svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ซื้อของได้"ไม่ตรงปก"เฮ เปิดร่างกม.ให้ผู้ประกอบการ"รับผิดชอบสินค้าชำรุด"

27 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ซื้อของได้"ไม่ตรงปก" เตรียมเฮ เปิดร่างกม.ให้ผู้ประกอบการ "รับผิดชอบสินค้าชำรุดบกพร่อง" แก่ผู้ชื้อภายใน 2 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า ตั้งแต่รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า แม้แต่สินค้าออนไลน์ ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เตรียมดันเข้าสภา

 

27 พฤศจิกายน 2565  ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่มี"พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา  มีประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ"ผู้บริโภค" ประสบปัญหาการซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการร้านค้า หรือ ผ่านออนไลน์ แต่กลับได้สินค้าไม่ตรงตามที่แจ้ง หรือตามประสาโซเชี่ยล ได้ของ"ไม่ตรงปก" ได้สินค้าที่ชำรุดบกพร่องบ้าง ได้สินค้าหมดอายุบ้าง  แล้วจะมีข้อกฎหมายใดมาคุ้มครองผู้บริโภค  

 

ด้วยเหตุนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันดังกล่าว จึงมีมติ "อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. "

 

 

ร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นการกำหนด "ความรับผิดของผู้ประกอบการธุรกิจ"  ในความชำรุดบกพร่องของสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล รวมถึงสินค้าอื่นที่อาจกำหนดตามพระราชกฤษฎีกา

 

โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสม ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า ไม่ว่าผู้ประกอบธุรกิจจะรู้ถึงความชำรุดบกพร่องของสินค้าหรือไม่ก็ตาม

 

กรณีสินค้าชำรุดบกพร่องภายใน 1 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสินค้านั้น ชำรุดบกพร่องในเวลาส่งมอบสินค้า

 

ขอบคุณภาพ จากเพจ ไทยคู่ฟ้า  สำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

กรณีผู้ประกอบธุรกิจเป็น "ผู้ติดตั้งหรือประกอบสินค้า" หรือกรณี "ผู้บริโภคประกอบสินค้า-ติดตั้งตามคู่มือ" ที่ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้ แต่คู่มือนั้นกำหนดวิธีติดตั้งหรือประกอบสินค้า "ไม่ถูกต้องหรือครบถ้วน" ผู้บริโภคสามารถดำเนินการได้ ดังนี้

 

• เรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจซ่อมแซมสินค้า

• เรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนสินค้า

• ขอลดราคาสินค้า หรือเลิกสัญญา

 

ทั้งนี้ การใช้สิทธิดังกล่าวไม่กระทบต่อสิทธิในการเรียกค่าเสียหายอื่นจากผู้ประกอบธุรกิจ และกรณีที่ "ทำข้อตกลงไว้ล่วงหน้า" ซึ่งแตกต่างจากที่ พ.ร.บ. นี้กำหนด และเป็นผลเสียต่อผู้บริโภคให้ถือว่าเป็นโมฆะ

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบธุรกิจจะได้รับการ "ยกเว้น" ไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในกรณี ดังนี้

.

• ผู้บริโภค "รู้อยู่แล้ว" ในเวลาซื้อขายว่าสินค้านั้นมีความชำรุดบกพร่อง

 

• ผู้บริโภค "ดัดแปลงสินค้า" โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ประกอบธุรกิจจนเป็นเหตุให้เกิดความชำรุดบกพร่อง

 

• ผู้บริโภค "ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด" ที่จำเป็นและสมควรเพื่อการบำรุงรักษาสินค้าที่ระบุในคู่มือการใช้งาน

 

ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการเพิ่มความคุ้มครองสิทธิของ ปชช. ซึ่งเป็นผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการกระบวนการผลิตสินค้าหลายชนิด ทำให้สินค้ามีลักษณะหรือกลไกที่ซับซ้อน

 

เหตุดังกล่าวจึงส่งผลให้ผู้บริโภค "ไม่อาจพบเห็นความชำรุดบกพร่อง" ของสินค้าได้ในเวลาซื้อขายหรือส่งมอบ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองสิทธิ ปชช. ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาในปัจจุบัน

.

logoline