svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"ฟอร์มาลีน" หนึ่งภัยร้ายในวันนี้ ใช้ผิดชีวิตเสี่ยงมะเร็ง

08 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สารฟอร์มาลีน หรือ "ฟอร์มาลดีไฮด์" มีผลกระทบต่อระบบหายใจ เมื่อสูดดมจะทำให้ปอดอักเสบ ปอดบวม และเมื่อเรากินเข้าไป สะสมในร่างกายมากๆ อันตรายถึงขั้นเกิดโรคมะเร็ง

แม้ว่าที่ผ่านมากกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศฉบับที่ 93 เรื่องห้ามใช้สาร 6 ชนิดในอาหาร คือ สารบอแรกซ์ สารฟอกขาว สารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง สารกันรา สารฟอร์มาลิน และสารเร่งเนื้อแดง โดยกำหนดว่าผู้ใดละเมิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ฐานผลิตอาหารที่ไม่บริสุทธิ์ ทว่าผลการสุ่มตรวจล่าสุดได้สะท้อนให้เห็นว่า การลักลอบใช้สารต้องห้ามในอาหาร ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย

“ฟอร์มาลีน” (Formalin) หรือ "ฟอร์มาลดีไฮด์"

สารเคมีที่นำมาใช้ในงานต่างๆ ทั้งด้านอุตสาหกรรม การแพทย์ เคมี และการเกษตร หากนำไปใช้อย่างถูกวิธีจะเป็นประโยชน์ แต่หากใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ก็จะเกิดโทษภัยร้ายแรงตามมา ดังเช่นกรณีข่าวการตรวจพบเนื้อสัตว์แช่ฟอร์มาลีน ซึ่งเป็นความมักง่ายและเห็นแก่ตัวของผู้ประกอบการที่ไม่คำนึงถึงอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค

 

ทางด้าน นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การกรณีการเผยแพร่ข่าวการลักลอบผลิตวัตถุดิบชิ้นส่วนเนื้อสัตว์แช่ในถังน้ำผสมฟอร์มาลิน ส่งขายร้านหมูกะทะและร้านอาหารอีสาน ทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลถึงการบริโภคหมูกะทะที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นเมนูยอดฮิตที่นิยมทั้งแบบนั่งรับประทานที่ร้านและซื้อแบบชั่งกิโลตามตลาดสดนั้น

"ฟอร์มาลีน" หนึ่งภัยร้ายในวันนี้ ใช้ผิดชีวิตเสี่ยงมะเร็ง

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารฟอร์มาลิน ดังนี้

ฟอร์มาลีน เป็นสารพิษชนิดหนึ่งประกอบด้วยก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) ละลายน้ำด้วยความเข้มข้น 37% โดยน้ำหนัก และมักผสมเมทานอลประมาณ 10-15% สารฟอร์มาลีนมีสถานะเป็นสารละลาย ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนรุนแรง คุณสมบัติแตกต่างกันตามความเข้มข้นฟอร์มาลดีไฮด์ในน้ำและอัตราส่วนผสมของเมทานอล มีการนำฟอร์มาลีนมาใช้ประโยชน์หลายด้าน เช่น ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำฆ่าเชื้อและน้ำยาทำความสะอาด ใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมการผลิตสี

นอกจากนี้ ในทางการแพทย์มีการนำฟอร์มาลีนมาใช้สำหรับรักษาสภาพร่างกายของศพไม่ให้เน่าเปื่อย อย่างไรก็ตามไม่อนุญาตให้นำฟอร์มาลีนมาใช้ในการถนอมอาหาร 

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยจัดให้สารฟอร์มาลดีไฮด์หรือฟอร์มาลีนเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 หากผลิต นำเข้า หรือมีไว้ครอบครองต้องขึ้นทะเบียน และเป็นสารห้ามใช้ในอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 151 (พ.ศ. 2536) เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมีการเฝ้าระวัง ตรวจติดตามการปนเปื้อนของฟอร์มาลดีไฮด์ในอาหารอย่างต่อเนื่อง

"ฟอร์มาลีน" หนึ่งภัยร้ายในวันนี้ ใช้ผิดชีวิตเสี่ยงมะเร็ง

จากรายงานของ องค์การวิจัยมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer; IARC) จัดให้สารฟอร์มาลดีไฮด์หรือฟอร์มาลีนเป็นสารก่อมะเร็ง Group 1 ซึ่งหมายถึงมีข้อมูลยืนยันแน่ชัดแล้วว่าสารชนิดนี้เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยข้อมูลงานวิจัยที่ศึกษาในผู้ที่สัมผัสสารนี้ในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่องยาวนาน เช่น คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง พบว่าสารนี้เป็นสาเหตุของมะเร็งเม็ดเลือดขาว (myeloid leukemia) และมะเร็งโพรงจมูก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อสุขภาพจากการสัมผัสสารฟอร์มาลดีไฮด์/ฟอร์มาลีนนั้นเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งจากการรับประทาน การหายใจ และทางผิวหนัง รวมถึงระยะเวลาที่สัมผัส สำหรับอาการเฉียบพลันจากการสัมผัสสารในความเข้มข้นระดับต่ำอาจทำให้เกิดอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น การระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้อาเจียน อาการแสบจมูก ปวดศรีษะ ระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ เกิดผื่นคัน ผิวหนังคล้ำดำ มีอาการแสบคันตามผิวหนัง เป็นต้น

ขณะที่ นันทกา หนูเทพ ผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า จากการที่กรมอนามัยออกสำรวจตลาดสดเพื่อตรวจประเมินคุณภาพมาตรฐาน สารต้องห้ามใช้ในอาหาร 4 ชนิด คือ สารบอแรกซ์ สารฟอร์มาลิน สารกันรา และสารฟอกขาว ปรากฏว่าการสุ่มตรวจแม้ส่วนใหญ่จะผ่านเกณฑ์การประเมิน แต่ที่น่าตกใจคือมีการตรวจพบสารฟอร์มาลีน ฉีดพ่นและแช่ในผัก เนื้อสัตว์ เพื่อให้ดูใหม่ดูสดมากขึ้น ซึ่งได้สรุปสถานการณ์ในช่วงนี้ออกมาว่า ประชาชนผู้บริโภคอาจต้องเจอปัญหา การนำสารฟอร์มาลีนมาใช้ผิดวัตถุประสงค์

"ฟอร์มาลีน" หนึ่งภัยร้ายในวันนี้ ใช้ผิดชีวิตเสี่ยงมะเร็ง

“ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า สมัยก่อนกระทรวงสาธารณสุข มีการรณรงค์เรื่องสารบอแรกซ์ สารฟอกขาว ซึ่งปัจจุบันกลับตรวจพบว่ามีการใช้ลดลง แต่กลับมาตรวจพบการใช้สารฟอร์มาลีนมากขึ้นแทน เพื่อคงความสดใหม่ให้ผักและเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะพวกอาหารทะเล การตรวจพบครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าตกใจ เป็นการกระตุ้นเตือนให้พวกเราทราบสถานการณ์ว่า จริงๆ แล้ว พ่อค้า แม่ค้า เขาอาจจะมองในเชิงธุรกิจมากกว่าความปลอดภัยของผู้บริโภค พอเห็นว่ามีการตรวจในกลุ่มสารชนิดหนึ่งมากก็เลี่ยงไปใช้สารชนิดอื่นแทน เมื่อผู้บริโภคกินสะสมเข้าไปในปริมาณมากๆ ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ”


"พิษจากสารฟอร์มาลีนเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคหลายๆ โรค เนื่องจากในสารฟอร์มาลีน จะมีสารฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งลักษณะของตัวสารชนิดนี้จะมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบของสารละลายและรูปแบบของสารระเหย ปกติจะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมและทางการแพทย์ แต่การนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค เนื่องจากเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้"
 

 

“พิษของสารตัวนี้จริงๆ มันมีผลกระทบทุกส่วนของร่างกาย ที่เห็นชัดๆ ก็คือทางด้านระบบทางเดินหายใจ พิษจากสารฟอร์มาดิฮาย สารฟอร์มาลีน มีผลกระทบต่อระบบหายใจ เมื่อสูดดมเข้าไปจะรู้สึกเลยว่าแสบจมูก ไอ ปอดอักเสบ ปอดบวม และก็ในระบบทางเดินอาหารถ้าปนเปื้อนในอาหาร เมื่อเรากินเข้าไปอาการจะรุนแรงหรือไม่อยู่ที่ปริมาณ แต่ถ้าสะสมในร่างกายมากๆ ก็อันตรายถึงขั้นก่อให้เกิดโรคมะเร็ง”

ที่ผ่านมา แม้กระทรวงสาธารณสุขจะการออกประกาศ สารต้องห้าม 6 ชนิดในอาหาร แต่จุดอ่อนของเราก็คือเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่อาจยังไม่เข้มข้นมากเท่าที่ควร เมื่อตรวจเจอสารฟอร์มาลีนและสารต้องห้ามต่างๆ ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปสอบถามแหล่งที่มาที่ไป และแนะนำให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

"ฟอร์มาลีน" หนึ่งภัยร้ายในวันนี้ ใช้ผิดชีวิตเสี่ยงมะเร็ง

อีกมุมมองจาก "พชร แกล้วกล้า" ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภค ความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า จริงๆ แล้วที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้มีการสุ่มตรวจและเฝ้าระวังสารฟอร์มาลีน โดยการใช้ชุดทดสอบเร็ว (Test Kit) มาเป็น 10 ปี แต่ต้องขอบอกว่าข้อมูลเหล่านี้ถึงหูผู้บริโภคค่อนข้างน้อยมาก แทบจะไม่ถึง 5% ของรายงานที่มีการตรวจพบ


ในขณะที่การตรวจพบในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เนื่องจากการตรวจพบในอาหารที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังปกติ นั่นจึงหมายความว่าก่อนหน้านี้เราไม่รู้เลยว่าเคยมีการใช้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานหรือไม่ และใช้ในปริมาณเท่าไหร่

“ล่าสุดเมื่อผลการสุ่มตรวจที่ออกมาพบว่ามีการใช้สารฟอร์มาลีน ในอาหารที่ไม่ได้เฝ้าระวังเป็นปกติ ทำให้สถานการณ์ตอนนี้ค่อนข้างน่ากังวล เพราะต่อไปอาจจะลามไปในอาหารอย่างอื่น ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าแม้รัฐจะมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีระบบการจัดการปัญหาที่ต้นทาง การเข้าถึงฟอร์มาลีนยังทำได้ง่ายๆ หรือเปล่า หรือว่าการแพร่หลายจะสามารถตรวจสอบได้ไหมว่า ถูกกระจายไปอยู่ที่ไหนบ้างทั่วประเทศ”

เขาให้รายละเอียดเพิ่มเติมอีกว่า

ประเด็นคำถามต่อมาก็คือว่าเมื่อไหร่ที่ผู้บริโภค จะได้ทราบข้อมูลที่เป็นจริงของสถานที่ตรวจเจอ เพราะรัฐไม่เคยบอกว่าจุดไหนที่ตรวจเจอ เมื่อผู้บริโภคไม่ได้รับทราบข้อมูล ผลที่ตามมาก็คือการไม่สามารถใช้กระบวนการทางสังคมในการกดดันได้ แต่อย่างไรก็ตามก็เข้าใจข้อจำกัดทางกฎหมาย เนื่องจากรัฐใช้ชุดทดสอบเร็วในการตรวจหาสารต้องห้ามทั้ง 6 กลุ่ม ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อผู้บริโภคไม่สามารถทำได้ เนื่องจากข้อจำกัดของชุดทดสอบเร็วที่มีความคลาดเคลื่อนได้สูง ไม่สามารถใช้อ้างอิงตามกฎหมายได้

ล่าสุดกับข่าวดังสุดสะเทือนใจคนรักหมูกระทะ เมื่อกรมปศุสัตว์บุกตรวจจับร้านลักลอบผลิตเนื้อสัตว์และเครื่องในแช่น้ำฟอร์มาลีนกว่ารวม 25 ตัน มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท แถมส่งขายร้านหมูกะทะ ร้านอาหารอีสานในพื้นที่ จ.ชลบุรี และใกล้เคียง ในมุมของผู้บริโภคอย่างเราสิ่งที่ทำได้คือการสังเกตอาหารที่ทานและเลือกร้านที่สะอาด ปลอดภัย เพื่อสุขภาพและอนามัยของตัวเอง

"ฟอร์มาลีน" หนึ่งภัยร้ายในวันนี้ ใช้ผิดชีวิตเสี่ยงมะเร็ง

ฟอร์มาลีน เป็นสารมีพิษที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเคมีภัณฑ์ มีส่วนประกอบหลักคือ ฟอร์มาลดีไฮด์ 37% ลักษณะเป็นน้ำใส ไม่มีสี กลิ่นฉุน และมีฤทธิ์ระคายเคือง ในปัจจุบันมีการนำมาใช้ในทางที่ผิดเพื่อให้อาหารสดคงความสดได้นาน ไม่เน่าเสียง่าย คนส่วนใหญ่จะรู้จักฟอร์มาลินในเชิงการแพทย์ที่เราทราบกันดีว่าเอาไว้ใช้ในการดองศพไม่ให้เน่าเปื่อย ใช้เป็นยาดับกลิ่นฆ่าเชื้อโรคเพราะทำให้โปรตีนแข็งตัว ทางด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอจะใช้เป็นน้ำยาอาบผ้าไม่ให้ย่น นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรคและเชื้อราในการเก็บรักษาธัญพืชหลังการเก็บเกี่ยว และใช้เพื่อป้องกันแมลง แต่ไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหาร โดยถือเป็นการใช้งานผิดประเภท

ปัจจุบัน ประเทศไทยตรวจพบบ่อยครั้งว่ามีการใช้ฟอร์มาลีนแช่ผักปลาและเนื้อสัตว์บางอย่างก่อนนำมาขาย เพื่อให้มีความสดและไม่เน่าเสียเร็ว เพราะด้วยความไม่รู้ถึงอันตรายของสารชนิดนี้ นอกจากนี้ ยังนำฟอร์มาลีนมาใช้กับผักหลายชนิดแทนการใช้สารฆ่าแมลง โดยเฉพาะผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว แตงกวา หน่อไม้ ยอดมะพร้าว และอื่นๆ โดยอ้างว่าใช้ฆ่าแมลงบนผักได้ดีและยังทำให้ผักสดอยู่ได้นาน อีกทั้งราคายังถูกกว่าสารฆ่าแมลงชนิดอื่นด้วย นอกจากการปนเปื้อนฟอร์มาลีนจะมาจากการฉีดพ่นผักเพื่อฆ่าแมลงแล้ว บางครั้งฟอร์มาลีนอาจมาจากปุ๋ยก็ได้

"ฟอร์มาลีน" หนึ่งภัยร้ายในวันนี้ ใช้ผิดชีวิตเสี่ยงมะเร็ง

อ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อเราทานอาหารที่มีส่วนผสมของฟอร์มาลีนเข้าไป จะส่งผลเสียต่อร่างกายมากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณ ซึ่งจริงๆ แค่เราได้กลิ่นก็จะมีอาการฉุน แสบคอ เกิดอาการผิดปกติต่อระบบทางเดินหายใจได้แล้ว บางคนทานเข้าไปจนเกิดอาเจียน เสียเลือดมากจนถึงขั้นเสียชีวิตก็มี เพราะทางเดินอาหารเกิดการไหม้จากสารฟอร์มาลีนที่มีความเป็นกรด หรือเมื่อได้รับในปริมาณที่เข้มข้นก็จะทำให้เลือดเป็นกรด เกิดภาวะช็อก ความดันตก และตามมาด้วยการเสียชีวิต แต่โดยส่วนใหญ่แล้วหากจะเกิดอาการรุนแรงอย่างที่ว่านี้ได้ มักจะมาจากเหตุจงใจหรือการทำร้ายตัวเองมากกว่า

ความร้ายแรง ภัยจากฟอร์มาลีนกับผลต่อสุขภาพ

  • ระยะเฉียบพลัน อาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ ซึ่งส่วนนี้อาจเป็นด้วยปัจจัยส่วนบุคคล รวมถึงสารเคมีที่ได้รับด้วย
  • อาการระยะสั้น หากสูดเข้าไปจะมีผลต่อระบบหายใจ คือ แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก หากสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้ปอดอักแสบ น้ำท่วมปอด และอาจเสียชีวิตได้
  • ผลต่อระบบผิวหนัง คือทำให้เกิดผื่นคัน จนถึงผิวหนังอาจไหม้ หรือเปลี่ยนเป็นสีขาวได้หากสัมผัสกับฟอร์มาลินโดยตรง
  • หากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินเข้าไปในปริมาณมาก อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว
  • ผลระยะยาว สารฟอร์มัลดีไฮด์ซึ่งเป็นสารประกอบของฟอร์มาลีน เป็นสารกระตุ้นที่ทำให้เกิดมะเร็งได้อีกด้วย

สูดดมฟอร์มาลินจะทำให้มีผลต่อระบบหายใจ

  • แสบจมูก
  • เจ็บคอ
  • ไอ
  • หายใจไม่ออก
  • ปอดอักเสบ
  • น้ำท่วมปอด
  • อาจถึงเสียชีวิตได้ถ้าสูดดมในปริมาณมาก
  • ผลต่อระบบผิวหนัง
  • เกิดผื่นคัน จนถึงผิวหนังอาจไหม้เปลี่ยนเป็นสีขาวได้หากสัมผัสกับฟอร์มาลินโดยตรง

การบริโภคอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลินสูงเกิน 0.1 ppm จะทำให้เกิดพิษแบบฉับพลัน อาทิ

  • เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารเฉียบพลัน
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ในปากและคอจะแห้ง
  • หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก
  • ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะเป็นเลือด
  • มีอาการเพลีย
  • เหงื่อออก ตัวเย็น คอแข็ง

"ฟอร์มาลีน" หนึ่งภัยร้ายในวันนี้ ใช้ผิดชีวิตเสี่ยงมะเร็ง

มีรายงานระบุว่า

มีผู้กินฟอร์มาลิน 2 ช้อนโต๊ะ เพื่อฆ่าตัวตาย พบว่า ตายภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากได้รับสารดังกล่าว และเมื่อผ่าศพผู้ตายพบแผลไหม้ในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก เนื่องจากที่ความเข้มข้นสูงๆ สารฟอร์มาลินจะเปลี่ยนรูปเป็นกรดฟอร์มิค (Formic acid) ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายระบบการทำงานของเซลล์ต่างๆ ในร่างกายและหากได้รับปริมาณน้อยแต่ระยะยาวจะทำให้เกิดผลเสียกับระบบต่างๆ ของร่างกาย หรือก่อให้เกิดมะเร็งได้


เตือนอาหารสดเกินไปเสี่ยงมีสาร “ฟอร์มาลีน”

วิธีสังเกตในการเลือกซื้ออาหารสด หรือตรวจสอบว่ามีสารฟอร์มาลีนหรือไม่ เบื้องต้นให้เราดูว่าร้านอาหารนั้นๆ มีกลิ่นฉุนของสารเคมีแปลกๆ หรือเปล่า โดยเฉพาะอาหารทะเล และเนื้อสัตว์ อย่างปลาหมึก และแมงกะพรุน รวมถึงอาหารทะเลประเภทอื่นๆ เช่น ปลาหมึกกรอบ สไบนาง และเล็บมือนาง เป็นต้น เพราะอาหารเหล่านี้มีการเน่าเสียง่าย เช่น หากซื้อเนื้อกุ้งมีทั้งส่วนที่แข็งสด และมีส่วนที่เปื่อยยุ่ยในตัวเดียวกัน แสดงว่าต้องมีการแช่ฟอร์มาลีนมาอย่างแน่นอน ให้หลีกเลี่ยงในการซื้อมาบริโภค เพราะหากเป็นอาหารสดต้องสดเสมอกัน ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเปื่อยหรือส่วนใดส่วนหนึ่งแข็งสด

อีกวิธีคือใช้ชุดตรวจสารฟอร์มาลีนในอาหาร เมื่อทำครบตามขั้นตอนผลที่ได้ คือน้ำจะมีสีชมพูแดง แสดงว่าอาหารนั้นมีสารฟอร์มาลีน ก็จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงอาหารสดที่มีสารอันตรายเหล่านีได้อีกทางหนึ่ง และอีกวิธีที่ช่วยลดความเข้มข้นของสารเคมีได้ คือการผสมด่างทับทิมประมาณ 20 เกล็ดกับน้ำ 4 ลิตร แช่เนื้อสัตว์หรือผักทิ้งไว้ 5-10 นาที ก็เป็นวิธีที่ทำได้ง่ายๆ เพื่อลดสารตกค้างในอาหารก่อนปรุง

เปิดบทลงโทษสำหรับผู้ประกอบการที่ใช้สารฟอร์มาลีนในอาหาร

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขขอแจ้งว่า ฟอร์มาลีนสามารถเกิดในสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติอยู่แล้วในปริมาณหนึ่ง ซึ่งเทคนิคการตรวจวิเคราะห์ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุความแตกต่างระหว่างฟอร์มาลินที่เกิดตามธรรมชาติ และที่ตั้งใจเติมลงไปในอาหารเพื่อหวังผลในด้านการเก็บรักษาได้ ดังนั้นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ.2536) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือฟอร์มาลิน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ และถ้าตรวจพบการกระทำดังกล่าว จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จะเห็นได้ว่าการใช้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือฟอร์มาลินในอาหารไม่เพียงแต่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ยังมีโทษตามกฎหมายด้วย

"ฟอร์มาลีน" หนึ่งภัยร้ายในวันนี้ ใช้ผิดชีวิตเสี่ยงมะเร็ง
“การลักลอบใช้สารฟอร์มาลีนในอาหาร ส่วนใหญ่จะเป็นในผู้ประกอบการรายย่อย ทำให้การตรวจจับไม่ใช่เรื่องสนุกและง่ายนัก ฉะนั้นกระบวนการที่เราคิดว่าน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า ก็คือการควบคุมต้นทางในการนำเข้าและกระจายไปที่ไหนบ้าง เพื่อที่จะได้ไปตามดูว่าสรุปแล้วถูกส่งไปถูกที่ถูกทาง”

เขาบอกอีกว่า นอกจากนี้กระบวนการที่ให้ชุมชนเข้ามามีอำนาจ มีบทบาทในการดูแลและจัดการควบคุมกันเองก็ถือเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยการฝึกอบรมและผลักดันให้มีแกนนำชาวบ้าน ร่วมกับผู้ประกอบการตลาด ช่วยกันเฝ้าระวังโดยการใช้ชุดทดสอบเร็ว ในตรวจสอบสถานการณ์เบื้องต้นกันเองภายในชุมชน เมื่อตรวจพบว่าพ่อค้าแม่ค้าร้านไหนมีการใช้สารฟอร์มาลีน ก็สอบถามว่ารับสินค้ามาจากไหน เป็นกระบวนการตรวจตอบสอบย้อนกลับ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาได้

ความสำคัญของการเฝ้าระวังและแก้ปัญหาสารฟอร์มาลิน รวมทั้งสารต้องห้ามชนิดอื่นๆ แม้ในส่วนสำคัญต้องเริ่มต้นจากหน่วยงานรัฐและการบังคับใช้กฎหมาย แต่ในขณะเดียวกันพลังผู้บริโภคซึ่งก็คือประชาชนในท้องถิ่น ก็ถือเป็นกลไกหลักที่จะทำให้ทุกคนได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่ภาครัฐจะยกระดับการเฝ้าระวัง และดำเนินการเช่นเดียวกับสารเคมีตัวอื่น โดยการใช้ชุดทดสอบเร็วควบคู่กับการส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและจริงจัง

"ฟอร์มาลีน" หนึ่งภัยร้ายในวันนี้ ใช้ผิดชีวิตเสี่ยงมะเร็ง

ข้อมูลจาก : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

logoline