svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กรมอุตุฯ ออกโรงเตือนปลาย ก.พ. 2566 รับมือร้อนตับแล่บได้เลย! 

06 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา  เผยรายงานการคาดการณ์ประเทศไทยเตรียมเข้าสู่ฤดูร้อนในช่วงปลายก.พ. ชี้ ปีนี้หนักกว่าปีก่อนสูงสุด 43 องศา พร้อมเผยในช่วงเม.ย.-พ.ค. 66 ระวังพายุไซโคลน

ทางด้าน นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ฤดูร้อนของประเทศไทยปี 2566 นี้ โดยคาดว่า จะเริ่มในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะช้ากว่าปกติประมาณ 1-2 สัปดาห์ และจะสิ้นสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ลักษณะอากาศจะร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และจะมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมษายน สลับกับจะมีฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลงได้

อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยประเทศไทยตอนบนประมาณ 35.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะใกล้เคียงกับค่าปกติ(ค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส)แต่จะสูงกว่าปีที่แล้ว (ช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ.2565 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34.0 องศาเซลเซียส) และปริมาณฝนรวมเฉลี่ยจะใกล้เคียงค่าปกติ
 

ลักษณะอากาศทั่วไป
บริเวณประเทศไทยตอนบน ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนมีนาคม จะมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในตอนกลางวันกับมีหมอกหนาในหลายพื้นที่ แต่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงแผ่ลงมาปกคลุมตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่จะมีกำลังอ่อนและไม่ต่อเนื่อง จากนั้นจนถึงปลายเดือนเมษายน จะมีอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ อุณหภูมิสูงที่สุด 40 – 43 องศาเซลเซียส และจะเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ โดยจะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมทั้งอาจมีลูกเห็บตกลงในบางแห่ง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลง เนื่องจากจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนเป็นระยะๆ ประกอบกับจะมีตะวันออกเฉียงใต้หรือลมใต้พัดพาความชื้นจากทะเลอ่าวไทยเข้าปกคลุม
กรมอุตุฯ ออกโรงเตือนปลาย ก.พ. 2566 รับมือร้อนตับแล่บได้เลย! 
ส่วนช่วงปลายเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ลักษณะอากาศจะแปรปรวน โดยยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าวหลายพื้นที่ในบางช่วง กับจะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ ทั้งนี้เนื่องจากลมตะวันออกเฉียงใต้ที่หรือลมใต้พัดปกคลุม จะเริ่มเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมแทน

ภาคใต้ ช่วงประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงปลายเดือนเมษายน จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ คลื่นลมทั้งทะเลอ่าวไทยและอันดามันจะมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร ทั้งนี้ เนื่องจาก ลมตะวันออกหรือลมตะวันออกเฉียงใต้จะพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เกือบตลอดช่วง

จากนั้นจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม จะมีฝนตกชุกหนาแน่นเพิ่มขึ้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกจะมีฝนตกร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่กับจะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง 
สำหรับคลื่นลมในทะเลอันดามันจะมีก าลังแรงขึ้น ในบางช่วงจะมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตรส่วนทะเลอ่าวไทยยังคงมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร เนื่องจากลมตะวันออกหรือลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้แทน

ข้อควรระวัง 
ในช่วงฤดูร้อนของทุกปี มักจะเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกบางแห่ง ซึ่งสภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรได้ส่วนปริมาณฝนที่ตกนั้น มีไม่เพียงพอกับความต้องการในหลายพื้นที่ ทั้งด้านอุปโภคและบริโภค รวมทั้งด้านเกษตรกรรมโดยเฉพาะพื้นที่ที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ดังนั้นประชาชนจึงควรใช้น้ำาอย่างประหยัด และให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเตรียมการป้องกันสภาวะดังกล่าว

อัคคีภัยและไฟป่า ในช่วงฤดูร้อนนี้ ลักษณะอากาศจะเอื้ออำนวยต่อการเกิดอัคคีภัยและไฟป่าได้ง่ายประชาชนจึงควรต้องระมัดระวังการใช้เชื้อเพลิงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไว้ด้วย

กรมอุตุฯ ออกโรงเตือนปลาย ก.พ. 2566 รับมือร้อนตับแล่บได้เลย! 
พายุไซโคลน 
ช่วงปลายเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม อาจมีหย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวขึ้นบริเวณทะเลอันดามัน ซึ่งอาจทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชั่นและพายุไซโคลนได้ โดยมีการเคลื่อนตัวทางทิศเหนือค่อนไปทางตะวันออกและอาจเข้าใกล้ด้านตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งทำให้บริเวณด้านตะวันตกของทั้งภาคเหนือและภาคกลางรวมทั้งภาคใต้จะมีฝนเพิ่มมาก อาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

logoline