5 มกราคม 2566 ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน และอาชีพต่อเนื่องการประมง จังหวัดระยอง ประมาณ 30 คน เดินทางมายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย กรณีเหตุน้ำมันดิบใต้ทะเล บริเวณหุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง รั่วไหลบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ทำให้ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน และอาชีพต่อเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานการประมง ในอ่าวจังหวัดระยอง ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับระบบนิเวศ และรายได้จากการประกอบอาชีพ มี ดร.วิเชียร ซุปไธสง นายกสภาทนายความฯ , นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ , นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ และว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการ สิ่งแวดล้อมฝ่ายคดีและปฏิบัติการ สภาทนายความ เป็นผู้รับเรื่อง
ว่าที่ร้อยตรีสมชาย ระบุว่า เหตุการณ์กรณี บริษัทแห่งหนึ่งทำน้ำมันดิบ รั่วไหลลงอ่าวระยอง ระหว่างขนถ่ายกลางทะเล เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 65 ที่ผ่านมา มากกว่า 4 แสนลิตร ทำให้ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน และอาชีพต่อเนื่อง จังหวัดระยอง ได้รับผลกระทบมีน้ำมันดิบกระจายเป็นวงกว้าง ถูกพัดเข้าถ่ายฝั่ง จากข้อมูลของ GISTDA ระบุว่า น้ำมันดิบแพร่ในทะเลกว้างกว่า 9 เท่า ของเกาะเสม็ด ทำให้ชาวบ้าน ชาวประมงได้ผลกระทบ ต่อทรัพยากรสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่ง ที่ชาวประมงพื้นบ้านใช้เป็นที่ทำมาหากิน ผลของน้ำมันดิบรั่วไหลและการใช้ สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันในพื้นที่ ทะเลตื้นทำให้สัตว์น้ำหลายประเภท หายไปจากบริเวณอ่าวระยอง
ปัจจุบันเรือประมงหลายประเภท ต้องจอดนิ่งอยู่ท่าเรือ เนื่องจากไม่มีสัตว์น้ำให้จับ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก อีกทั้งความขาดแคลนนี้ ยังส่งผลกระทบเชิงลบ ต่อเนื่องไปถึงห่วงโซ่ นอกจากนี้การประมงพื้นบ้าน และเรือขนาดกลางที่หากินได้ จากจุดที่น้ำมันดิบรั่วไหล ยังสร้างความหวาดระแวงต่อประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว ที่จะตัดสินใจซื้ออาหารทะเล ทั้งที่เป็นวัตถุดิบและปรุงสำเร็จในจังหวัดระยอง
ทั้งนี้กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ต้องการที่จะยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรม เพื่อการเจรจาหาข้อยุติร่วมกัน ระหว่างบริษัทก่อมลพิษ กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ได้รับค่าเยียวยาที่เป็นธรรม ตามความเป็นจริงจากการสูญรายได้
เนื่องจากที่ผ่านมา ความเสียหายมีการเยียวยาชดเชยให้ในจำนวนน้อย และจำกัดแค่เรือประมงที่ละเบียนไว้เท่านั้น ไม่ธรรมกับผู้ทำประมงพื้นบ้าน ผู้ได้รับผลกระทบอื่น หากดึงเรื่องการชดเชยเยียวยาจนหมดอายุความ ในการเรียกร้องค่าเสียหาย
ทั้งน้มีประเด็นที่น่าสนใจ ที่เป็นข้อเสนอของชาวบ้านในพื้นที่ว่า ในเมื่อการขนส่งขนถ่ายน้ำมันดิบทางทะเลเกิดการรั่วบ่อยครั้ง เหตุใดทางนิคมอุตสาหกรรม หรือ กรมเจ้าท่า ไม่หารือเปลี่ยนวิธีการขนส่งน้ำมันเป็นทางบกแทน
ขณะที่ นายวิเชียร นายกสภาทนายความฯ กล่าวว่า กรณีนี้ส่งผลกระทบกับประชาชนเป็นจำนวนมาก ทางสภาทนายฯ จะมีการตั้งทีมลงพื้นที่ตรวจสอบผลกระทบ รวมไปถึงผลกระทบด้านสุขภาพอีกด้วย เบื้องต้นได้กำหนดแนวทางในการช่วยเหลือดังนี้
1. ใช้สิทธิในการเรียกร้องให้บริษัทที่เกี่ยวข้อง ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96 และ 97
2. ดำเนินการให้ประชาชนผู้เสียหายตั้งตัวแทนสมาชิกกลุ่มเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อดำเนินคดีแบบกลุ่ม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เนื่องจากจะไม่เป็นการซ้ำซ้อนในการยื่นฟ้องคดีและเป็นการ ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในการดำเนินคดีที่ศาล
3.ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในทางคดี (การไกล่เกลี่ยในคดีสิ่งแวดล้อม) ตามพระราชบัญญัติ ไกล่เกลี่ย พ.ศ. 2562
4.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ความรับผิดเพื่อละเมิด (มาตรา 420) ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขา เสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดีท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จ่าต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด (มาตรา 438) ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัย ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
5.แนวทางในการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง