svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สรุปดรามา "คัลแลนพี่จอง" เป็นคนดังในเมืองไทยเหนื่อยจัง มาดูกันเจออะไรบ้าง

16 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สรุปดรามา "คัลแลนพี่จอง" 2 ยูทูบเบอร์เกาหลีหัวใจไทย เป็นคนดังในเมืองไทยอย่าคิดว่าง่าย มาดูกันว่าที่ผ่านมา สองโอปป้าเจออะไรมาบ้าง แล้วเอาตัวรอดมาได้ไง

การเป็นใครคนหนึ่งหรือหลายคน จะกลายมาเป็นคนดังในประเทศไทยได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยิ่งมีกระแสมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งถูกสังคม หรือคนรอบข้าง จับตามากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะในเรื่องราวที่เป็นประเด็นดรามา ที่เป็นเหมือนกับดัก ทำให้คนดังหลายคนถึงกับหมดแสง หรือกว่าจะเอาตัวรอดมาได้ก็ "ทุลักทุเล"  

และเมื่อพูดถึงคนดัง ที่กำลังเป็นกระแสนิยมในบ้านเรา นาทีนี้คงไม่มีใครเกินกว่า "คัลแลน" และ "พี่จอง" สองหนุ่มยูทูบเบอร์ชื่อดังชาวเกาหลี แห่งช่อง 컬렌 Cullen HateBerry ที่มีแฟนคลับคนไทยชาวใจฟู และผู้ติดตามเพิ่มจำนวนหลักล้านอย่างรวดเร็ว จากการทำคลิปการทำกิจกรรม รวมถึงการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย ถึงขั้นถูกของกรมอุทยานแห่งชาติ จีบไปเป็นพรีเซ็นเตอร์  

พี่จอง - คัลแลน
 

โดยนับตั้งแต่ "คัลแลน" และ "พี่จอง" เริ่มโด่งดัง และมีแฟนคลับมากขึ้น ก็มีดรามาต่าง ๆ ตามให้ทั้งคู่ต้องเผชิญ เริ่มตั้งแต่เรื่องการใช้ภาษาไทย ซึ่งประเด็นนี้ สังคมสามารถให้อภัยได้ เนื่องจากทั้งคู่เป็น "คนเกาหลี" ดังนั้นการที่ไม่สามารถใช้ภาษาได้เป๊ะปัง จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้  

สรุปดรามา "คัลแลนพี่จอง" เป็นคนดังในเมืองไทยเหนื่อยจัง มาดูกันเจออะไรบ้าง  

จากนั้น ก็ตามาด้วย ดรามาเรื่องของค่าตัวของทั้งคู่ ที่หากจะเชิญไปออกรายการต่าง ๆ จะต้องจ่าย 1 ล้านบาท ทั้งที่้เป็นแค่การไปร่วมรายการ ไม่ใช่พรีเซนเตอร์  

ซึ่งเรื่องนี้ ทางแฟนคลับของช่องยูทูบคัลแลน ได้ออกมาโต้ โดยอิงข้อมูลคำตอบจากคอมเมนท์ของทางผู้จัดการ "คัลแลน" และ "พี่จอง" ที่ระบุว่า ที่ทั้งคู่ตั้งค่าตัวสูงแบบนี้ เพราะไม่ต้องการให้ใครมาจ้าง แต่ถ้าเจ้าตัวอยากไปออกรายการไหน ก็จะไปออกรายการฟรีด้วยตัวเอง ขนาดเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กรมอุทยานฯ ยังฟรี

"คัลแลน" และ "พี่จอง"  
 

ล่าสุด ได้เกิดดรามากับ "คัลแลน" และ "พี่จอง" อีกครั้ง เป็นดรามาเรื่องการใช้วีซ่าเข้ามาในประเทศไทย โดยเรื่องราวเกิดจากการที่ "ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์" ได้เข้าไปคอมเมนต์ถาม 2 ยูทูบเบอร์ดังว่า "ใช้วีซ่าอะไร" จนเหมือนเป็นการเปิดประเด็นดรามาให้ หลายคนสงสัยว่า ทำไมสองยูทูบเบอร์หนุ่มชาวเกาหลี จึงอยู่ในประเทศไทยได้นานขนาดนี้ 

กระทั่งวานนี้ (15 ม.ค.) ได้ปรากฏภาพของ "คัลแลน" และ "พี่จอง"  ไปปรากฏตัวที่กระทรวงแรงงาน ทำให้ "ด้อมใจฟู" หลายคนคาดเดาว่า คงไปเคลียร์ประเด็นเรื่องวีซ่าใช่หรือไม่ เนื่องจากทั้งคู่ก็ไม่ได้มีการชี้แจงในประเด็นนี้ แต่การกระทำดังกล่าวของทั้งคู่ ก็ทำให้ชาวด้อมใจฟูต่างแสดงความเห็นกันว่า อย่างไรทั้งคู่ก็เจตนาดี เที่ยวไทยด้วยความบริสุทธิ์ใจ และเชื่อว่าทั้งคู่จะทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างแน่นอน 

สรุปดรามา "คัลแลนพี่จอง" เป็นคนดังในเมืองไทยเหนื่อยจัง มาดูกันเจออะไรบ้าง

และยังมีการให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า "คัลแลน" และ "พี่จอง" นั้น อยู่ในประเทศไทยมานาน เคยทำธุรกิจที่เมืองไทยมาแล้ว ดังนั้นทั่งคู่น่าจะถือวีซ่าถูกต้อง และคงไม่ใช่วีซ่าท่องเที่ยวแน่นอน เพราะทั้งคู่มีบัญชีธนาคารในประเทศไทย โอนซื้อของกับพ่อค้าแม่ค้าไทย ผ่านแอปพลิเคชั่นเหมือนคนไทย และมีใบขับขี่ของไทยด้วย จึงเช่ารถขับไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ได้ ซึ่งหากใช้ใบขับขี่ไทย ต้องเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยหรือเข้ามาทำงาน (Work Permit เท่านั้น) แต่ก็ไม่มีคำตอบแน่ชัดเพราะนักท่องเที่ยวที่มีใบขับขี่สากล ก็สามารถเช่ารถขับได้เช่นกัน

โดย "คัลแลน" เคยเปิดคลับที่เอกมัย และทำงานในไทยในฐานะโปรดิวเซอร์เพลงในผับมาหลายปี และยังทำงานเพลงอยู่ถึงปัจจุบัน  ส่วน "พี่จอง" ก็เป็นนักธุรกิจ เดินทางไปกลับไทย-เกาหลีอยู่เป็นระยะ

สรุปดรามา "คัลแลนพี่จอง" เป็นคนดังในเมืองไทยเหนื่อยจัง มาดูกันเจออะไรบ้าง  

ล่าสุดวันนี้ (16 ม.ค.) ประเด็นเรื่องของวีซ่า "คัลแลน" และ "พี่จอง" ได้รับการเฉลยโดย นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุว่า ข้อเท็จจริงคือ คัลแลน และจอง เดินทางเข้าประเทศไทยด้วยวีซ่า NON-IMMIGRANT B (วีซ่าคนอยู่ชั่วคราว เพื่อทำงาน ติอต่อธุรกิจ หรือประชุม) และนายจ้างได้ยื่นขอใบอนุญาตทำงานแทน ตามมาตรา 60 ไว้กับกรมการจัดหางานแล้ว 

ต่อมาทั้ง 2 คน ได้เดินทางมาเซ็นรับเอกสารใบอนุญาตทำงาน ณ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานเมื่อวานนี้ ซึ่งคนต่างชาติที่ขอใบอนุญาตทำงานถูกต้อง จะสามารถทำงานในประเทศไทย ภายในระยะเวลาที่ได้ขออนุญาตไว้แต่ไม่เกิน 2 ปี รวมทั้งสามารถขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานต่อไปได้ตามที่จำเป็น โดยสามารถทำงานได้ทุกประเภทงานที่ไม่ได้มีประกาศห้ามคนต่างด้าวทำ

สรุปดรามา "คัลแลนพี่จอง" เป็นคนดังในเมืองไทยเหนื่อยจัง มาดูกันเจออะไรบ้าง  

มารู้จักประเภทต่างๆ ของวีซ่าในประเทศไทย  

สำหรับหลายคนที่กำลังสังสยว่าแล้ว "คัลแลน" และ "พี่จอง" ถือวีซ่าอะไร ทำไมถึงเข้ามาทำงาน หรือทำธุรกิจในประเทศไทยนั้น ข้อมูลจากเว็บไซต์ Thaiembassy เผยแพร่ข้อกฎหมาย กฎระเบียบสำหรับช่าวต่างชาติที่เข้ามาทำงานที่ไทย และอยู่อาศัยในประเทศไทย แบบไม่ใช่นักท่องเที่ยวว่า 

ใบอนุญาตทำงาน หรือ work permit  หมายถึง  ชาวต่างชาติที่ต้องเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อประกอบธุรกิจ กิจการ หรือ ลูกจ้าง ทุกอาชีพ ใบอนุญาตทำงานจะสามารถขอได้เมื่อ ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย แล้วโดยใช้วีซ่าทำงานที่เหมาะสม ซึ่งใบอนุญาตทำงาน จะเป็นเอกสารทางราชการ ที่ออกโดยกระทรวงแรงงาน และจะระบุข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของชาวต่างชาติ เช่น อาชีพ ตำแหน่ง บริษัทผู้ว่าจ้าง เป็นต้น และใบอนุญาตนี้จะทำให้ผู้ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย สามารถปฏิบัติงานหรือดำเนินธุรกิจในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง   

ส่วนการทำ วีซ่าทำงาน  บุคคลใดก็ตามที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย และมีความประสงค์ที่จะทำงานในประเทศไทย จะต้องยื่นขอวีซ่าทำงานจากประเทศของตน โดยวีซ่าที่สามารถนำมาใช้ขอใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยได้ มีอยู่หลายประเภท ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบุคคล เช่น วีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราว B (Non-immigrant B) และวีซ่าแต่งงาน ในกรณีที่แต่งงานกับคนไทย เป็นต้น ซึ่งวีซ่าสำหรับทำงานนี้ จะถูกออกโดยสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ โดยจะมีการประทับตราไว้บนหนังสือเดินทางของชาวต่างชาติ ซึ่งชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย จะต้องมีใบอนุญาตทำงานหรือ work permit  และถือวีซ่า ประเภทคนอยู่ชั่วคราว B (Non-immigrant B) ควบคู่กันจะขาดใบใดใบหนึ่งไม่ได้   

ประเภทของวีซ่าทำงาน ที่ต่างชาติเข้ามาอยู่ชั่วคราว ที่ชาวต่างชาติสามารถยื่นขอได้  มีทั้งหมด 6 ประเภท 

  • วีซ่าคนอยู่ชั่วคราวประเภท B (เพื่อการทำงานและประกอบธุรกิจ)

วีซ่าประเภทนี้เป็นวีซ่าสำหรับทำงานและประกอบธุรกิจทั่วไปที่ชาวต่างชาตินิยมขอกันมากที่สุด โดยชาวต่างชาติจะต้องยื่นขอวีซ่าประเภทนี้ในประเทศของตนเองซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถอยู่ในประเทศไทยได้เป็นเวลา 90 วัน และเมื่อได้รับใบอนุญาตทำงานภายใน 90 วันแล้ว ชาวต่างชาติจะสามารถดำเนินเรื่องขอต่อระยะเวลาวีซ่าเป็น 1 ปีในประทศไทยได้โดยมีบริษัทผู้ว่าจ้างคอยช่วยเหลือ

  • วีซ่าคนอยู่ชั่วคราวประเภท B-A (สำหรับธุรกิจที่ได้รับอนุมัติ)

โดยทั่วไปแล้ววีซ่าประเภทนี้จะออกให้แก่ชาวต่างชาติที่ลงทุนในธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งบริษัทที่เกี่ยวข้องในไทยสามารถช่วยเหลือในการขอวีซ่าให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติได้ และวีซ่าจะมีระยะเวลา 1 ปี อย่างไรก็ตาม การออกวีซ่าประเภทนี้ไม่ค่อยแพร่หลายมากนัก และขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่สถานทูต หรือเจ้าหน้าที่กงสุลที่รับผิดชอบ

  • วีซ่าคนอยู่ชั่วคราวประเภท IB (เพื่อการลงทุนและธุรกิจ)

วีซ่าประเภทนี้คือวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานหรือร่วมโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งเป็นโครงการที่อนุมัติโดยบีโอไอว่ามีส่วนช่วยสร้างประโยชน์แก่ประเทศไทย 

  • วีซ่าคนอยู่ชั่วคราวประเภท M (สำหรับสื่อมวลชน)

วีซ่าคนอยู่ชั่วคราวประเภท M จะออกให้กับชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพื่อปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสื่อต่างๆ เช่น สื่อทางโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือสื่อออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งอาจจะต้องมีการขออนุมัติเพิ่มเติมจากหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยขึ้นอยู่กับประเภทของสื่อและงานที่จะทำ

  • วีซ่าคนอยู่ชั่วคราวประเภท O (สำหรับครอบครัวผู้ติดตาม)

หากชาวต่างชาติที่ถือวีซ่าทำงานมีความประสงค์ที่จะให้คู่สมรส หรือสมาชิกในครอบครัวติดตามมายังประเทศไทยด้วย ผู้ติดตามดังกล่าวจะต้องยื่นขอวีซ่าคนอยู่ชั่วคราวประเภท O นอกจากนี้ วีซ่าประเภทนี้จะออกให้กับชาวต่างชาติที่เข้ามาปฏิบัติงานอาสาสมัคร ผู้ที่แต่งงานกับชาวไทย และผู้ที่ต้องการใช้ชีวิตหลังเกษียณในประเทศไทย

  • สมาร์ท วีซ่า (Smart Visa)

สมาร์ท วีซ่า เป็นวีซ่าประเภทใหม่ที่ออกให้กับผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติที่มีทักษะ และประสบการณ์ตามที่ได้ระบุไว้ รวมถึงนักลงทุน ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ผู้บริหารระดับสูง และครอบครัวของผู้ถือสมาร์ท วีซ่าด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะต้องทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่นเทคโนโลยีชีวภาพ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ชีวเคมี และอื่นๆ ผู้ที่ได้รับสมาร์ท วีซ่าจะสามารถอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 4 ปี และได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการยกเว้นใบอนุญาตทำงานด้วย
เมื่อได้รับวีซ่าที่เหมาะสมแล้ว ในขั้นตอนถัดไป ชาวต่างชาติจะต้องดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานโดยการช่วยเหลือจากบริษัทผู้ว่าจ้าง ซึ่งชาวต่างชาติจะต้องมีใบอนุญาตทำงานก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติงานใด ๆ

ขอบคุณข้อมูล : www.thaiembassy.com , 

logoline