เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
จากตัวเลขการวิจัยของ องค์การอนามัยโลก ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 พบคนทั่วโลก 300 ล้านคน เป็นโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก และ เยาวชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า มีสถิติการฆ่าตัวตาย ต่อประชากร 100,000 คน สูงเป็นอันดับที่สองของโลก รองจากภูมิภาคยุโรป
ซึ่งในประเทศไทย ติดอันดับต้นๆ การสูญเสียจากการฆ่าตัวตายเฉลี่ย 6 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน แน่นอนว่า หลังจากที่คนทั่วโลกต้องเผชิญ กับวิกฤตโควิด ย่อมเกิด "ความเครียดสะสม" จนทำให้ตัวเลขดังกล่าวถีบตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยยะ
ล่าสุด "สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือกับ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม และเครือข่ายผู้แทนจากมหาวิทยาลัย 15 แห่ง ร่วมผนึกกำลังผ่าน "การประชุมแนวทางการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสุขภาวะในประเทศไทย" เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง มหาวิทยาลัยเครือข่าย ในการขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีในระดับมหาวิทยาลัย และประเทศไทย
ทั้งนี้ "สถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ภายใต้การสนับสนุนจาก สสส. ยังได้ทำ "โครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย" เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจสุขภาวะที่ดีสำหรับนิสิตนักศึกษาไทย ซึ่งถือเป็นเจนเนอเรชั่นสำคัญที่กำลังจะเข้าสู่วัยทำงาน และ เป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศต่อไป และเป็นการยกระดับสุขภาพของประชาชนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของ สสส. ที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวมใน 4 มิติ ทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม
"ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน" ที่ปรึกษาโครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง โครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ว่า เป็นการเก็บ รวบรวมข้อมูลจากนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวนทั้งสิ้น 9,050 ชุด จากมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั่วประเทศ จำนวน 15 แห่ง จาก 5 ภูมิภาค
ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะโบราณคดี, มหาวิทยาลัยศิลปากร, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยพะเยา, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เพื่อสำรวจพฤติกรรมสุขภาพที่ครอบคลุมในทุกด้าน
อาทิ ประเด็นสุขภาพจิต พบว่า มีจำนวนนิสิตนักศึกษา ร้อยละ 30 รู้สึกเศร้าบ่อยครั้ง ถึงตลอดเวลา โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 4.3 ที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่า มีอาการทางจิตเวช อย่างโรคซึมเศร้า และโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) เกือบร้อยละ 40 มีความเครียดบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา
โดยกว่าร้อยละ 4 ของนิสิตนักศึกษาทั้งหมด เคยคิดฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้ง ถึงตลอดเวลา, ร้อยละ 12 ได้เคยลงมือทำร้ายร่างกายตนเองแล้ว โดยในจำนวนนี้มีถึงร้อยละ 1.3 ที่ได้ลงมือทำร้ายร่างกายตนเองบ่อยครั้ง ถึงตลอดเวลา
ประเด็นพฤติกรรมเนือยนิ่ง และการบริโภคอาหาร พบว่า มีแนวโน้มรับประทานอาหารเช้าลดลง การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลาเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกันกับการรับประทานอาหารรสจัด และ อาหารที่มีไขมันสูง ในขณะที่มีแนวโน้มพฤติกรรมการออกกำลังกายลดลง และมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มสูงขึ้น
ส่วนหนึ่ง มาจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียน การสอน แบบออนไลน์ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับ 1 ใน 3 มีการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย มากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้สัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่ง มีค่าดัชนีมวลกายไม่เหมาะสม โดย 1 ใน 4 เผชิญ กับภาวะผอม และมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ส่งผลต่อการเจ็บป่วย หรือการเป็นโรคที่เกี่ยวกับออฟฟิศซินโดรมเพิ่มมากขึ้น
ประเด็นพฤติกรรมการใช้ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดอื่นๆ พบ การสูบบุหรี่ภายในมหาวิทยาลัยสูงกว่าร้อยละ 40 และร้อยละ 9 มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ่อยครั้ง ส่วนการใช้สารเสพติดอื่นๆ เช่น กัญชา กระท่อม พบได้น้อยร้อยละ 0.4 ที่ใช้บ่อยครั้ง และอีกร้อยละ 2 ที่ใช้บ้างนานๆ ครั้ง
ประเด็นความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน พบว่า มีพฤติกรรมการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งขณะใช้รถเพียงร้อยละ 60 ยิ่งไปกว่านั้นมีเพียง 1 ใน 3 ที่สวมหมวกนิรภัยขณะใช้จักรยานยนต์ ร้อยละ 15 และเคยมีการขับขี่ยานพาหนะขณะมึนเมา เกือบครึ่งดื่มในปริมาณมาก นำไปสู่การบาดเจ็บและสูญเสียชีวิต
ประเด็นเพศสภาพ และพฤติกรรมทางเพศ ปัจจุบันมีการเปิดกว้างทางเพศมากขึ้น พบว่า ประมาณ 1 ใน 4 ที่เคยมีเพศสัมพันธ์ และพบมากในนิสิตนักศึกษาชาย ร้อยละ 33.4, นิสิตนักศึกษาหญิง ร้อยละ 27.9 และกลุ่ม LGBTQIA+ ,ร้อยละ 19.9 มีการคุมกำเนิดโดยใช้ถุงยางอนามัยเป็นหลักถึงร้อยละ 46.6 แต่ยังมีอีกร้อยละ 5 ที่ไม่ได้ป้องกัน
ประเด็นภาระทางการเงิน พบสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างแตกต่างกัน โดยครึ่งหนึ่ง ไม่มีหนี้สินทางการเงิน ส่วนมากอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล อีกครึ่งหนึ่ง มีภาระหนี้สิน พบมากในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้
โดยเกือบร้อยละ 40 เป็นหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนี้ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นหนี้ค่าเล่าเรียน รองลงมาคือ หนี้ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และหนี้ค่าที่พักอาศัย ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงที่พฤติกรรมการเป็นหนี้เป็นวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม หรือพื้นที่ ได้แก่ หนี้หวย,หนี้พนันบอล ซึ่งมีการเล่นภายในครัวเรือนและมีอิทธิพลต่อวิถีการใช้จ่ายของนิสิต นักศึกษาด้วย
ประเด็นปัจจัยที่มีผลต่อการเรียน พบความเครียด เป็นสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 20 รองลงมาคือ ปัญหาทางการเงิน ร้อยละ 11.5, ความรู้สึกวิตกกังวล ร้อยละ 10.7, คิดถึงบ้าน ร้อยละ 9.3, ปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ ร้อยละ 7.9 และปัญหาเกี่ยวกับสมาธิ ร้อยละ 7.7 อีกร้อยละ 5 มีปัญหาการติดสื่อสังคมออนไลน์และเกม
ประเด็นความรุนแรงและการล่วงละเมิด พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.7 ไม่เคยโดนกระทำความรุนแรง หรือ การถูกล่วงละเมิด ที่เหลือร้อยละ 10 เคยโดนกระทำแล้วด้วยการถูกทำร้ายจิตใจจากคนใกล้ชิด คิดเป็นร้อยละ 32.2, ถูกคุกคามทางวาจา ร้อยละ 32.0 และถูกลวนลาม ร้อยละ 8.9 โดยนิสิตนักศึกษาที่เป็น LGBTQIA+ และในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลมีสัดส่วนสูงสุด
"ดร.ศิริเชษฐ์" ชี้ให้เห็นว่า แนวทางการขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาของประเทศไทยจำเป็นต้องได้รับการขับเคลื่อนในระดับนโยบายภายใต้ 2 แนวทาง เริ่มจากการพัฒนาฐานข้อมูลสถานการณ์ด้านสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในประเทศไทย เพื่อทำให้เกิดการรับรู้สถานการณ์ระดับประเทศ หรือ แนวทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยอื่นที่เป็นปัจจุบัน นำข้อมูลมาใช้เปรียบเทียบ และ ขับเคลื่อนนโยบายที่เหมาะสมสำหรับมหาวิทยาลัยของตนในแต่ละแห่ง
โดยเก็บข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแนวทางการเฝ้าระวังหรือป้องกันแบบ "เชิงรุก" ผ่านการตอบแบบสอบถาม "แบบประเมินสุขภาวะระดับมหาวิทยาลัย" ในรูปแบบออนไลน์ และสร้างกลไก เพื่อนช่วยเพื่อน (Health-me Buddy) เพื่อเสริมการทำงานของแต่ละมหาวิทยาลัยในการดูแล และเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตของเพื่อนร่วมชั้นเรียน ผ่านการอบรม และทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านร่างกายและจิตวิทยา และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ
"นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ" ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แผนการพัฒนาประเทศได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะในด้านการสาธารณสุขนั้น ได้มีการเน้นถึงความสำคัญของการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เด็กวัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน วัยสูงอายุ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเรียนระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังจะเข้าสู่วัยทำงานในระยะเวลาต่อไป แนวโน้มพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับสุขภาพ และสังคม ปัจจุบันของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เช่น พฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พฤติกรรมทางเพศ ยาเสพติด การออกกำลังกาย สุขภาพจิต การกลั่นแกล้งที่แสดงออกด้วยคำพูด หรือพฤติกรรมที่ก้าวร้าวต่อผู้อื่น อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาทาง สังคมและสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การทำความเข้าใจพฤติกรรมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของนักศึกษามหาวิทยาลัย ในประเทศไทย รวมทั้งการศึกษาผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
"ผลสำรวจจากโครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยครั้งนี้ จะถูกนำไปเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ของ สสส. เพื่อนำไปสู่การผลักดันนโยบายสุขภาวะในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้จริงและมีประสิทธิภาพ" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
ด้าน "ดร.ลัทธจิตร มีรักษ์" ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวปิดท้ายว่า การประชุมในครั้งนี้จะทำให้เกิดการรับรู้ถึงกลไกในการขับเคลื่อนประเด็นสุขภาวะในมหาวิทยาลัยที่เหมาะสมตามแต่ละบริบทของมหาวิทยาลัย ซึ่งทางกระทรวงฯ จะนำผลการศึกษานี้ไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการดำเนินงานในอนาคตร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมพร้อมขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาวะที่เหมาะสมสำหรับนิสิตนักศึกษาในประเทศไทยต่อไป