หญิงสาวที่ได้รับทุน จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ชื่อขณะนั้น) และ ม.แม่ฟ้าหลวง ก่อนที่กลายเป็นผู้ป่วยจิตเวช จนต้องออกจากงาน กลายเป็นผู้ป่วยจิตเวชเต็มขั้นหลายปี และได้รับการรักษาจนหาย สามารถกลับมาเริ่มชีวิตใหม่ แต่ก็ต้องพบว่า ตัวเองต้องเป็นหนี้ ชดใช้ทุนที่ได้รับนับสิบล้านบาท
กรณีของ ดร.เค็ง สรุปได้ว่า
"ดร.เค็ง" เกิดในครอบครัวคนจีน มีพี่น้อง 9 คน เธอเป็นคนที่ 8 ฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจน ในวัยเด็ก พี่ ๆ ต้องทำงานส่งเสียเธอเรียน และเป็นคนเดียวในบ้าน ที่มีโอกาสเรียนจบปริญญาเอก ด้วยทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ชื่อขณะนั้น) และ ม.แม่ฟ้าหลวง
เรื่องราวมีอยู่ว่า ตอน "ดร.เค็ง" เรียน ป.เอก ที่อังกฤษ ได้ป่วยด้วยโรคจิตเวช จากความเครียดในการปรับตัว เข้าสู่สังคมในอังกฤษ โดยเริ่มพบจิตแพทย์ตั้งแต่ปี 51 และอาการหนักยิ่งขึ้นในช่วง พ.ค. 53 เนื่องจากมีสถานการณ์ทางการเมืองในไทย จากการพี่สาวคนโตของเธอ อยู่ในเหตุการณ์เสื้อแดงวัดปทุมฯ
สุขภาพของเธอเข้าสู่วิกฤตในปี 54 มีอาการหูแว่ว และจิตเวชเต็มรูปแบบ จนต้องมี จนท. บุกเข้าไปที่ห้องพัก เพื่อนำตัวไปรักษาเกือบเดือน (มีเอกสารเป็นภาษาอังกฤษรับรองอาการป่วยจาก รพ.จิตเวช) จนสามารถรักษา และกลับมาเรียนหนังสือจนจบ ป.เอก ในที่สุด
เมื่อเรียนจบ ดร.เค็ง กลับมาทำงานใช้ทุน เป็นอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ อยู่ที่ ม.แม่ฟ้าหลวง ต่อมาอาการเริ่มกำเริบอีกครั้ง เธอเริ่มเขียน email ถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัย วิพากษ์วิจารณ์การบริหารงาน และวิพากษ์วิจารณ์การเมือง เนื่องจากอาการหูแว่ว จดหมายถูกเขียนและส่งออกไปนับร้อยฉบับ จนวันหนึ่งเธอวิตกกังวลว่า ตนเองจะเป็นอันตราย และอาจเป็นภัยต่อคนอื่น จึงแจ้งต่อผู้บริหารว่า จะขอลาออก แต่ช่วยตรวจสอบเงื่อนไขการลาออกด้วยว่า จะสามารถยกเว้นการใช้ทุนได้หรือไม่
ต่อมาทางมหาวิทยาลัย ได้ขอให้ "ดร.เค็ง" เซ็นใบลาออก แต่ "ดร.เค็ง" ไม่ได้เซ็น เนื่องจากยังไม่ทราบเงื่อนไขเรื่องการชดใช้ทุน แต่สุดท้ายมหาวิทยาลัย ก็ได้ทำหนังสือแจ้งสิ้นสภาพการทำงาน ต่อจากนั้น ดร.เค็ง ก็อยู่ในสภาพป่วยจิตเวชเต็มตัวใช้ชีวิตลำพังที่เชียงราย เนื่องจากไม่มีญาติที่นี่
ปี 2557 "ดร.เค็ง" ไม่รู้สึกตัวว่า การเจ็บป่วยของตัวเอง จะนำไปสู่ความยุ่งยากของชีวิต ความเจ็บป่วย ทำให้เธอเดินเร่ร่อนอยู่ที่เชียงราย ขี่จักรยานจากในเมืองไปแม่จัน พูดคนเดียว ไม่อาบน้ำ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเดิม ๆ อยู่เป็นปี มีอาการป่วยจิตเวชเต็มรูปแบบ เป็นเวลากว่า 3 ปี กว่าจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาในปี 63 ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา ก็ผ่านไปหลายปี แม้ตอนนี้อาการจิตเวชจะดีขึ้น แต่ยังมีอาการซึมเศร้า และรับรู้ว่า ตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับการฟ้องร้อง จนต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลาย และทำให้พี่ชายที่เซ็นค้ำประกันตอนขอทุน ได้รับความเดือนร้อนไปด้วย
"ดร.เค็ง" ต่อสู้คดีโดยลำพังในศาลปกครอง ในขณะที่ยังอยู่ในสภาพที่แม้ดีขึ้น แต่ไม่ปกติ โดยเธอสู้ว่า เธอไม่ได้หนีทุน แต่เพราะเธอป่วย ซึ่งมิใช่การกระทำของตนเอง ซึ่งในระเบียบของกระทรวงวิทยฯ ได้มีข้อยกเว้นการใช้ทุนหากเจ็บป่วย จนไม่สามารถทำงานได้ แต่ ม.แม่ฟ้าหลวง สู้ในประเด็นว่า เธอลาออกและไม่ทำงานใช้ทุน ศาลรับพิจารณากรณีเพียงได้ใช้ทุนหรือไม่ แต่ไม่ได้พิจารณาว่า ป่วยหรือไม่ป่วย เธอแพ้คดีในศาลปกครองชั้นต้น และอยู่ระหว่างการอุธรณ์
จากการต่อสู้ในชั้นศาล ทำให้ "ดร.เค็ง" ต้องอยู่ในสภาพ ที่ถูกฟ้องร้องด้วยเงินนับสิบล้านบาท แม้พยายามขอกลับเข้าไปทำงาน เพื่อยุติข้อพิพาษ ก็ไม่ได้รับโอกาส จนเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา เธอได้กลับไปทำงานให้กับ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งเป็นมูลนิธิแห่งหนึ่ง ภายใต้หน่วยงานรัฐ เป็นการกลับเข้าสู่การทำงานในรอบสิบปี และเธอมีความสุขมาก แม้หัวหน้างานจะบอกว่า งานวิจัยของเธอนั้น ทำงานที่บ้านได้ แต่เธออยากออกมาเจอผู้คน และกลับเข้าสู่การทำงานอีกครั้ง
ทั้งนี้ ภายหลัง เมื่อ "บก.หนูหริ่ง" ทราบว่า "ดร.เค็ง" กลับมาทำงานได้ จึงแจ้งให้มาเลือกเสื้อผ้า รองเท้า สิ่งของจำเป็น ที่จะใช้ในการกลับเข้าสู่สังคมคนทำงานอีกครั้ง โดย "ดร.เค็ง" แวะมาที่มูลนิธิกระจกเงา เลือกสิ่งของที่จำเป็นไปจำนวนหนึ่ง และรับเงินโอนเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เป็นเงินก้นถุง สำหรับการเริ่มงานวันแรกของเธอ
นายสมบัติ เปิดเผยว่า ได้มีการโทรไปสอบถามสภาพการทำงานวันแรก และได้ยื่นข้อเสนอว่า จะเขียนเรื่องราวของ "ดร.เค็ง" ลงเฟซบุ๊ก และจะระดมทุนให้ แต่เธอปฏิเสธ เธอบอกว่า แค่เธออดทนให้พ้นเดือนนี้ และได้เงินเดือนเดือนแรก เธอก็จะค่อย ๆ ฟื้นคืนสถานะพึ่งพาตัวเองได้แล้ว
หลังจากเรื่องราวของ ดร.เค็ง ปรากฎขึ้นในสื่อต่าง ๆ กรรมมาธิการ อว. ก็เสนอให้ ดร.เค็ง และผู้บริหาร ม.แม่ฟ้าหลวง เข้าชี้แจงที่สภาในวันที่ 14 ธ.ค. 66 นี้
กมธ.อว. หวังสร้างบรรทัดฐานการขอและใช้ทุนหน่วยงานรัฐ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กมธ.อว.) สภาผู้แทนราษฎร เผยว่า ได้รับ ดร.เค็ง ได้ส่งข้อความหาตนทางเพจเฟซบุ๊ก Takorn Tantasith
ซึ่งทันทีที่ได้รับทราบเรื่อง ได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น และรับคำร้องของผู้ร้อง บรรจุเข้าวาระพิจารณาในการประชุม กมธ.อว. วันที่ 14 ธ.ค. 66 นี้ โดยจะเชิญผู้ร้อง และอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เข้าชี้แจง พร้อมย้ำว่า จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ รอบด้าน และเพื่อเป็นบรรทัดฐานสำหรับการขอทุน และการใช้ทุนของหน่วยงานรัฐ ต่อไป
“ม.แม่ฟ้าหลวง”แถลงยันทำตามระเบียบ ยื่นฟ้องคดีกับอาจารย์เพื่อให้ชดใช้ทุนการศึกษา
ขณะที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ออกแถลงการขอชี้แจงกรณี "ดร.เค็ง" ดังนี้
1. "ดร.เค็ง" เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตำแหน่งอาจารย์ สังกัดสำนักวิชา การจัดการ ได้เริ่มปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. 48 และต่อมาได้รับทุนรัฐบาลจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงให้ไปศึกษาในระดับปริญญาเอก ณ University of Kent ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 51
2. "ดร.เค็ง" ได้สำเร็จการศึกษาและกลับมาปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 56 และในระหว่างปฏิบัติงานได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 57 โดยให้มีผลเป็นการลาออกในวันที่ 1 ก.ย. 57 ซึ่งในการขอลาออก เป็นการแสดงเจตนาโดยสมัครใจของ "ดร.เค็ง"
และเมื่อ "ดร.เค็ง" ยังคงแสดงเจตนาเดิมในการขอลาออก โดยได้รับทราบเงื่อนไขของการชดใช้ทุนแล้ว มหาวิทยาลัยจึงได้อนุญาตให้ลาออกตามความประสงค์ แต่ด้วยเงื่อนไขของสัญญา และระเบียบของกระทรวงการคลัง เมื่อ "ดร.เค็ง" ปฏิบัติงานเพื่อชดใช้ทุนการศึกษาไม่ครบถ้วน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมหาวิทยาลัย จึงมีความจาเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญา เพื่อเรียกให้ชดใช้ทุนการศึกษา ของกระทรวงวิทย์ฯ จำนวน 630,207.46 บาท 194,730 ปอนด์ และของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจำนวน 726,305.94 บาท
3.ตามเงื่อนไขของสัญญารับทุน และหลักเกณฑ์ปฏิบัติของกระทรวงการคลัง กำหนดให้สิทธิ ผู้รับทุนที่ไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินทุนตามสัญญา เมื่อเป็นบุคคลวิกลจริต จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ แต่ต้อง แสดงหลักฐานทางการแพทย์ จากโรงพยาบาลในสังกัดของรัฐ โดยให้แพทย์ผู้ทำการรักษาระบุว่า เหตุวิกลจริตและจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบดังกล่าว ทำให้ผู้ผิดสัญญาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
แต่ทั้งนี้ ในระหว่างปฏิบัติงานให้กับมหาวิทยาลัย จนกระทั่งยื่นหนังสือลาออก "ดร.เค็ง" ไม่เคยจัดส่งเอกสารหลักฐานทางการแพทย์ว่า ไม่สามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ให้กับมหาวิทยาลัยได้รับทราบเลย โดย "ดร.เค็ง" ได้ยื่นเอกสารทางการแพทย์ ต่าง ๆ ในชั้นพิจารณาของศาลปกครองเชียงใหม่ แต่ล่วงเลยระยะเวลาตามที่กาหนดไว้ในสัญญาไปแล้ว ศาลปกครองเชียงใหม่จึงได้พิจารณาและพิพากษาให้ "ดร.เค็ง" ชดใช้ทุนการศึกษาตามเงื่อนไขของสัญญา
4. "ดร.เค็ง" ได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 66 แต่เมื่อคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด การไกล่เกลี่ยในชั้นศาลนี้ไม่อาจทำได้ มหาวิทยาลัยจึงไม่อาจดำเนินการใด ๆ ในขณะนี้ได้
5. มหาวิทยาลัยได้ปฏิบัติต่อ "ดร.เค็ง" ด้วยเมตตาธรรมและคุณธรรมมาโดยตลอด โดยได้สนับสนุนและส่งเสริมให้ "ดร.เค็ง" ได้รับโอกาสไปศึกษาวิชาการในต่างประเทศตามที่ตั้งใจ และขอยืนยันว่าในการพิจารณาเรื่องราวของ "ดร.เค็ง" มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการภายใต้ขั้นตอน และหลักเกณฑ์ของกฎหมาย และระเบียบของทางราชการ แต่อย่างไรก็ดีหากศาลปกครองสูงสุด ได้พิจารณาพิพากษาเป็นประการใด มหาวิทยาลัยก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม คำพิพากษาของศาลทุกประการ
ขอบคุณข้อมูลและภาพ
เฟซบุ๊ก : สมบัติ บุญงามอนงค์
ราย"กรรมกรข่าว คุยนอกจอ"