svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กรมสุขภาพจิต ยอมรับ พบภาวะ "แพทย์หมดไฟ" พุ่งขึ้น 6 เท่า 

09 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมสุขภาพจิต เผยจากการดูแลสุขภาพใจบุคลากรทางการแพทย์ พบว่าบุคลากรทางการแพทย์มีภาวะหมดไฟ (Burn-out) เพิ่มสูงขึ้น ชี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 ค่าเฉลี่ยร้อยละ 2.7 ปี  พ.ศ. 2564 ค่าเฉลี่ยร้อยละ 4.7 และพุ่งสูงถึงร้อยละ 12.2 ในปี 2565 

อีกรายงานความเคลื่อนไหวในแวดวงการแพทย์ โดยล่าสุด ทางด้านแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยาวนานกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บุคลาการทางการแพทย์ซึ่งต่างมีความมุ่งมั่นทำงานช่วยเหลือดูแลสุขภาพประชาชนอย่างไม่หยุดหย่อนมาโดยตลอด มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะมี "ภาวะหมดไฟ" (Burn-out) ดังปรากฎผลการประเมินสุขภาพจิตด้วย Mental Healtn Check In เพิ่มสูงขึ้น ในปีพ.ศ. 2565 ค่าเฉลี่ย 3 ไตรมาส อยู่ที่ร้อยละ 12.2

มีสาเหตุมาจากภาระความรับผิดชอบในภาวะวิกฤตของผู้ป่วยและจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความเหนื่อยล้าของจิตใจในการดูแลตนเองให้สามารถควบคุมอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรมที่เหมาะสม ในทุกสถานการณ์อย่างภาวะปกติได้ จึงอาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการสื่อสารและศักยภาพการทำงานที่อาจจะลดลง

กรมสุขภาพจิต ยอมรับ พบภาวะ "แพทย์หมดไฟ" พุ่งขึ้น 6 เท่า 

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต

กรมสุขภาพจิต ยอมรับ พบภาวะ "แพทย์หมดไฟ" พุ่งขึ้น 6 เท่า 

ดังนั้น หน่วยงานสาธารณสุขควรตระหนักและให้ความสำคัญ เรื่องการดูแลสุขภาพใจบุคลากรทางการแพทย์ โดยต้องช่วยกันสอดส่องดูแลจิตใจซึ่งกันและกัน คัดกรองสุขภาพใจอย่างสม่ำเสมอด้วย (MHCI) จัดให้มีเวลาและสถานที่ผ่อนคลายให้กับตนเองและมีเวลาให้ครอบครัว พร้อมปรับสภาพแวดล้อมให้สะอาดน่าอยู่น่าทำงาน เปิดโอกาสให้มีการแสดงออกและทำสิ่งที่สนใจเป็นพิเศษนอกเหนือจากการทำงานปกติ ให้อิสระและเคารพการตัดสินใจในการรับงานที่ไม่ขัดต่อมาตรฐานในการรักษา รวมทั้ง สร้างสมดุลชีวิตและการทำงาน (Work-life balance) เพื่อสุขภาพกายและจิตที่ดีขึ้น ซึ่งหากพบบุคลากรทางการแพทย์ที่มีภาวะเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตควรให้ได้รับการดูแลรักษา
          
นายแพทย์ศุภเสก วิโรจนาภา หัวหน้าสถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสุขภาพจิตชุมชน กล่าวว่า  จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูล (MHCI) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา พบว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่สุด หรือประมาณ 1 ใน 8 คน ที่มีภาวะหมดไฟ (Burn-out) สอดคล้องจากการศึกษาของต่างประเทศ พบว่า อาชีพ ที่มีภาวะหมดไฟสูงที่สุด คือ อาชีพแพทย์ 

ทั้งนี้ ยังพบว่าในบางพื้นที่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์มีสถานการณ์ภาวะหมดไฟ (Burn-out) เพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่องเป็นพิเศษ เช่น ในสามเดือนแรก (เดือน มกราคม - มีนาคม) มีภาวะหมดไฟ (Burn-out) ร้อยละ 9.1 และเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน เมษายน – มิถุนายน เป็น ร้อยละ 14.4 และล่าสุด ช่วงเดือน กรกฎาคม – กันยายน ยังสูงต่อเนื่องถึงร้อยละ 18.4 และจากสถานการณ์ทั่วประเทศ พบบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาครัฐ เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ทั้งสิ้นจำนวนไม่ต่ำกว่า 910 ราย ได้รับการดูแลติดตามต่อเนื่องในระบบสาธารณสุขแล้ว จำนวน 896 ราย คิดเป็นร้อยละ 98 ของผู้มีความเสี่ยง

กรมสุขภาพจิต ยอมรับ พบภาวะ "แพทย์หมดไฟ" พุ่งขึ้น 6 เท่า 

พบภาวะ "แพทย์หมดไฟ" พุ่งขึ้น 6 เท่า 

ทำความรู้จัก ภาวะหมดไฟ คืออะไร ?

ภาวะหมดไฟ ไม่ใช่โรค แต่มันคือสภาวะทางจิตที่ผิดปกติ และสามารถแก้ไขได้ ซึ่งภาวะนี้จะเกิดขึ้นต่อบุคคลที่มีการสะสมความเครียดในเรื่องต่าง ๆ เอาไว้มากเกินไปและไม่ได้รับการปฏิบัติ หรือจัดการอย่างเหมาะสม ซึ่งภาวะนี้สามารถนำไปสู่อาการต่าง ๆ ได้ เช่น โรคซึมเศร้า และการเจ็บป่วยทางกายภาพ

อาการเหล่านี้คือ “สัญญาณของคนหมดไฟ” กระบวนการเกิดขึ้นของภาวะหมดไฟ Freudenberger จิตแพทย์ชาวเยอรมัน ได้เขียนถึง 12 ขั้นตอนของการเกิดภาวะหมดไฟไว้ดังนี้

ระยะพิสูจน์ตนเอง จะเป็นขั้นแรก โดยคนๆ นั้นจะมีภาพของตัวเองในอุดมคติ และจะมีความทะเยอทะยานที่ต้องการจะพิสูจน์ตนเองตามภาพในอุดมคติ
ระยะทำงานหนัก เป็นขั้นที่ทำงานหนัก เพื่อที่จะแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าเราสำคัญ เป็นระยะที่มีความคาดหวังจากการทำงานสูง จึงทำงานหนักและสนใจแต่เรื่องงาน
ระยะไม่ใส่ใจความต้องการของตนเอง เป็นระยะที่มีการทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างมากเกินไป จนดูเหมือนเป็น “คนบ้างาน” ทำให้คนๆ นั้นเริ่มละเลยความต้องการพื้นฐานของตนเอง เช่น นอนน้อย ทำงานจนดึก หอบงานไปทำต่อที่บ้าน ไม่ไปเที่ยว ใช้เวลากับเพื่อนฝูงหรือครอบครัวน้อยลง
ระยะเริ่มเกิดความขัดแย้งและสับสน ในขั้นนี้-ระยะนี้ จะเริ่มตระหนักแล้วว่าชีวิตของตนเองมันมีบางอย่างที่ “ผิด” ไป หรือเปลี่ยนไป แต่ก็ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าคืออะไร คนที่อยู่ในระยะนี้มักจะเริ่มมีอาการเจ็บป่วยทางกายบ่อยๆ เช่น ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง นอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร เป็นต้น
ระยะปรับคุณค่าใหม่ ระยะนี้จะเกิดขึ้นหลังจากเกิดความสับสนในจิตใจ แต่ยังมุ่งหวังที่จะทำสิ่งๆนึงที่ต้องการให้สำเร็จต่อไป ทำให้คนๆ นั้นพยายามปรับเปลี่ยนมุมมองคุณค่าสำหรับตนเองใหม่ โดยมองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือ สิ่งที่ต้องการให้สำเร็จเท่านั้น ทำให้ละเลยความต้องการพื้นฐานของร่างกายและความสัมพันธ์อื่นๆ ไปจนหมดสิ้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในใจตนเองด้วยการไม่สนใจหรือไม่รับรู้เรื่องอารมณ์
ระยะปฏิเสธไม่รับรู้ปัญหา ผู้ที่อยู่ในระยะนี้จะเริ่มแสดงอารมณ์ ของการขาดความอดทน โกรธง่าย ดูก้าวร้าว มักจะต่อว่าหรือโทษว่าเป็นเพราะงานหรือเพราะคนอื่น โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วเป็นตัวเองนั่นแหละที่เปลี่ยนไปฃ

กรมสุขภาพจิต ยอมรับ พบภาวะ "แพทย์หมดไฟ" พุ่งขึ้น 6 เท่า 


ระยะแยกตัว เป็นระยะที่จะเข้าสังคมน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลีกเหลี่ยงการพบปะผู้คน ทำงานโดยแทบไม่มีความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงาน รู้สึกไม่มีแรงจูงใจในการทำงานและไม่มีทิศทาง จึงทำงานแบบยึดติดกับกฏหรือคำสั่งอย่างเคร่งครัด
ระยะพฤติกรรมเกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นระยะที่บุคคลรอบข้าง สามารถสังเกตเห็นถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะมีอาการ หรือพฤติกรรมหงุดหงิด ฉุนเฉียว ขี้กลัว และไม่ค่อยดูแลตัวเอง
ระยะมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเองและคนอื่น ในระยะนี้จจะรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นหุ่นยนต์ ทำงานเดิมๆ แบบให้จบไปวันๆ ไม่มองถึงอนาคต และไม่รับรู้ถึงความต้องการของตัวเอง
ระยะว่างเปล่าภายใน ซึ่งในระยะนี้จะรู้สึกว่าภายในใจตัวเองว่างเปล่า อาจหันเหไปทำกิจกรรมอื่นที่ไม่เหมาะสม เช่น กินมาก มีเพศสัมพันธ์ไม่เหมาะสม ดื่มเหล้าหรือใช้ยาเสพติด เพื่อช่วยลดความรู้สึกว่างเปล่า
ระยะของอาการซึมเศร้า ในระยะนี้จะมีอาการของภาวะซึมเศร้าอย่างเต็มที่ เช่น ไม่อยากทำอะไร รู้สึกตัวเองไร้ค่า ไร้ความหวัง ไร้อนาคต ไม่มีจุดมุ่งหมายในชีวิต และมีอาการอื่นๆ เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร และอ่อนเพลีย
ระยะหมดไฟอย่างเต็มที่ ในระยะนี้จะมีพฤติกรรมหนีจากสถานการณ์ที่ประสบอยู่ เช่น คิดจะลาออก หรือบางคนก็หนีไปไม่มาทำงานดื้อๆ ในบางคนที่มีอาการรุนแรง อาจถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย
โดยที่ในระยะที่ 11–12 เป็นระยะที่ควรไปพบแพทย์และรับการบำบัดรักษา

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ยอมรับ พบภาวะ "แพทย์หมดไฟ" พุ่งขึ้น 6 เท่า 

เมื่อไหรที่คุณเริ่มมีอาการเหนื่อยหน่าย หมดแรงบันดาลใจ ซึ่งอาการเหล่านี้จะแตกต่างไปตามแต่ละบุคคล ซึ่งมักจะแสดงอาการออกมาอย่างต่อเนื่องและเป็นการกระทำที่ซ้ำ ๆ ซึ่งหากคุณกำลังมีอาการภาวะหมดไฟ มักจะทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ หรือประสิทธิภาพในการทำงานลดลง รวมไปถึงการใช้ชีวิตคุณก็จะรู้สึกว่าไม่มีความสุขอย่างที่เคย อย่างไรก็ตามภาวะหมดไฟ นี้ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ตื่นเช้าขึ้นมา แล้วจะ เป็นเลย เพราะภาวะดังกล่าวจะเริ่มจากการสะสมความเครียด และค่อย ๆ ทำตัวร้ายกาจขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมันแทรกซึมเข้ามาในจิตใจและร่างกายของเรานานๆเข้า กว่าจะรู้ตัว บางครั้งก็สายไปเสียแล้ว

จะทำยังไงเมื่อคิดว่าเริ่มมีอาการ
เมื่อเกิดภาวะหมดไฟ สิ่งที่ต้องทำคือ เติมไฟ ให้ตัวเอง!!

เริ่มต้นจากการเพิ่มทัศนคติด้านบวกให้กับตนเอง หยุดพักเพื่อจัดการความเครียด ออกกำลังกาย สูดอากาศที่บริสุทธิ์ วิ่งหรือเล่นกีฬาเป็นหมู่ มองหาแรงบัลดาลใจ อ่านหนังสือ หรือบทความดีๆ ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น จัดโต๊ะใหม่ ปรับความสมดุลในชีวิต แยกเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวให้ชัดเจน หรือถ้าหากรับมือไม่ไหว ขอแนะนำให้เข้าพบจิตแพทย์

ภาวะหมดไฟเป็นเรื่องธรรมชาติ เมื่ออาการได้เกิดขึ้น และคุณรู้ตัวก่อนตั้งแต่เนิ่นๆ และรับมือกับ ‘การหมดไฟ’ ได้ ก่อนจะทุกอย่างจะเปลี่ยนไป

กรมสุขภาพจิต ยอมรับ พบภาวะ "แพทย์หมดไฟ" พุ่งขึ้น 6 เท่า 

กรมสุขภาพจิต ขอให้สังคมเข้าใจและส่งกำลังใจให้บุคลากรสาธารณสุข ดูแลสุขภาพใจ และร่วม “วัดใจ เติมพลัง สังคมมีสุข” ด้วยการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตทางคิวอาร์โคด MHCI ผ่านไลน์แอพลิเคชั่น พร้อมรับทราบผลและคำแนะนำเบื้องต้น เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มใจและอารมณ์ด้วยตนเอง และยังสร้างวัคซีนใจให้สังคมมีสุข

ขอขอบคุณที่มา กรมสุขภาพจิต มา ณ โอกาสนี้ 

กรมสุขภาพจิต ยอมรับ พบภาวะ "แพทย์หมดไฟ" พุ่งขึ้น 6 เท่า 

logoline