svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กวาดล้าง "ต่างชาติ" แย่งอาชีพคนไทย หวั่นฉุดภาพลักษณ์ประเทศ

19 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นายกฯ สั่งกวาดล้างต่างชาติแย่งอาชีพคนไทย ตั้ง"นอมินี" ทำธุรกิจ หวั่นเกิดปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ-ทำลายภาพลักษณ์ประเทศ

เด้งรับลูกนายกรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”  กันแบบรัว ๆ หลังนายกสั่งให้ฯ กระทรวงแรงงานบริหารจัดการแรงงานต่างชาติในประเทศไทยอย่างรอบคอบ  ด้วยการนำกฎหมายมาบังคับใช้อย่างอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างชาติที่แย่งอาชีพคนไทยกันดาษดื่น แบบไม่กลัวความผิดทางกฎหมายในปัจจุบัน

โดย
 “นายสุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงานออกโรงชี้แจงว่า ไม่ได้นิ่งนอนในในเรื่องนี้ ได้ให้ให้กรมการจัดหางานติดตามตรวจสอบและดำเนินคดีแรงงานต่างชาติที่ทำงาน ผิดกฎหมายหรือแย่งอาชีพคนไทยอย่างใกล้ชิด เห็นได้จากข้อมูลตั้งแต่ 1 ต.ค.65 - 13 ก.พ. 66 มีการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างชาติทั่วประเทศจำนวน 14,104 แห่ง

ดำเนินคดี 500 แห่ง และตรวจสอบ คนต่างชาติ จำนวน 196,402 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 145,764 คน กัมพูชา 32,916 คน ลาว 10,181 คน เวียดนาม 103 คน และสัญชาติอื่น ๆ 7,438 คน มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 1,143 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 629 คน กัมพูชา 175 คน ลาว 187 คน เวียดนาม 49 คน และสัญชาติอื่น ๆ 103 คน

ซึ่งจากตรวจพบต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย 600 คน แบ่งเป็นสัญชาติเมียนมา 264 คน กัมพูชา 121 คน   ลาว 97 คน เวียดนาม 39 คน อินเดีย 51 คน และสัญชาติอื่น ๆ 28 คน โดยอาชีพที่พบคนต่างชาติแย่งอาชีพมากที่สุด ได้แก่ งานเร่ขายสินค้า งานตัดผม งานขับขี่ยานพาหนะ และงานนวด  

ขณะที่พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของ คนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ระบุว่า คนต่างด้าวที่ทำงาน โดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือสิทธิที่จะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 - 50,000 บาท  

นายจ้าง สถานประกอบการ ที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มี ใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 - 100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 - 200,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

ทั้งนี้หากย้อนดูประกาศของกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ มีทั้งสิ้น 40 งาน เป็นงานห้าม คนต่างด้าวทำเด็ดขาด 27 งาน ตามบัญชีที่ 1 ได้แก่ 1. งานแกะสลักไม้  2. งานขับขี่ยานยนต์ ยกเว้นงานขับรถยก (Forklift) 3. งานขายทอดตลาด

4. งานเจียระไนเพชร พลอย 5. งานตัดผม เสริมสวย 6. งานทอผ้าด้วยมือ 7. งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ฟาง ไม้ไผ่ ขนไก่ เส้นใย ฯลฯ 8. งานทำกระดาษสาด้วยมือ 9. งานทำเครื่องเขิน

10. งานทำเครื่องดนตรีไทย 11. งานทำเครื่องถม 12. งาน ทำเครื่องทอง/เงิน/นาก 13. งานทำเครื่องลงหิน 14. งาน ทำตุ๊กตาไทย 15. งานทำบาตร 16. งานทำผ้าไหมด้วยมือ 17. งานทำพระพุทธรูป 18. ทำร่มกระดาษ-ผ้า

19. งานนายหน้า-ตัวแทน 20. งานนวดไทย 21. งานมวนบุหรี่ 22. งานมัคคุเทศก์ 23. งานเร่ขายสินค้า 24. งานเรียงอักษร    25. งานสาวบิดเกลียวไหม 26. งานเลขานุการ และ 27. งานบริการทางกฎหมาย

สำหรับงานที่ให้คนต่างด้าวทำได้โดยมีเงื่อนไข 13 งาน ตามบัญชีที่ 2 ได้แก่ วิชาชีพบัญชี วิชาชีพวิศวกรรม วิชาชีพสถาปัตยกรรม โดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งต้องเป็นคนต่างด้าวของประเทศที่มีข้อตกลงกับประเทศไทยเท่านั้น จึงจะสามารถทำได้

บัญชีที่ 3 ได้แก่ 1. งานกสิกรรม 2. งานช่างก่ออิฐ-ช่างไม้-ช่างก่อสร้างอาคาร 3. งานทำที่นอน 4. งานทำมีด 5. งานทำรองเท้า 6. งานทำหมวก 7. งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย 8. งานปั้นเครื่องดินเผาโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง

ส่วนบัญชีที่ 4  ประกอดบด้วย งานกรรมกร และงานขายของหน้าร้าน โดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MOU)

นอกจากนี้พบว่าปัญหายังไม่หมดเพียงเท่านี้  ยังมีกลุ่มคนต่างชาติใช้ "นอมินี" คนไทยเป็นเจ้าของกิจการ แต่การประกอบธุรกิจจริงเป็นคนต่างชาติลงทุน ธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น นวดสปา ธุรกิจรถทัวร์ โรงแรม ที่พัก อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะมีปัญหานอมินีมากที่สุด 

ซึ่งปัจจุบันพบว่าปัญหานอมินีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ประกอบกับการเปิดประเทศของจีนทำให้มีปริมาณนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยจำนวนมากขึ้น 

ทำให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้านั่งไม่ติดต้องปูพรมเร่งตรวจสอบบริษัทจำนวน 200 แห่ง ที่มีความเสี่ยงเข้าข่ายนอมินี ใน 4 พื้นที่เป้าหมายในกรุงเทพมหานคร คือ ห้วยขวาง เยาวราช สัมพันธวงศ์ และรัชดา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งที่ตั้งของธุรกิจร้านอาหาร โรงแรมที่พัก ธุรกิจนวด สปาอย่างเร่งด่วน

พร้อมทำหนังสือขอตรวจสอบข้อมูลด้านต่าง ๆ จากบริษัท เช่น การตรวจสอบเอกสารการจดทะเบียนและบัญชีการการทำธุรกิจ ว่าขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ข้อมูลงบการเงิน โดยจะให้เวลาในการส่งข้อมูลชี้แจงภายใน 15 วัน ซึ่งต้องรอดูว่าผลจะออกมาหัวหรือก้อย

 แต่ที่แน่ ๆ ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่า คนไทยให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เพื่อให้คนต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมาย คนไทยที่ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในลักษณะนอมินี รวมทั้ง กรรมการบริษัทก็ต้องรับผิดด้วย โดยมีความผิดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 - 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000 - 50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน

ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ถือว่าเป็นปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานแล้ว ถึงเวลาที่รัฐจะเอาจริงเอาจังใช้กฏหมายเข้ามาจัดการสักที โดยเฉพาะต่างชาติแฝงตัวเข้ามาทำธุรกิจผิดกฏหมาย หรือทุนสีเทา โดยใช้ไทยเป็นแหล่งฟอกเงิน และเข้ามาแย่งทำธุรกิจของคนไทย  เพราะหากปล่อยปะละเลยจะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายและอาจเกิดปัญหาอาชาญากรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นบ่อนทำลายโครงสร้างสังคม ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐก็เป็นได้  

กวาดล้าง \"ต่างชาติ\" แย่งอาชีพคนไทย  หวั่นฉุดภาพลักษณ์ประเทศ

 

 

 

logoline