svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

4 กุมภาพันธ์ วันมะเร็งโลก (World Cancer Day)

04 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันมะเร็งโลก (World Cancer Day) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนทั่วโลก มีความรู้ มีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับโรคมะเร็ง สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็ง หลังจากพบว่ามะเร็งคือแชมป์อันดับ1 ที่คร่าชีวิตคนทั่วโลก

ร่วมทบทวน วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ถือเป็นวันมะเร็งโลก หรือ World Cancer Day นั่นเอง

องค์การอนามัยโลกและ สมาคมต่อต้านมะเร็งสากล กำหนดให้ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น วันมะเร็งโลก (World Cancer Day) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนทั่วโลก มีความรู้ มีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับโรคมะเร็ง สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็ง

หลังจากพบว่ามะเร็งคือแชมป์อันดับ1 ที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปถึงปีละ 7,600,000 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางถึงร้อยละ 70 ของคนทั่วโลก ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์กันไว้ว่าในปี 2573 จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเพิ่มถึง 13 ล้านคนทั่วโลก

4 กุมภาพันธ์ วันมะเร็งโลก (World Cancer Day)

สำหรับในประเทศไทยของเรา "โรคมะเร็ง" เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 1 ในไทย ติดต่อมากว่า 20 ปี  จากสถิติทะเบียนมะเร็งประเทศไทย โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2565 รายงานว่า มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140,000 คน หรือคิดเป็นประมาณ 400 คนต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  โรคมะเร็ง ที่พบมาก 5 อันดับแรกในคนไทย ได้แก่

  • มะเร็งตับและท่อน้ำดี 
  • มะเร็งปอด
  • มะเร็งเต้านม
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่
  • ทวารหนักและมะเร็งปากมดลูก

ผู้ชายป่วยมากที่สุด ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้และทวารหนัก มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งเม็ดเลือดขาว ส่วนในผู้หญิง ได้แก่มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากการใช้ชีวิตแบบคนเมือง นิยมกินแต่เนื้อสัตว์ กินผักผลไม้น้อย ออกกำลังกายน้อย 

4 กุมภาพันธ์ วันมะเร็งโลก (World Cancer Day)

ไขข้อสงสัยคาใจ "มะเร็ง" กับ "เนื้องอก" แตกต่างกันอย่างไร ?

เนื้องอก (tumor) แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

  • เนื้องอกชนิดธรรดา (benign tumor)
  • เนื้องอกชนิดร้าย (malignant tumor)

ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึง "มะเร็ง" มักจะหมายถึง “เนื้องอกชนิดร้าย” ซึ่งก้อนเนื้อดังกล่าวจะเจริญอย่างรวดเร็ว แพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดและหลอดน้ำเหลือง ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ดังนั้น มะเร็งจึงเป็นโรคที่มีอาการรุนแรง เรื้อรัง มีขั้นตอนการรักษาที่ซับซ้อนและใช้เวลานาน

ในขณะที่เนื้องอกมักจะหมายความถึง “เนื้องอกชนิดธรรมดา” คือ มีก้อนเนื้อผิดปกติ แต่เจริญช้า ไม่ลุกลามเข้าสู่เนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง แต่จะกดหรือเบียดเนื้อเยื่ออื่นเมื่อก้อนเนื้อนั้นโตขึ้น ไม่ลุกลามหรือแพร่กระจายทางกระแสเลือดและหลอดน้ำเหลือง สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัด

ตัวเลขผู้ป่วยมะเร็งพุ่งสูงทั่วโลก เกือบครึ่งอยู่ในเอเชีย

องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) เปิดเผยรายงานประจำปีฉบับล่าสุด ซึ่งชี้ว่าจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 18.1 ล้านคนทั่วโลกภายในช่วงสิ้นปี 2018 และจะทำให้มียอดผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งพุ่งสูงถึง 9.6 ล้านคนก่อนสิ้นปีนี้เช่นกัน

ตัวเลขดังกล่าวนับว่าเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับสถิติของปี 2012 ที่มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 14.1 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิต 8.2 ล้านคน ซึ่งนักวิจัยคาดว่าแนวโน้มนี้มีสาเหตุมาจากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนของประชากรสูงวัยมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

การคาดการณ์ตามสถิติล่าสุดชี้ว่า มีโอกาสที่ผู้ชาย 1 ใน 5 คน และผู้หญิง 1 ใน 6 คน จะล้มป่วยเป็นโรคมะเร็งอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต โดยสาเหตุของมะเร็งมาจากวิถีการดำเนินชีวิตในสังคมที่มีความมั่งคั่งมากขึ้น ยิ่งกว่าที่จะเกี่ยวข้องกับสาเหตุเรื่องความยากจนดังเช่นก่อนหน้านี้
 

4 กุมภาพันธ์ วันมะเร็งโลก (World Cancer Day)

ผลการศึกษาดังกล่าวมาจากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลโรคมะเร็ง 36 ชนิด ใน 185 ประเทศทั่วโลก โดยผู้วิจัยระบุว่าปัจจุบันวิธีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งได้พัฒนาขึ้นมามาก ซึ่งก็ทำให้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่าจำนวนผู้ป่วยใหม่และผู้เสียชีวิตนั้นพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี

เกือบครึ่งของจำนวนผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกอยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งจำนวนมากที่สุดของโลกในปีนี้ โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีประชากรมาก ทั้งยังมีมาตรการป้องกันและวินิจฉัยโรคมะเร็งไม่ดีพอ เช่นจีนมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งตับสูงมาก แต่คุณภาพการตรวจคัดกรองโรคยังไม่ดีนัก

สำหรับ มะเร็งชนิดที่มีผู้ป่วยมากที่สุดและทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยมะเร็งทั้งสามชนิดนี้คิดเป็น 1 ใน 3 ของกรณีที่มีการตรวจพบทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งปอดนั้น ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่สูงที่สุดของผู้หญิงใน 28 ประเทศ เช่น สหรัฐฯ จีน ฮังการี เดนมาร์ก และนิวซีแลนด์

นายจอร์จ บัตเทอร์เวิร์ธ ผู้บริหารองค์กรการกุศลเพื่อการวิจัยมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักร (Cancer Research UK) เผยว่า

“บุหรี่คือสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงทั่วโลกเป็นมะเร็งปอดกันมากขึ้นชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เนื่องจากบุหรี่เป็นที่นิยมของผู้หญิงในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลางมากขึ้น หลังผู้ผลิตโหมทำการตลาดเจาะกลุ่มผู้หญิงโดยเฉพาะ”

 

อีกหนึ่งบทความที่น่าสนใจ โดยทาง รศ. พญ.ธัญนันท์ ใบสมุทร (เรืองเวทย์วัฒนา) สาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ขอหยิบยกนำบทความดีๆ ทรงคุณค่านำมาเผยแพร่ให้คอข่าวเนชั่นออนไลน์ได้อ่านกันตรงนี้ ในช่วง "วันมะเร็งโลก" 4 กุมภาพันธ์ 2566 วันนี้ 

4 กุมภาพันธ์ วันมะเร็งโลก (World Cancer Day)
โรคมะเร็งปอด รักษาได้ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

โรคมะเร็งปอด หนึ่งในสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ สำหรับประเทศไทยนับว่าเป็น 1 ใน 5 ของโรคมะเร็งที่พบมากที่สุด และยังมีจำนวนผู้ป่วยใหม่ด้วยโรคมะเร็งปอดในแต่ละปีสูงมาก ผู้ป่วยส่วนมากจะได้รับการวินิจฉัยและรักษาเมื่ออยู่ในระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ของโรค เนื่องจากผู้ป้วยบางรายที่เป็นระยะแรกของมะเร็งปอดอาจจะไม่มีอาการผิดปกติได้

สาเหตุการเกิด โรคมะเร็งปอด
การสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่หรือได้สัมผัสสารก่อมะเร็งในบุหรี่มาเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดชนิด small cell carcinoma และ squamous cell carcinoma

มีการกลายพันธุ์ของยีนในร่างกายบางชนิดหรือมีการสลับที่ของยีนบางชนิด ที่ทำให้เซลล์เจริญเติบโตกลายเป็นเซลล์มะเร็งปอดชนิด adenocarcinoma เช่น ยีน EGFR, ALK, KRAS, BRAF, HER2, RET, ROS, MET และยีน NTRK ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางกรรมพันธ์ุในครอบครัว

สำหรับเรื่องฝุ่น PM 2.5 ปัจจุบันเริ่มมีการศึกษาวิจัยเบื้องต้นพบว่า ฝุ่น PM 2.5 เมื่อสูดดมเข้าไปโดยตรงทำให้เกิดการอักเสบต่าง ๆ ในทางเดินหายใจขึ้น ซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งปอดได้ แต่อย่างไรก็ตามสมมติฐานนี้ยังต้องการการวิจัยสนับสนุนอีกมาก

รู้จักอาการ โรคมะเร็งปอด
อาการของโรคขึ้นอยู่กับตำแหน่งของตัวก้อนมะเร็ง เช่น หากอยู่ใกล้หลอดเลือดแดงและหลอดลมอาจจะมีอาการเหนื่อย ไอเป็นเลือด หากอยู่ในกระดูกจะมีอาการปวดกระดูกอย่างมาก หากอยู่ในตับอาจจะมีอาการปวดท้อง ตับโต และการทำงานของตับอาจจะผิดปกติ หากอยู่ที่สมองอาจจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง เป็นต้น

สำหรับอาการทั่วไปที่พบได้บ่อย เช่น 

  • มีอาการไอเป็นระยะเวลานาน ไอเรื้อรัง อาจมีเสมหะปนเลือด
  • เหนื่อย
  • หายใจไม่สะดวก
  • มีอาการเบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ปอดอักเสบติดเชื้อบ่อย ๆ

ระยะของโรค
ระยะที่ 1 ระยะต้นที่พบว่าเซลล์มะเร็งอยู่ในปอด มักไม่มีอาการที่แสดงความผิดปกติ
ระยะที่ 2 ระยะที่มีการแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด
ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งอยู่ในปอดเริ่มออกมาบริเวณต่อมน้ำเหลืองกลางทรวงอก
ระยะที่ 4 ระยะที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น กระดูก ต่อมหมวกไตและสมอง

แนทางวิธีการรักษา
วิธีการรักษาโรคมะเร็งปอดอาจมีการรักษาที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละบุคคลและระยะของโรค ได้ดังนี้

ระยะที่ 1 และระยะที่ 2
ใช้วิธีการผ่าตัด หลังจากผ่าตัดจะนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อประเมินว่าเป็นเซลล์ชนิดใด เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจมีการรักษาเสริมด้วยการให้ยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า หรือยาเสริมภูมิต้านทานร่วมด้วย เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำและลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

ระยะที่ 3
อาจมีการรักษาหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่ ผู้ป่วยที่สามารถรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด เมื่อผ่าตัดแล้วต้องได้รับการรักษาเสริมด้วยยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า หรือยาเสริมภูมิต้านทาน รวมไปถึงการใช้รังสีรักษา ลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ การรักษาหลักจะเป็นการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีรักษา อาจมีการรักษาต่อด้วยยากระตุ้มภูมิต้านทานหรือยาเสริมภูมิต้านทานร่วมด้วยได้

ระยะที่ 4
ในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะแพร่กระจายซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการของผู้ป่วย ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น และยืดระยะเวลาการรอดชีวิต การรักษาหลัก ๆ จะมีการใช้ยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า หรือยาเสริมภูมิคุ้มกัน หรือมีการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ ความเหมาะสมกับชนิดของเซลล์มะเร็งปอดแต่ละชนิด รวมทั้งลักษณะทางอณูชีววิทยาของเซลล์มะเร็งปอด และที่สำคัญขึ้นกับสภาวะร่างกายของผู้ป่วยอีกด้วย เนื่องจากยาแต่ละชนิดก็จะมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันออกไป ในปัจจุบันต้องบอกว่ายารักษาโรคมะเร็งปอดแต่ละชนิดไม่ว่าจะเป็น ยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า หรือยาเสริมภูมิคุ้มกัน มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นมากสามารถที่จะช่วยบรรเทาอาการและช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก

วิธีการดูแลรักษาตนเองให้ห่างไกลจาก โรคมะเร็งปอด

  • งดการสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่จากผู้ที่สูบบุหรี่
  • ดูแลและสังเกตอาการผิดปกติของตนเองเป็นประจำ มีการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
  • ปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ถูกสุขลักษณะและสารอาหารครบ 5 หมู่ 
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

4 กุมภาพันธ์ วันมะเร็งโลก (World Cancer Day)      
ในปัจจุบันนี้ แทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นการดูแลสังเกตอาการผิดปกติของตนเองอย่างสม่ำเสมอและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะเป็นส่วนช่วยให้ห่างไกลจากการเป็นโรคมะเร็งปอดได้มากขึ้น และหากพบความผิดปกติใด ๆ ในร่างกาย ให้รีบปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน อย่ารีรอที่จะนัดพบและปรึกษาแพทย์ โรคมะเร็งปอด เป็นโรคที่หากพบตั้งแต่เนิ่น ๆ และรีบรักษาจะทำให้ผลลัพธ์ในการรักษาดีขึ้น อย่ากลัวกับคำว่า “มะเร็งปอด” อย่ากลัวกับคำว่า “ยาเคมีบำบัด” โรคแต่ละชนิดใช้ยาไม่เหมือนกัน รีบพบแพทย์และเริ่มรักษาให้เร็วจะดีที่สุดและจะสามารถช่วยผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก

มาดูกันที่รายงานตัวเลข !!

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่พบว่ามีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งอยู่หลายปัจจัย อาทิ การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง (อาหารปิ้งย่าง รมควันจนไหม้เกรียม) การมีภาวะโรคอ้วน การติดเชื้อไวรัส การได้รับรังสี UV รวมถึงความผิดปกติทางพันธุกรรม

ทั้งนี้มีการรักษามะเร็งหลากหลายรูปแบบ เช่น การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การฉายรังสี ซึ่งอาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธีร่วมกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค รวมถึงสุขภาพของผู้ป่วย

สถิติ “โรคมะเร็ง” ที่ควรรู้
-ในปี 2020 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ทำการประเมินผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วโลก พบว่ามีจำนวนราว 19.3 ล้านคน โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยในทวีปเอเชียราว 9 ล้านคน ยุโรป 4 ล้านคน อเมริกาเหนือ 2 ล้านคน อเมริกาใต้ 1.4 ล้านคน แอฟริกา 1.1 ล้านคน และโซนโอเชียเนียอีกราว 2 แสนคน 

-นอกจากนี้ WHO ยังได้ประมาณการว่า ในปี 2040 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า ผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนกว่า 28.9 ล้านคน ทั้งนี้ มะเร็งเต้านม ถูกบันทึกว่าเป็นโรคที่พบมากที่สุด ขณะเดียวกัน มะเร็งปอด เป็นโรคที่มีผู้ป่วยเสียชีวิตมากที่สุดในโลก รวมทั้งในทุก ๆ ปี จะพบผู้ป่วยมะเร็งในวัยเด็กกว่า 4 แสนรายด้วยกัน

-ส่วนในประเทศไทย จากการรายงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ระบุว่า คนไทยเป็นมะเร็งรายใหม่ วันละ 382 คน หรือ 139,206 คนต่อปี พร้อมกันนี้ สถิติสาธารณสุข ปี 2562 ยังระบุว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง วันละ 230 คน  หรือ 84,037 คนต่อปี 

-โรคมะเร็งที่พบมากในประชากรชายไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี, มะเร็งปอด, มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง, มะเร็งต่อมลูกหมาก, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ส่วนโรคมะเร็งที่พบมากในประชากรหญิงไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งเต้านม, มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง, มะเร็งตับและท่อน้ำดี, มะเร็งปอด, มะเร็งปากมดลูก  

รู้(ทัน)...สู้มะเร็ง
ตามข้อมูลองค์การอนามัยโลก ระบุว่า กว่า 1 ใน 3 ของโรคมะเร็งทั้งหมด เกิดจากสาเหตุภายนอกที่ป้องกันได้ ดังนั้น หากต้องการหลีกเลี่ยงมะเร็งร้าย การดูแลร่างกายและจิตใจถือเป็นสิ่งสำคัญ หมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ วันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน เน้นกินอาหารที่มีกากใยมาก ลดอาหารไขมันสูง เลี่ยงเมนูปิ้งย่าง อาหารแปรรูป หมักดอง หลีกเลี่ยงการตากแดดเป็นเวลานาน ๆ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด

ปิดท้ายกันที่ 
 

5 ไม่ พฤติกรรมควรหลีกเลี่ยง!!! 

ไม่สูบบุหรี่ เพราะบุหรี่เป็นสาเหตุของมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งไต และมะเร็งปากมดลูก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดโรคอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง ซึ่งควันบุหรี่ มีสารน้ำมันทาร์และสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด ซึ่งในจำนวนนี้มากกว่า 60 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง 80% ของโรคมะเร็งปอดเกิดจากการสูบบุหรี่ สำหรับผู้ที่สูบบหรี่ ถ้าหยุดสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่นสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปอดได้ 60 – 70%

ป้องกันเพศสัมพันธ์ให้ปลอดภัย สตรีที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยและมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายหลายคน พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก โดยเฉพาะมีความเสี่ยงกับการติดเชื้อ HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อมะเร็งปากมดลูก


ไม่ดื่มเหล้า หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในสุราจะมีความเสี่ยงกับมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งหลอดอาหาร ผู้ที่ดื่มสุรามากกว่า 60 กรัมของเอทิลแอลกฮอล์ต่อวัน (3 แก้ว) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเป็น 9 เท่าของผู้ที่ไม่ดื่ม แต่ถ้าดื่มสุรามากกว่า 60 กรัมของเอทิลแอลกฮอล์ และเป็นผู้ที่สูบบุหรี่มากกว่า 20 มวนต่อวันด้วย จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเป็น 50 เท่า

หลีกเลี่ยงแสงแดดแรง การตากแดดในปริมาณเล็กน้อยในช่วงเช้าหรือเย็นสามารถช่วยผลิตวิตามิน D ได้แต่กลับกันหากตากแดดที่แรงมากๆจะเป็นอันตราย เพราะในแสงแดดมีรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนัง รอยเหี่ยวย่น ผิวหนังเปลี่ยนแปลง และต้อกระจกด้วย ทั้งนี้ควร  ใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF (Sun Protection Factor) มากกว่าหรือเท่ากับ 15 ขึ้นไป และหมั่นตรวจเช็กผิวหนังตัวเองเป็นประจำ

ไม่กินปลาน้ำจืดดิบ
การกินปลาน้ำจืดที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ตับอยู่ในเนื้อปลาที่มีเกล็ดตระกูลปลาตะเพียน อาทิปลาตะเพียน ปลาซิว ปลาสร้อย ปลาขาว ปลาเกล็ดขาว ปลาแม่สะแด้ง  ซึ่งการบริโภคดิบ ๆ หรือปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ก้อยปลา ลาบปลา พยาธิตัวอ่อนจะเข้าเจริญเติบโตเป็นตัวแก่อาศัยอยู่ในท่อน้ำดีตับ ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผนังท่อน้ำดีและท่อน้ำดีอุดตัน มีการอักเสบเรื้อรัง เนื้อตับตาย ทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดีในตับและพบมากในภาคอีสาน

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการสังเกตตัวเองนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ไม่แพ้กับการคัดกรองที่ไม่ควรละเลย อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หากรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงด้านไหนควรพบแพทย์เพื่อคัดกรอง ตรวจวินิจฉัยทางรังสี เช่น การตรวจ CT scan การตรวจ MRI ก็เป็นการตรวจเพื่อให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการแพร่กระจาย และระยะของโรคมะเร็ง เป็นต้น

ทำอย่างไรเมื่อรู้ว่า(เรา-คนที่เรารัก)เป็นมะเร็ง?
ต้องตั้งสติก่อนอันดับแรก ซึ่งผู้ป่วยควรทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่เป็นว่า เป็นมะเร็งชนิดไหน ระยะใด มีแนวทางในการรักษาอย่างไรบ้างเพื่อเตรียมความพร้อมของทั้งตัวผู้ป่วยเองและคนในครอบครัว

“โรคมะเร็ง”น่ากลัวอย่างที่วาดภาพคิดไว้ในหัวหรือไม่? 

คำตอบตรงนี้ ต้องขอให้คอข่าวเป็นผู้ตัดสินใจเอง ย้ำให้ข้อมูลประกอบแค่เพียงว่า ในปัจจุบัน มะเร็งไม่ใช่โรคที่สิ้นหวังอีกต่อไป การตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าเป็นระยะแพร่กระจายแล้ว อาจจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ยังมีการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่ได้ยาวนานขึ้น

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก : รศ. พญ.ธัญนันท์ ใบสมุทร (เรืองเวทย์วัฒนา) สาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


ขอบคุณข้อมูลจาก: องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC)
 

logoline