ประกาศ กรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุไซโคลน “โมคา” คาดมีผลกระทบถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ฉบับที่ 3 (141/2566) เมื่อเวลา 10.00 น.ของวันนี้ (11 พ.ค. 66) พายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลน “โมคา” แล้ว
โดยเมื่อเวลา 16.00 น. มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 11.2 องศาเหนือ ลองจิจูด 87.8 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 75 กม./ชม. พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือค่อนทางตะวันตกเล็กน้อยอย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเมียนมาในช่วงวันที่ 14-15 พ.ค. 66 ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 11-15 พ.ค. 66 ประเทศไทยจะมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 3 เมตร และมีแนวโน้มจะมีกำลังแรงขึ้นในวันที่ 14-15 พ.ค. 66 ทำให้บริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 16 พ.ค. 66
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่ เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ประกาศ ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 เวลา 17.00 น.
กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 เวลา 05.00 น.
(ลงชื่อ) ชมภารี ชมภูรัตน์
(นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์)
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า พายุไซโคลน 'โมคา' ลูกแรกของปีนี้ กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเบงกอล คาดว่าจะขึ้นฝั่งในวันอาทิตย์บริเวณแนวชายแดนบังกลาเทศ-เมียนมา ตามรายงานของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของอินเดีย โดยพายุดังกล่าวมีกำลังลมแรงถึง 145 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง
สำนักงานฯ คาดการณ์ว่า
พายุจะทำให้เกิดคลื่นในทะเลสูงระหว่าง 1.5-2 เมตร บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ลุ่มต่ำ ซึ่งทางฝั่งบังกลาเทศเป็นที่ตั้งของค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาหลายแสนคน
อามาดุล ฮาเก ผู้อำนวยการโครงการเตรียมความพร้อมรับมือพายุไซโคลนของบังกลาเทศ กล่าวว่า พวกเขาส่งอาสาสมัคร 8,600 คนไปประจำการในเมืองชายทะเลคอกซ์ บาซาร์ และอาสาสมัครอีก 3,400 คนไปประจำการในค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา
"นอกจากพื้นที่ชายฝั่งแล้ว เรายังกังวลอย่างมากกับผู้คนที่อาศัยอยู่บนเนินเขา เนื่องจากพายุไซโคลนจะทำให้เกิดฝนตกหนัก และอาจทำให้เกิดดินถล่มได้" ฮาเกเผย
รายงานล่าสุด ทางการบังคลาเทศ ประกาศสั่งห้ามไม่ให้เรือประมงเข้าไปในบริเวณพื้นที่ทะเลลึก
ขณะที่ทางการเมียนมา เริ่มมีการสั่งอพยพประชาชนในรัฐยะไข่ไปยังจังหวัดซิตตเว เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับพายุ
พายุไซโคลน ซึ่งเทียบเท่ากับพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือหรือพายุไต้ฝุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ มีความรุนแรงที่อาจก่ออันตรายถึงชีวิต และมักเกิดขึ้นเป็นประจำบริเวณชายฝั่งทางตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดียซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่หลายสิบล้านคน
บังกลาเทศถูกพายุใหญ่พัดถล่มครั้งล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนปี 2550 เมื่อพายุไซโคลนซิดร์พัดถล่มทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ คร่าชีวิตผู้คนกว่า 3,000 คน และสร้างความเสียหายมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย
18:00 น. วันนี้ ถึง 18:00 น. วันพรุ่งนี้
ภาคเหนือ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาคกลาง
ภาคตะวันออก
ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)
ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)
กรุงเทพและปริมณฑล
ออกประกาศ 11 พฤษภาคม 2566
เช็กตรงนี้ >> พิกัดพื้นที่เสี่ยงภัย
คาดหมายอากาศรายภาค
ระหว่างวันที่ 11 – 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
ภาคเหนือ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาคกลาง
ภาคตะวันออก
ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)
ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)
กรุงเทพและปริมณฑล
ขอขอบคุณที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา