svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เผย "9 สัญญาณเสี่ยง" แก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวหลังพบสถิติไทยน่าห่วง

17 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดตัวโครงการ “Abuse is Not Love’  ในประเทศไทยเสริมความเข้าใจ 9 สัญญาณเสี่ยงแก้ความรุนแรงในครอบครัว หลังพบสถานการณ์ไทย-ทั่วโลกยังน่าห่วง “เหยื่อ” เปิดใจสุดทนพฤติกรรมผัวโหดทุบตีไม่สนลูกในท้อง ก่อนตัดสินใจเลิกทำงานเลี้ยงลูกคนเดียว  

 

เมื่อวันที่ 17 พ.ย.65  ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ โบเต้ (YSL Beauty) ภายใต้  ลอรีอัล ประเทศไทย แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ "Abuse is Not Love" เพื่อเผยแพร่ความรู้และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนของความรุนแรงในคู่รัก (Intimate Partner Violence) ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นแก้ปัญหาความรุนแรงในคู่รักในประเทศไทยต่อไป

 

"นายจะเด็จ  เชาวน์วิไล" ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากสถิติของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัวทางหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวัน โดยในปี 2563 มีข่าวฆาตกรรมในคู่รัก มากถึง 323 ข่าว คิดเป็น 54.5% ของข่าวความรุนแรงในครอบครัวทั้งหมด เมื่อวิเคราะห์ข่าวฆาตกรรมในคู่รัก พบอยู่ในช่วงอายุไม่เกิน 30 ปี ถึง 54.1%

 

เผย "9 สัญญาณเสี่ยง" แก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวหลังพบสถิติไทยน่าห่วง

 

สาเหตุหลักมาจากความหึงหวง ขาดสติเนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาเสพติด และความขัดแย้งเรื่องหนี้สิน ยิ่งไปกว่านั้น จากรายงานความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ปี 2564 พบหญิงไทยถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจไม่ต่ำกว่า 7 คนต่อวัน มีการแจ้งความปีละ 30,000 ราย

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ทำงานใกล้ชิดผู้ประสบปัญหา พบว่าหลายครั้งสามารถป้องกันไม่ให้รุนแรงบานปลายได้ หากผู้อยู่ในสถานการณ์มีความรู้ ความเข้าใจในสัญญาณความรุนแรงแต่เนิ่นๆ ดังนั้นตนหวังว่าโครงการ Abuse is Not Love จะทำให้ประชาชน ตระหนักเรื่องความรุนแรงในคู่รักมากขึ้น และส่งเสริมให้สังคมมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น 

เผย "9 สัญญาณเสี่ยง" แก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวหลังพบสถิติไทยน่าห่วง

 

ด้าน "นางสาวเน" (นามสมมติ) อายุ 25 ปี กล่าวว่า ตอนอายุประมาณ 19 ปี  เริ่มคบหากับอดีตแฟนได้ประมาณ 1 ปี ช่วงแรก ๆ ฝ่ายชายให้เกียรติ เอาใจใส่อย่างดี พอช่วงหลังเริ่มดุด่า มีปากเสียงรุนแรง หึงหวง กล่าวหาว่าตนจะไปมีแฟนใหม่ ตอนทะเลาะกันมักจะมีญาติฝ่ายชายพูดจาเสียดสีมีอคติ แต่ตนยอมเพราะรักและอยากสร้างครอบครัวร่วมกัน แม้ถูกทำร้ายร่างกายก็อดทน เมื่อฝ่ายชายขอโทษก็หายโกรธ แต่สุดท้ายเหตุการณ์รุนแรงขึ้นทำร้ายร่างกายรุนแรง ตบตี ชกต่อย ใช้มีดจี้คอ ผลักให้รถชน ที่รุนแรงสุดคือเตอะที่ท้องอย่างแรงต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล และถึงแม้แพทย์แจ้งว่าตนตั้งครรภ์ แต่ฝ่ายก็ไม่เลี่ยนพฤติกรรม ยังทำร้ายร่างกายอย่างรุนแง

 

ตนจึงตัดสินใจเลิกและทำงานหาเงินเลี้ยงลูกคนเดียวจนถึงปัจจุบัน โชคดีที่ได้รับคำแนะนำเสริมสร้างพลังใจจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเรื่อยมา โดยมีลูกเป็นกำลังใจสำคัญในการสู้กับปัญหาต่างๆ ดังนั้นตนจึงอยากฝากถึงคู่รักทุกรูปแบบว่า ควรให้เกียรติกัน ไม่ควรกระทำความรุนแรงไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม และต้องจับสัญญาณความรุนแรงที่เขาแสดงออกมาให้ดี เพื่อจะได้หาทางเอาตัวเองออกจากความุรนแรงหรือยุติความสัมพันธ์ 
   

ขณะที่"ผู้แทนอีฟส์ แซงต์ โลรองต์ โบเต้" กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในคู่รัก เป็นหนึ่งในรูปแบบของความรุนแรงที่พบได้ง่ายสุด ทั้งร่างกาย วาจา จิตใจ และเพศ การทารุณกรรมทางการเงิน เป็นต้น โดย 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกมีประสบการณ์ความรุนแรงในคู่รักในชีวิต แต่มีเพียงบางส่วนที่ได้รับความยุติธรรมอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 คนในครอบครัวต้องอยู่ด้วยกันมากขึ้น พบความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่า 60% เทียบกับช่วงก่อนระบาด

 

ทั้งนี้การแก้ปัญหาคือการตระหนักสัญญาณเชิงพฤติกรรมและการแสดงออก ซึ่งโครงการ Abuse is Not Love จะช่วยรณรงค์ให้เกิดความเข้าใจและตระหนักรู้มากขึ้น

 

โดยดำเนินการ 3 แนวทางคือ 1.สนับสนุนเงินทุนสำหรับงานวิจัยเชิงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันปัญหาความรุนแรงในคู่รัก 2. การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ 9 สัญญาณของความรุนแรงใน แก่ผู้คนอย่างน้อย 2 ล้านคนผ่านองค์กรพันธมิตรในหลากหลายประเทศ และ 3.อบรมพนักงาน YSL Beauty และ Beauty Advisor เกี่ยวกับความรุนแรงของคู่รักในสถานที่ทำงาน ซึ่งลอรีอัล กรุ๊ป ตั้งเป้าช่วยผู้หญิง 3 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2030 ผ่านโครงการต่างๆ โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นใน 17 ประเทศทั่วโลก  ได้ให้ความรู้แก่เยาวชนกว่า 100,000 คน
   

ทั้งนี้ 9 สัญญาณอันตรายที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงในคู่รักข้อ คือ 1.หมางเมิน ในวันที่พวกเขาโกรธ 2.แบล็กเมล ถ้าคุณปฏิเสธที่จะทำบางอย่าง 3.ทำให้อับอายขายหน้าจนคุณรู้สึกไม่ดีกับตนเอง 4.พยายามปั่นหัว เพื่อบังคับให้คุณทำหรือพูดบางอย่าง 5.หึงหวง ในทุกอย่างที่คุณทำ 6.ควบคุม ทุกเรื่อง 7.รุกราน ตรวจโทรศัพท์หรือติดตามที่อยู่ของคุณ 8.ตัดขาด คุณออกจากเพื่อนและครอบครัว และ 9.ข่มขู่ ด้วยการบอกว่าคุณไม่ปกติและปลูกฝังความกลัว

 

เผย "9 สัญญาณเสี่ยง" แก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวหลังพบสถิติไทยน่าห่วง
 

logoline