เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
อีกหนึ่งข่าวเศร้าของประเทศไทยกับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ ‘นุกูล ประจวบเหมาะ’ วัย 93 ปี ในช่วงเช้าของวันที่ 5 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา
โดย นุกูล เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คนที่ 13 เป็นคลังสมองทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่ ประเทศชาติยากจน แต่ก็นำพาจนฝ่าวิกฤตดังกล่าวมาได้
"นุกูล" เคยให้สัมภาษณ์ผ่านนิตยสาร ‘พระสยาม’ ของธปท.ในปี 2556 ไว้ว่า
“ผมเป็นผู้ว่าการในช่วงที่ประเทศชาติยากจน ธปท. ก็ร่อแร่ ข้างในก็มีปัญหาบริษัทเงินทุน มีปัญหาเงินเฟ้อ เงินฝืด เกิดพร้อมๆ กัน ทั้งๆ ที่ปกติไม่ค่อยเกิดแบบนี้ เพราะช่วงนั้นดอกเบี้ยต่างประเทศสูง ดอกเบี้ยในประเทศต่ำ เงินก็ไหลออกนอกประเทศ และปัญหาใหญ่ประการหนึ่ง คือ ทุนสำรองระหว่างประเทศมีจำนวนจำกัด ไม่ได้อู้ฟู่เหมือนปัจจุบัน
ตอนนั้นทุนสำรองฯ มีเพียง 3 พันกว่าล้านดอลลาร์ เป็นเงินชำระสินค้าและค่าบริการได้แค่ 300-400 ล้านดอลลาร์ นอกนั้นเป็นพันธบัตร ทองคำ และเงินตราต่างประเทศ ซึ่งไม่อาจใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการได้ ทำให้ ธปท. ต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ ต่างประเทศเป็นครั้งแรก
“นอกจากนี้ยังมีปัญหาบริษัทเงินทุน ธนาคารพาณิชย์ ที่มีฐานะง่อนแง่น เช่น เอเชียทรัสต์ที่ ธปท. ต้องเข้าไปเทกโอเวอร์ บริษัทเงินทุนที่ต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ เวลาหาทุนต้องกระเบียดกระเสียด ดูให้รอบคอบ มีปัญหาตลอดเวลา หมดปัญหาเก่าก็มีปัญหาใหม่เข้ามา แก้ไขไปทีละขั้นตอน อย่างน้อยก็ทำให้เสถียรภาพทางการเงินดีขึ้น เงินเฟ้อที่สูงเกือบ 20% ลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละหนึ่งเมื่อผมออกจากธนาคาร”
ย้อนวันวาน
ประวัติ นุกูล ประจวบเหมาะ
นายนุกูล ประจวบเหมาะ เกิดวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2472 เป็นชาวจังหวัดประจวบคิรีขันธ์ ศึกษามัธยม 1 ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ จากนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง จึงเดินทางกลับมาเรียนหนังสือต่อที่บ้านเกิด
"นุกูล" เกิดในครอบครัวคหบดี ก่อนจะกลายเป็นนักเรียนไทยรุ่นแรกที่ออสเตรเลีย หลังจบปริญญาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเมล์เบิร์น ก็เข้ารับราชการที่กองเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ตามคำชักชวนของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์
นุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงแก่กรรมแล้ว ศิริอายุ 93ปี ญาติตั้งศพศาลาพิชานันท์ วัดธาตุทอง สวดพระอภิธรรม 6-12ก.พ.2566 เผยเป็นผู้เข้าตรวจสอบทุจริตโฮปเวลล์ รถไฟฟ้าลาวาลิน กระทั่งถูกสั่งยกเลิก
ประวัติการศึกษา
พ.ศ. 2490 มัธยมศึกษา โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
พ.ศ. 2495 ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเมลเบอร์น ประเทศออสเตรเลีย
พ.ศ. 2499 ปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยยอร์จ วอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา
เส้นทางการทำงาน
หลังจากจบปริญญาตรีเมื่อ พ.ศ. 2496 นุกูล ประจวบเหมาะ ได้เข้ารับราชการที่กองเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง โดยการชักชวนของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการคลัง กระทรวงการคลัง และได้รับคัดเลือกไปฝึกงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และกลับมาทำงานที่ กรมบัญชีกลาง
จากนั้นได้ไปทำงานตำแหน่ง ที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงวอชิงตัน และได้พบกับภรรยา คือ เจนจิรา วิกิตเศรษฐ และสมรสกันเมื่อ เดือนกันยายน พ.ศ. 2505
นุกูล ประจวบเหมาะ เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2507 และได้รับตำแหน่งรองอธิบดีกรมทางหลวง มีหน้าที่บริหารงานติดต่อและบริหารเงินกู้จากธนาคารโลก ต่อมา พ.ศ. 2517 ย้ายกลับมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา กระทรวงการคลัง
ก่อนถูกย้ายไปเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2518 เพื่อแก้ปัญหาพนักงานโรงกษาปณ์ประท้วงหยุดงาน และย้ายไปเป็นอธิบดีกรมสรรพากร เมื่อเดือนกันยายน ปีเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหารัฐไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้า และย้ายไปเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลาง เมื่อ พ.ศ. 2521
นุกูล ประจวบเหมาะ ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แทนนายเสนาะ อูนากูล ที่ลาออกจากตำแหน่งด้วยปัญหาสุขภาพ โดยการเสนอชื่อโดยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2522
ก่อนจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ เดือนกันยายน พ.ศ. 2527 เนื่องจากขัดแย้งกับนายสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และการลดค่าเงินบาท ในสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
หลังจากพ้นจากตำแหน่งในธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ทำงานในบริษัทเอกชน คือ บริษัท สยามกลการ ซึ่งกำลังประสบปัญหาการขาดทุน ระหว่าง พ.ศ. 2529 - 2531
เส้นทางชีวิต-ประวัติการทำงาน
งานการเมือง
หลังปลดเกษียณอายุแล้ว นุกูล ประจวบเหมาะ ได้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน 2 สมัย ระหว่าง พ.ศ. 2534 - 2535 และเป็นผู้เข้ามาตรวจสอบการทุจริตในสัญญาโครงการโฮปเวลล์ และรถไฟฟ้าลาวาลิน จนกระทั่งสั่งยกเลิกสัญญาโครงการดังกล่าว
ชีวิตที่คุ้มค่า ของ นุกูล ประจวบเหมาะ แบบฉบับของข้าราชการตัวอย่าง
ย้อนไปเมื่อ 11 เมษายน 2555 เพื่อยกย่องและเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ชีวิตและการทำงานที่ซื่อสัตย์ต่อตนเองและบ้านเมือง บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด จึงจัดพิมพ์หนังสือ “ชีวิตที่คุ้มค่า” อัตชีวประวัติของ นุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ฉบับ สมบูรณ์ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยในงานเปิดตัวมี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธาน พร้อมกับเชิญเพื่อนๆคุณนุกูล มาร่วมเสวนา ในหัวข้อ “เพื่อนเก่าเล่าวีรกรรม” ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อเร็วๆนี้
ภายในงาน นายอานันท์ กล่าวถึงตัวเขาและนายนุกูลเป็นเพื่อนกันมา 40-50 ปี เติบโตมาในชีวิตราชการคนละกระทรวง ได้พบกันครั้งแรกตอนเรียนหนังสือที่ประเทศอังกฤษ และมีเพื่อนขอให้พาผู้ที่เธอนับถือและสนิทไปเที่ยวที่อังกฤษ ก่อนที่จะไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา เห็นหน้าครั้งแรกไม่ค่อยศรัทธาเท่าไหร่ ความที่คุณนุกูลมีหน้าตาค่อนข้างหยิ่ง ไม่ค่อยเป็นกันเอง ความสัมพันธ์ส่วนตัวเริ่มเพิ่มขึ้นเมื่อมาเป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกัน
ทั้ง ดร.เสนาะ อูนากูล และ ดร.อำนวย วีรวรรณ ซึ่งอยู่กระทรวงการคลัง ทั้งนั้น และพอตนได้เป็นนายกฯ คนแรกที่นึกถึง คือ ดร.เสนาะ ส่วนคุณนุกูลเป็นคนต่อมา ที่ชวนคุณนุกูลมาร่วมรัฐบาลด้วยเหตุผลเดียวกับ ดร.เสนาะ คือ ความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน และอย่างที่สองคือ พูดกันรู้เรื่อง ไม่จำเป็นต้องมีความ เห็นตรงกัน แต่อย่างน้อยฟังคนเป็น ไม่หลงตัวเอง คุณนุกูลเป็นคนทำงานตรงไปตรงมา หนังสือเล่มนี้ จำได้ว่าเขียนมา 15 ปีแล้ว เพิ่งมาพิมพ์ครั้งที่ 2 ได้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของข้าราชการที่ยึดถือความถูกต้อง มีจริยธรรม และความชอบธรรม เป็นข้าราชการและผู้บริหาร ตัวอย่างที่คนรุ่นหลังสามารถ ยึดเป็นแบบฉบับได้
เรื่องเล่าจากอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน
เรียกว่า อีกหนึ่งความลับ ที่แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองไทย 2 คนที่เป็นเพื่อนซี้ปึ๊กกันอย่าง อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัยและนุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติและอดีต รมว.คมนาคม 2 สมัย แต่เดิมนั้นเคยทั้งคู่มีอาการ “ศรศิลป์ไม่กินกัน” มาก่อน
เรื่องนี้ถูกเปิดเผยจากปากของอดีตนายกอานันท์ เองในวันที่ได้รับเชิญไปเป็นประธานเปิดตัวหนังสือ “ ชีวิตที่คุ้มค่า ฉบับสมบูรณ์” อัตชีวประวัติของ นุกูล ประจวบเหมาะ ซึ่งท่านอานันท์ ปันยารชุน ได้เล่าย้อนถึง เรื่องราวก่อนที่จะมาพบและสนิทสนมกับนุกูลอย่างทุกวันนี้ แท้จริงแล้ววินาทีแรกที่ทั้งคู่ได้มาเจอกันครั้งแรก ท่านอานันท์ บอกกับตัวเองในใจเลยว่า หากเป็นไปได้ขอไม่เสวนากับคนที่อยู่ตรงหน้าเด็ดขาด เพราะคนอะไร “หน้าตาช่างไม่รับแขกเอาซะเลย” ทว่าด้วยมารยาทจึงจำเป็นต้องพูดคุยกัน
แต่เพียงแค่ครั้งแรกที่ทั้งคู่ได้สนทนากันก็ทำให้ท่านอานันท์ถึงกับต้องเปลี่ยนใจ เพราะมองเห็นถึงความตรงไปตรงมา และความจริงใจของ “ชายหน้าบึ้ง” ที่อยู่ข้างหน้า ทำให้จากวันนั้นเป็นต้นมา มิตรภาพของทั้งคู่ก็เริ่มเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ ขนาดที่ท่านอานันท์ต้องเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมตรีถึง 2 ครั้ง ก็ยังไม่ลืมที่จะโทรศัพท์ด้วยตัวเองไปชวนเพื่อนซี้คนนี้มาดำรงตำหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมด้วย
บทบาทในภาคเอกชน
หลังโบกมือลาชีวิตข้าราชการในเดือนกันยายน 2527 คุณนุกูลเริ่มชีวิตการทำงานในภาคเอกชน ที่บริษัท สยามกลการ จำกัด โดยได้รับคำเชิญจากคุณถาวร พรประภา ให้มาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร เพื่อแก้ไขภาวะขาดทุนของบริษัท จนกระทั่งสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์วิกฤตให้กลับมาสดใสได้ ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี 5 เดือน
“จะล้มมิล้มแหล่ หนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อตั้งใจจะทำอะไรแล้ว ก็ต้องทำให้ดี แค่ปีกว่า ๆ ก็เห็นผลแล้ว จากขาดทุนร่วมพันล้าน ในปีนั้นได้กำไรกว่า 200 ล้านบาท พนักงานมีขวัญและกำลังใจมากขึ้น ทุกคนดีใจที่ผมสามารถทำให้บริษัทที่กำลังร่อแร่กลับมามีกำไรและยืนหยัดอย่างมั่นคงอย่างไม่ได้คาดหมายมาก่อน”
ภารกิจครั้งสำคัญเพื่อชาติ
“เมื่อออกจาก ธปท.แล้ว ผมก็ไม่คิดว่าจะกลับมามีบทบาทในทางราชการอีก แต่สุดท้ายก็ได้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลคุณอานันท์ ปันยารชุน ระหว่าง พ.ศ. 2534-2535 และทำหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย สัญญาโครงการโฮปเวลล์ การก่อสร้างสายทางต่าง ๆ”
จากนั้นกราฟชีวิตของคุณนุกูลก็เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อกลับมาเป็นประธานกรรมการคณะกรรมการศึกษา และเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ กรณี ธปท.ที่นำประเทศเข้าสู่วิกฤตต้มยำกุ้ง ด้วยการใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหัฐ จนเกือบหมด ทำให้ค่าเงินต้องลดลงรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพื่อวิเคราะห์วิจัยถึงสาเหตุของปัญหา และจัดทำเป็นรายงานประกอบในการศึกษาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งบ้านเรานี่มีคนเขียนเรื่องนี้น้อย ก็เลยทำความผิดซ้ำ ๆ ซาก ๆ กันอยู่
“ผมก็ตั้งใจจะให้คนได้เรียนรู้ ทั้งนักศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกได้ศึกษาว่าครั้งหนึ่งเราเคยประสบปัญหาแบบนี้ ให้เขาระวัง ไม่ให้ประมาท เพราะเฮดจ์ฟันด์ต่างประเทศมีจำนวนมากเหลือเกิน เราควรจะประมาณกำลังของเรา”
ชีวิตที่โลดโผน
“ผมมีกราฟชีวิตที่ผาดโผนขนาดไหนลองคิดดูนะ ผมเป็นรองอธิบดีกรมทางหลวงและผู้อำนวยการโครงการ (Project Directon) สำรวจ ออกแบบและก่อสร้างโครงการทางหลวงที่ใช้เงินกู้จากธนาคารโลก ทั้ง ๆ ที่ผมไม่ได้จบวิศวกรรมใด ๆ มาเลย แต่ก็ทำงานที่กรมทางหลวงกว่า 10 ปี จนเพื่อน ๆ ที่เป็นผู้ว่าการธนาคารชาติประเทศต่าง ๆ เขาพากันเรียกผมเป็น Highway Man ในหนังฝรั่งก็คล้าย ๆ กับโจรที่คอยขี่ม้าตามปล้นผู้โดยสารในรถ
“นอกจากนี้ ยังทำงานที่กรมสรรพากร ซึ่งตำแหน่งหลังนี้เขาพากันเรียกว่าเป็น Tax Collector ใคร ๆ ก็รังเกียจไม่อยากจะคบหาด้วย ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นและเป็นไปด้วยความประจวบเหมาะทั้งสิ้น พอมาเป็นผู้ว่าการ ธปท.ก็เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติอยู่ไม่น้อย แต่ก็ต้องออกแบบไม่สวยนัก ทั้งยังช่วยฟื้นฟูสถานการณ์อันร่อแร่ของสยามกลการเมื่อปี พ.ศ. 2529-2531 ได้กลับมามีกำไรได้ภายในปีเศษ
“จากนั้นคุณอานันท์ ก็ขอตัวให้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลอานันท์ทั้ง 2 ครั้ง ผมลองสังเกตดูว่าแต่ละครั้งที่ผมต้องเปลี่ยนงานใหม่ คือการเข้าไปรับงานในหน่วยงานที่มีปัญหา แม้จะเป็นการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งแต่ก็จัดว่าเป็นทุกขลาภโดยแท้”
ยืนหยัด ซื่อตรง มั่นคงในคุณธรรม
หากเป็นคนทั่วไปที่มีจิตใจหวั่นไหวต่ออำนาจ และความเย้ายวนของผลประโยชน์แล้ว คงไม่สามารถกระทำการใด ๆ ที่หาญกล้าและเที่ยงตรงได้เช่นเดียวกับที่คุณนุกูลได้ทำหน้าที่ในบทบาทต่าง ๆ ที่กล่าวมาอย่างน่าชื่นชมและเอาเยี่ยงอย่าง แม้จะต้องเผชิญกับความกดดันและอุปสรรคนานัปการ แต่คุณนุกูลยึดหลักความถูกต้องและประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ จึงทำให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้ประสบความสำเร็จ และเกียรติภูมิที่สง่างามเช่นนี้
“ผมเจอหลายเหตุการณ์ แต่ละเหตุการณ์ก็หนักหนาสาหัส ตั้งแต่ทำงานมา มันก็สุด ๆ หลายตอน ตอนคัดค้านการสร้างทางสระบุรี-หล่มสัก เป็นการหักดิบความเห็นของผู้บังคับบัญชาในกรมทางหลวง ทำให้ต้องยกเลิกการประมูลที่มีราคางานที่สูงกว่าความเป็นจริง แต่แม้จะไปขัดผลประโยชน์ใครหลายคน แต่สุดท้ายแล้วประเทศชาติได้รับประโยชน์ในการประหยัดค่าใช้จ่าย
“ผมคิดว่าข้าราชการประจำโดยทั่วไป คงไม่มีใครกล้าทำขนาดนั้น เจอปัญหาก็ต้องหาทางแก้ ผมถือว่าผมบริสุทธิ์ทำตามหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ยึดหลักความถูกต้อง ความชอบธรรม เพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมือง แต่ทุกวันนี้ประเทศชาติขาดแคลนบุคลากรที่เป็นคนดี คนมีความรู้ส่วนใหญ่ก็เอาตัวรอดทั้งนั้น ใครมีอำนาจก็เข้าไปประจบประแจง ไปขอตำแหน่ง จะหาคนที่เป็นตัวของตัวเองไม่คำนึงถึงผลประโยชน์หาได้ยาก”
"นุกูล" ใช้ชีวิตช่วงบั้ยปลาย อย่างมีความสุขท่วมท้น ท่ามกลางบรรดาลูกหลานและบ้านสวนกลางเมืองแถบสุขุมวิท 39 และยังคงออกรอบตีกอล์ฟบ้าง รวมถึงยังคงเดินทางไปดูแลสวนมะพร้าว สวนยาง และสวนปาล์มที่บางสะพาน ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมานาน ขณะเดียวกันก็ยังชื่นชอบการไปเที่ยวต่างประเทศกับครอบครัว
นายนุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ถึงแก่กรรมในอายุ 93 ปี ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา โดยทางครอบครัวและญาติ ได้แจ้งพิธีสวดพระอภิธรรม เวลา 18.00 น. ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 6 - 12 กุมภาพันธ์ นี้ ณ ศาลาพิชานันท์ วัดธาตุทอง
ทีมข่าวเนชั่นออนไลน์ และเนชั่นทีวี 22 ขอแสดงความเสียใจมา ณ โอกาสนี้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ธปท. วิกิพีเดีย การเมืองเรื่องลดค่าเงินบาทสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สถาบันพระปกเกล้า