรับเพิ่มกว่านี้หรือไม่นั้น กำลังพิจารณาต้องทำอย่างรอบคอบ เพราะไม่ได้เพิ่มค่ารักษาทันตกรรมอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องสิทธิว่างงาน เงินชราภาพ เงินบำเหน็จ บำนาญ เงินเกษียณ เงินทดแทนการขาดรายได้ รวม 7 เรื่อง

- เลขาธิการ สปส. ย้ำว่า “เดิม 900 บาทนั้น สปส.ให้สิทธิใน รพ. ทั้งหมด แต่ปรากฏว่า ไม่สามารถให้บริการได้เพียงพอ ต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ จึงขยายไปตามคลินิก สถานพยาบาลต่าง ๆ ส่วนสิทธิอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการถอนฟัน หรืออื่น ๆ ก็เข้า รพ.รัฐได้เลย ไม่จำกัดทุกอย่าง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย” 
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.)  

6  ก.พ. 67 สปส. แจงสิทธิ "ทันตกรรม" ไม่ด้อยกว่าสิทธิกองทุนสุขภาพภาครัฐอื่น 

- เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เผยแพร่คำชี้แจงของ นางนิยดา เสนีย์มโนมัย โฆษกสำนักงานประกันสังคม กรณีดรามาค่าทำฟันประกันสังคมว่า ปัจจุบันสิทธิทันตกรรมของ สปส. เป็นสิทธิเดียวในสามกองทุนสุขภาพ ที่สามารถเข้ารับบริการได้ในสถานพยาบาล หรือคลินิกเอกชน ที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศทันที ไม่ต้องนัดหมายล่วงหน้า ไม่ต้องสำรองจ่าย 

- สปส. ได้มีการปรับค่าบริการกรณีทันตกรรม จากเดิม 600 บาท เป็น 900 บาท โดยสำรวจราคาจากสถานพยาบาล ที่ให้บริการทันตกรรม ทั้งภาครัฐและเอกชน และอัตราการใช้บริการเฉลี่ยต่อปีของผู้ประกันตน 

- สปส. ยังให้สิทธิผู้ประกันตน ที่ต้องเข้ารับบริการด้านสุขภาพช่องปากที่จำเป็น หรือประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับช่องปาก ซึ่งถือเป็นการรักษาพยาบาลอย่างหนึ่ง ที่สถานพยาบาลตามสิทธิ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย 

- ในปี 2549 สปส. เคยปรับระบบให้ผู้ประกันตน สามารถใช้บริการทันตกรรม ในสถานพยาบาลตามสิทธิ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนเกิน แต่ผลลัพธ์คือ ผู้ประกันตนเข้าไม่ถึงสิทธิ รอคิวนาน เสียงส่วนใหญ่จึงเรียกร้องให้ สปส. กลับมาจัดบริการในลักษณะกำหนดวงเงิน แต่ไปรับบริการที่ไหนก็ได้

- ในปี 2566 มีสถานพยาบาล ที่ทำความตกลงร่วมกับ สปส. กว่า 13,000 แห่ง ในขณะที่สิทธิในระบบประกันสุขภาพอื่น จะต้องใช้บริการในหน่วยบริการของรัฐ ถึงแม้ว่าจะไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่ไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก ต้องมีการนัดหมายล่วงหน้า และต้องเข้ารับบริการในเวลาราชการเท่านั้น

- ผลสำรวจการเข้ารับบริการสุขภาพช่องปากของคนไทย พบว่า ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เข้าถึงบริการด้านทันตกรรม มากกว่าสิทธิบัตรทอง และเมื่อเปรียบเทียบการใช้สิทธิของแต่ละกองทุน พบว่า ผู้ประกันตนมีการใช้สิทธิมากที่สุด

- ในปี 2566 มีผู้ประกันตนใช้บริการในสถานพยาบาล หรือคลินิกเอกชนสูงถึง ร้อยละ 90 และรับบริการในสถานพยาบาลของรัฐ เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น 

- ในปี 2567 สปส. มีโครงการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ ลงพื้นที่ให้บริการแก่ผู้ประกันตน ในสถานประกอบการ เพื่ออำนวยความสะดวกเพิ่มเติม และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาใช้บริการของผู้ประกันตน 
 

6 ก.พ. 67 เพจดังตบหน้า สปส. ยันสิทธิทันตกรรมประกันสังคม รพ. รัฐก็แค่ 900

- เพจเฟซบุ๊ก Doctor กล้วย ออกมาชี้แจงว่า สิทธิประกันสังคมทำฟันในโรงพยาบาลรัฐ ขูด อุด ถอน ได้แค่ 900 หลังเลขาฯ ประกันสังคม ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ "เรื่องเล่าเช้านี้" ทำให้มีข้อความหลังไมค์มาถามแอดเยอะเลย ก็คงสับสนนะครับ

- แอดขอแก้ข่าวว่า #สิทธิทันตกรรมประกันสังคม ยังไม่เปลี่ยนแปลงใน รพ.รัฐ ตามที่เป็นข่าวนะครับ ยังใช้สิทธิรักษา ขูดอุดถอน ได้ 900 เช่นเดิม และ ฟันปลอมฐานพลาสติกตามอัตราที่กำหนด ไม่ใช่อันลิมิต อย่างที่เป็นข่าว

- จริง ๆ แอดก็เรียกร้องให้ประกันสังคม ให้สิทธิทางทันตกรรม เท่าเทียมกับทุกกองทุนนะครับ แต่ยังทำไม่ได้ ถ้าทาง สปส. ให้สิทธิอย่างที่กล่าวได้จริง จะเป็นคุณประโยชน์กับผู้ประกันตนทุกคนเลย 

- แต่เบื้องต้นตามที่เป็นข่าว ผ่าน "เรื่องเล่าเช้านี้" "สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว" ยังไม่ใช่ตามข่าวนะครับ "ขออนุญาตแก้ข่าว ด่วน ๆ เลยครับ ยัง 900 เหมือนเดิมนะทุกคน"

- แอดก็เรียกร้องให้ ปกส ให้สิทธิรักษาทางทันตกรรมให้เท่าเทียมกองทุนอื่นครับ แต่ผ่านมาเหยียบ 10 ปีก็ 900 นี่แหละครับทุกคน

logoline