31 กรกฎาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา เตือน “ฝนตกหนักถึงหนักมาก” พร้อมพยากรณ์ฝนตกสะสมรายวัน ทุกๆ 24 ชม. นับตั้งแต่ 07.00น. ถึง 07.00น.วันรุ่งขึ้น ในช่วง 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 31 ก.ค.-9 ส.ค. 66 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) ระบุว่า..
ช่วงวันที่ 31 ก.ค. - 4 ส.ค.66 ยังมีฝนต่อเนื่อง บริเวณภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบนและด้านตะวันออก ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออกด้านรับมรสุม (จันทบุรี ตราด) และภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา) ส่วน กทม.และปริมณฑล จะเริ่มมีฝนช่วงบ่าย-ค่ำ ส่วนใหญ่ยังเป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือตอนบน และภาคอีสานตอนบน ใกล้หย่อมความกดอากาศต่ำ
คลื่นลมในทะเลทั้ง 2 ฝั่ง มีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง ชาวเรือ ชาวประมงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือในระยะนี้
ทั้งนี้เนื่องจากร่องมรสุมได้พาดผ่านบริเวณตอนบนของภาคเหนือ ภาคอีสาน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง พัดปกคลุม และมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมทางตอนบนของเวียดนาม
ในช่วงวันที่ 5-9 ส.ค.66 ฝนน้อยลง แต่ยังมีเกิดขึ้นได้บริเวณภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน เนื่องจากมรสุมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อนลง
อัปเดต "พายุโซนร้อนขนุน" กำลังแรง
ในระยะนี้ในมหาสมุทรแปซิฟิก พายุโซนร้อน"ขนุน (KHANUN)" ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นแล้ว กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ ค่อนไปทางเหนือ
อย่างไรก็ตาม แม้พายุนี้ทิศทางไม่ได้มุ่งเข้าสู่ประเทศไทย จึงไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย แต่จะทำให้มรสุมมีกำลังแรงขึ้น
หมายเหตุ - ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ
ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 4 (209/2566) เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีผลกระทบจนถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ลงนามโดย ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า..
ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
สำหรับจังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้
31 กรกฎาคม 2566
1-3 สิงหาคม 2566
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2566
กรมอุตุนิยมวิทยา ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ประกาศ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เวลา 05.00 น.
ที่มา กรมอุตุนิยมวิทยา