svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

หมอธีระ เผย 3 เรื่องใหญ่สังคมไทย หลังกรณีหมอลาออกจากราชการ

06 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หมอธีระ เผยประเด็นร้อนๆ 3 เรื่องใหญ่สังคมไทย สืบเนื่องจากรณี หมอลาออกจากราชการ ชี้ในอนาคตจะรุนแรงยิ่งขึ้น ระบุสิ่งที่จัดการได้มีเพียงต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ให้สามารถอยู่รอดได้ ทำงานไปได้อย่างมีความสุข

เปิดประเด็นร้อนๆ ที่สังคมสงสับ ล่าสุดบนเพจเฟซบุกของ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยในโพสต์ใจความระบุถึงปัญหาของระบบการแพทย์ไทย ว่า

หมอธีระ เผย 3 เรื่องใหญ่สังคมไทย หลังกรณีหมอลาออกจากราชการ

ประเด็นร้อนๆ ทางโลกออนไลน์ในขณะนี้กับจากประเด็นข่าว น้องหมอคนหนึ่งที่ยื่นลาออกจากราชการ สะท้อนปัญหาสำคัญ 3 เรื่องใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบัน และจะรุนแรงขึ้นในอนาคต

หมอธีระ เผย 3 เรื่องใหญ่สังคมไทย หลังกรณีหมอลาออกจากราชการ

ปัญหาเชิงระบบ ได้แก่ ระบบราชการที่เน้นอำนาจบนลงล่างในทุกระดับ ทำให้ไม่เหมาะกับยุคที่คนต้องการอิสระทางความคิด การทำงาน และความเป็นธรรม นอกจากนี้ยังเป็นระบบงานที่ไม่เอื้อต่อสมดุลชีวิต มีงานที่ไม่จำเป็น เช่น งานเอกสารจากการสั่งการนโยบายต่างๆ ถาโถมเข้ามาสู่ระดับปฏิบัติการ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เอื้อต่อการทำงานอย่างมีสวัสดิภาพและประสิทธิภาพ

ปัญหาของคนในสังคมไทย ที่หลงใหลได้ปลื้มกับความสุขสบายหรูหราฟู่ฟ่า และคลั่งไคล้ระบบทุนนิยมตะวันตก จึงอยากได้ อยากมี ความเป็นมาตรฐานระดับโลก มองการรักษาพยาบาลแบบซื้อขายสินค้าหรือบริการ ไม่เตรียมใจรับกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ในกระบวนการตรวจรักษา ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากปัญหาเชิงระบบที่มีหน่วยงานหลายต่อหลายแห่งพยายามประชาสัมพันธ์ สร้างแบรนด์มาตรฐานโรงพยาบาล ซึ่งแทนที่จะเกิดผลดี กลับเกิดผลเสีย เพราะทำให้คนเข้าใจกันผิดว่ามาตรฐานแปลว่าต้องไม่มีความผิดพลาด

หมอธีระ เผย 3 เรื่องใหญ่สังคมไทย หลังกรณีหมอลาออกจากราชการ

 

ปัญหาของคนที่มาเรียนจนจบเป็นแพทย์ เป็นปัญหาตั้งแต่คนที่เข้ามาเรียนแพทย์ ที่หากรู้อยู่ว่าไม่อยากเรียน ก็ไม่ควรฝืนเรียน เพราะไม่มีแรงใจตั้งแต่ต้น แต่หากอยากเรียน จะด้วยเพราะอยากรู้จักชีวิตและร่างกายคน อยากดูแลคน อยากรักษาคนให้หายจากเจ็บป่วย อยากเห็นคนพ้นทุกข์ แม้จะไม่เก่ง ก็สามารถฝึกให้เก่งได้ เวลาทำงานก็จะมีความสุข



ทางด้าน หมอธีระ ระบุอีกว่า

หากพิจารณาให้ดี จะพบว่า ไม่ว่าจะกรณีนี้หรือกรณีอื่นในอดีต น้องไม่ได้รับการเพาะบ่มให้มีภูมิต้านทานในชีวิตอย่างเพียงพอ ทำให้เวลาออกไปทำงานเจอปัญหาต่างๆ ก็ไม่สามารถปฏิบัติตนให้ทำงานอย่างมีความสุขได้ จะตำหนิน้องก็ไม่ได้ เพราะผมเองก็เคยเป็น และเจอโน่นนี่นั่นซึ่งเป็นเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตมาไม่น้อย ตัดสินใจผิดพลาดในชีวิตหลายต่อหลายครั้ง แต่สุดท้ายผ่านพ้นมาได้เพราะพระคุณของครอบครัวที่ให้กำลังใจ สนับสนุนและอดทน

สำหรับสิ่งที่เป็นปัญหาของกรณีนี้คือ การที่มีเมตตากรุณามากเกินไปจนทำร้ายตนเองทั้งกายและใจ การมีเมตตาและกรุณานั้นดี แต่ต้องเดินด้วยทางสายกลาง ช่วยในสิ่งที่พอทำได้และไม่ทำร้ายร่างกายและจิตใจตนเองจนเกินไป

หากย้อนกลับไปได้ อยากบอกน้องหมอว่า ระบบนั้นไม่ล่มสลายง่ายๆ ขาดตัวเราไป ก็จะมีคนมาแทน แต่จะดีเท่าเราหรือเปล่านั้นไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ๆ คือไม่ค่อยมีคนมาเสียใจหรือใส่ใจกับการอยู่ของเรา แต่ครอบครัวและคนที่เรารักนั้นต้องการเรามากกว่า หากเป็นอะไรไป เค้าจะเสียใจที่สุด 

หมอธีระ เผย 3 เรื่องใหญ่สังคมไทย หลังกรณีหมอลาออกจากราชการ

ดังนั้นต่อให้งานเยอะแค่ไหน ก็ต้องมีลิมิต รู้ว่าเวลาไหนควรกินข้าวก็ต้องกิน ไม่ใช่ฝืนไม่กินแล้วเจ็บป่วยไม่สบาย จะกลายเป็นเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย

ยามไม่สบาย เช่น แผลที่ตา เรียนมาก็รู้ว่าเป็นโรคที่ต้องรีบรักษา ต่อให้ระบบโรงพยาบาลจะมีงานเยอะแค่ไหน นี่คือสิ่งจำเป็นเร่งด่วน ต้องไปรักษาตัวเองก่อน ไม่ใช่ไปรักษาคนอื่นแล้วตนเองตาบอดหรือตาเป็นแผลเป็นตลอดไป กรณีแบบนี้ "ต้องยอมทิ้งงาน" และรักตัวเองก่อน

เฉกเช่นเดียวกัน หากคนไข้เยอะเกินกว่าคนในโรงพยาบาลจะรับไหวในระยะยาว ก็ต้องตัดสินใจกำหนดกฎเกณฑ์ของการให้การดูแลรักษาที่ทำได้จริง และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพตามทรัพยากรจริงที่มี หากฝืนทำไปแบบเตี้ยอุ้มค่อม ปัญหาความผิดพลาดก็จะเพิ่มเป็นเท่าทวีคูณ และมีการฟ้องร้องตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนในสังคมจะได้รับทราบ และปรับตัว ไปรับการดูแลรักษาที่อื่นหากทำได้ หรือปฏิบัติตนในแนวทางอื่นๆ อันสมควรแก่อัตภาพ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา...

พรหมวิหาร 4 เป็นแนวธรรมปฏิบัติเพื่อปกครองและอยู่ร่วมกับผู้อื่น ประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 4 ประการ ได้แก่

เมตตา คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า
กรุณา คือ ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์
มุทิตา คือ ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง ประกอบด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป
อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตาชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน
การใช้ชีวิตของน้องหมอในปัจจุบันและในอนาคตนั้น จำเป็นต้องระลึกถึงปัญหา ทั้งจากระบบ จากคนในสังคม และจากตัวเรา คนอื่นๆ ทั้งนักบริหาร หรือคนในสังคม เค้าไม่มาแยแสอย่างที่เราอยากให้เค้าทำหรอก เพราะเราไม่ใช่ครอบครัวหรือคนที่เค้ารักจริง เวลามีสื่อหรือใครไปบีบให้เค้าแก้ปัญหา อย่างมากก็ออกมาแก้เกี้ยวไปวันสองวัน จากนั้นก็เหมือนเดิม

หมอธีระ เผย 3 เรื่องใหญ่สังคมไทย หลังกรณีหมอลาออกจากราชการ ล่าสุด เช็กยอดแพทย์ไทย ปี 66 ล่าสุด เหลือหมอกี่คน หลังเกิดกระแสหมอจบใหม่ลาออก

กระแสหมอจบใหม่ทยอยลาออก และเคสล่าสุดที่กำลังเป็นประเด็นในโลกโซเชียลกรณี ปุยเมฆ นภสร หรือ หมอปุยเมฆ ที่ได้ตัดสินใจลาออกจากราชการใน รพ.รัฐแห่งหนึ่ง วันนี้ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ เปิดฐานข้อมูล แพทยสภา จำนวนแพทย์ไทยปี 2566 ล่าสุด ซึ่งมีการจำแนกออกเป็นแพทย์ทั้งใน กทม. ต่างจังหวัด และต่างประเทศ รวมถึงช่วงอายุ ตั้งแต่ 20-30 ปี ไปถึงอายุ 70 ปีขึ้นไป ว่าเราเหลือจำนวนแพทย์อยู่กี่คน

ข้อมูล แพทยสภา ณ วันที่ 4 เมษายน 2566 พบว่า มีจำนวนแพทย์ทั้งหมด 72,250 คน แบ่งเป็น ชาย 39,207 คน หญิง 33,043 คน

จากข้อมูลระบุว่า แพทย์ ที่ยังมีชีวิตอยู่จำนวน 68,725 คน แบ่งเป็นชาย 36,401 คน หญิง 32,324 คน นอกจากนี้ยังจำแนกเป็น แพทย์ที่ยังสามารถติดต่อได้จำนวน 66,685 คน เป็นชาย 34,953 คน หญิง 31,732 คน

จำนวนแพทย์ ตามที่อยู่ใน กทม. มีจำนวน 32,198 คน เป็นชาย 17,039 คน หญิง 15,159 คน และ จำนวนแพทย์ ตามที่อยู่ในต่างจังหวัด มีจำนวน 34,487 คน เป็นชาย 17,914 คน หญิง 16,573 คน

จำแนกตามช่วงอายุแพทย์ มีดังนี้

  • อายุ 20-30 ปี จำนวนทั้งหมด 14,174 คน ชาย 6,601 คน หญิง 7,573 คน
  • อายุ 31-40 ปี จำนวนทั้งหมด 21,509 คน ชาย 9,573 คน หญิง 11,936 คน
  • อายุ 41-50 ปี จำนวนทั้งหมด 13,562 คน ชาย 6,553 คน หญิง 7,009 คน
  • อายุ 51-60 ปี จำนวนทั้งหมด 7,789  คน ชาย 5,130 คน หญิง 2,659 คน
  • อายุ 61-70 ปี จำนวนทั้งหมด 5,422 คน ชาย 4,186 คน หญิง 1,236 คน
  • อายุ 70 ปขึ้นไป จำนวนทั้งหมด 4,229 คน ชาย 2,910 คน หญิง 1,319 คน 

แพทย์ที่อยู่ต่างประเทศ จำนวนทั้งหมด 434 คน ชาย 359 คน หญิง 75 คน นอกจากนี้ยังมีจำนวน แพทย์ขาดการติดต่อ 1,606 คน ชาย 1,089 คน หญิง 517 คน

มีแพทย์ถูกเพิกถอนใบอนุญาต 22 คน ชาย 19 คน หญิง 3 คน และจำนวนแพทย์ที่เสียชีวิตแล้ว จำนวน 3,503 คน ชาย 2,787 คน หญิง 716 คน

ทั้งนี้ จากประเด็นในโลกโซเชียลกรณี ปุยเมฆ นภสร หรือ "หมอปุยเมฆ" ที่ได้ตัดสินใจลาออกจากราชการใน รพ.รัฐ แห่งหนึ่ง ปัจจัยหลักๆที่ทำให้ตัดสินใจลาออก คือปริมาณงานใน รพ.รัฐ ที่มากเกินไปและไม่แฟร์กับคนทำงาน รวมถึงส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งทางกายและสุขภาพจิต 

ซึ่งในเวลาทวิตฯ เรื่องการลาออกของ หมอปุยเมฆ ได้ถูกลบออกไป ซึ่งเธอได้ให้เหตุผลที่ลบเนื่องจากเรื่องที่เธอแชร์นั้นไปกระทบกับเพื่อนผู้ร่วมงานบางคน แต่เธอยืนยันว่า เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่ที่ได้ทำงานด้วยหลายคนน่ารัก แต่สิ่งที่เป็นปัญหา คือ ระบบการทำงาน ส่งผลให้คนทำงานข้างในนั้นต้องเหนื่อยกันมากๆ 

เรื่องนี้หลังเป็นประเด็นขึ้นมา คุณหมอและพยาบาล เข้ามาตอบกลับให้กำลังใจและต่างแชร์ประสบการณ์การทำงานใน รพ.รัฐ หลายคนก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่ามันหนักจริงๆ

ต่อมา เพจดัง "Doctor กล้วย" ก็ได้โพสต์ข้อความระบุว่า

"ปีนี้แพทย์ทันตแพทย์จบใหม่ ลาออกกันแบบสมองไหลเลย เกิดอะไรขึ้นมาคุยกันหน่อยดิ" พร้อมระบุต่อว่า "ทันตแพทย์ขนาดรับน้อยกว่าจำนวนที่จบ 3 เท่าตัว ยังออกกันจนจำนวนบรรจุเหลือเลย" ซึ่งโพสต์นี้ได้เปิดให้ผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นซึ่งมีทั้งคนที่เป็นทันตแพทย์จบใหม่ที่ลาออกไปแล้ว หรือคนที่กำลังมีความคิดว่าจะลาออก ต่างเข้ามาคอมเมนต์ชี้ถึงปัญหา และสาเหตุที่ลาออกหรือมีความคิดที่จะลาออก เช่น เนื้องานไม่ตรงตามคุณสมบัติตอนรับสมัคร บางคนบอกว่าเคยรับเคสถอน 16 เคส ภายในเวลา 3 ชั่วโมง รพ.รัฐ ฯลฯ

ด้านเพจ สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ได้โพสต์เรื่องราวของหมอท่านหนึ่ง ที่ต้องโหมงานหนักจนประสบอุบัติเหตุรถชน เธอเล่าปัญหาว่า การทำงานเป็น staff แผนกหนึ่งใน รพ. แห่งหนึ่ง เธอลงเวรไปไม่ได้นอน แล้วตอนเช้าต้องขับรถไปประชุมต่างจังหวัด รถคว่ำ เข้า รพ. 

ซึ่งปัญหาการทำงานคือ มีภาระงานอื่นๆมากเกิน และกินเวลาตรวจรักษาผู้ป่วย และสอน intern 1 ซึ่งควรได้รับการเพิ่มพูนทักษะอย่างเต็มที่ เธอเล่าต่อว่า ไม่เคยรับประทานอาหารเช้าตั้งแต่เรียนจบเฉพาะทางมา น้ำหนักลดจาก 42 เหลือ 36.5 กก. และความทุกข์อื่นๆอีกมากมาย

หมอธีระ เผย 3 เรื่องใหญ่สังคมไทย หลังกรณีหมอลาออกจากราชการ

ขณะที่ ทวิตเตอร์ NursesConnect ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ พยาบาลวิชาชีพ ที่คาดว่าจะมีในระหว่างปี 2560 - 2580 พบว่า ประเทศไทยผลิตพยาบาลได้ปีละ 10,000 แต่สูญเสียพยาบาลออกจากระบบปีละ 7,000 คน และพยาบาลจบใหม่ลาออกหลังจากทำงานได้ 1 ปี ถึง 48% นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมพยาบาลไทยไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วย

กระแสร้อนเที่ยวล่าสุด!!

แพทย์โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในโคราช เผยปัญหาแพทย์ลาออกส่วนใหญ่เกิดกับโรงพยาบาลขนาดกลาง-เล็ก จี้ต้องแก้ปัญหาทั้งระบบ

จากกรณีมีประเด็นร้อนในวงการแพทย์ เมื่อนักแสดงสาว ปุยเมฆ นภสร หรือ พญ.นภสร วีระยุทธวิไล ยื่นใบลาออก โดยบอกเหตุผลว่าส่วนหนึ่งมาจากระบบของโรงพยาบาลรัฐที่มีคนไข้จำนวนมาก และหมอไม่ได้พักผ่อน รวมถึงปัญหาที่ซ่อนอยู่ใต้พรมมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้คนวงการแพทย์ ระบุว่า แพทย์ฝึกหัดต้องทำงาน 80-100 ชั่วโมง/สัปดาห์ อยู่เวรในโรงพยาบาลติดกัน 1-3 วัน ประกอบกับระบบราชการทำให้แพทย์รุ่นใหม่กว่า 50% ตัดสินใจยื่นใบลาออก ไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน

 6 มิถุนายน 2566 นายแพทย์ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาเรื้อรังมานานแล้ว ซึ่งถ้าไปถามแพทย์ระดับผู้บริหารโรงพยาบาลต่าง ๆ ก็จะได้รับอีกคำตอบแบบกลาง ๆ เพราะจะมีผลกระทบกับตำแหน่งหน้าที่ แต่ถ้าไปถามแพทย์ระดับปฏิบัติงาน จะรู้ว่าปัญหาเหล่านี้มีอยู่จริง และมีมานานแล้วด้วย เรื่องค่าตอบแทนหรือเงินเดือนน้อย เป็นเพียงปัญหาส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาอื่นเข้ามาสมทบอีกมากมาย เช่นแพทย์ใหม่ที่เข้ามาทำงานช่วง 1-2 ปีแรก จะต้องอยู่เวรติดต่อกันหลายวันมาก

ซึ่งเขาจะต้องรับความกดดันทั้งจากการทำงานหนัก และจากการต้องแบกรับภาระดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก ไม่รู้จะไปปรึกษาใครได้ เมื่อความกดดันเหล่านี้สั่งสมนานวันเข้า ก็ทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนต้องตัดสินใจลาออกในที่สุด ซึ่งปัญหาลักษณะนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นในโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ประจำจังหวัดนัก เพราะโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ จะมีระบบแพทย์พี่เลี้ยง คอยให้คำปรึกษาและแนะนำแพทย์รุ่นน้องอย่างใกล้ชิด

แต่จะมีปัญหากับโรงพยาบาลขนาดกลาง และขนาดเล็ก ประจำอำเภอรอบนอก ซึ่งมีช่องว่างระหว่างแพทย์อาวุโส กับแพทย์ใหม่อยู่มาก เพราะแพทย์รุ่นกลางๆ และรุ่นใหม่ มีการลาออกต่อเนื่อง และแพทย์ที่เพิ่งจบใหม่ ก็ต้องไปทำงานแทนตำแหน่งแพทย์ที่ลาออกทุกปี ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่มีเฉพาะกับแพทย์เท่านั้น แต่เป็นปัญหากับทุกแผนก เพราะโรงพยาบาลจะเป็นที่ทำงานของสหวิชาชีพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล เจ้าหน้าที่ห้องแลป และเภสัชกร เป็นต้น
ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกันหมด ถ้าแก้ปัญหาเฉพาะการเพิ่มเงินให้กับแพทย์อย่างเดียว ก็จะทำให้แผนกอื่นมองว่า แล้วพวกตนไม่มีชีวิตจิตใจหรือ ก็จะเกิดการลุกฮือมาเรียกร้องจากแผนกอื่น ๆ ตามมาอีก ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ต้องแก้ทั้งระบบ ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาลและคงจะแก้ไขไม่ได้ในปีเดียวแน่นอน
หมอธีระ เผย 3 เรื่องใหญ่สังคมไทย หลังกรณีหมอลาออกจากราชการ  
ข้อมูลประกอบจาก : แพทยสภา

เพจ "Doctor กล้วย"

เพจ สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน

ทวิตเตอร์ NursesConnect

logoline