svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รู้จัก โรคเมลิออยด์ ภัยร้ายที่เกิดจากการสัมผัสดินหรือน้ำ 

22 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โรคเมลิออยด์ เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สามารถพบได้ทั่วไปในดินและน้ำ โดยติดต่อจากการสัมผัสกับดินหรือน้ำ ผ่านทางบาดแผลที่ผิวหนัง ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการไข้นานเกินกว่า 5 วัน ควรรีบไปพบแพทย์

กรมควบคุมโรค ได้ออกคำเตือนพร้อมให้ข้อมูลว่า ในช่วงนี้ยังคงมีฝนตกในบางพื้นที่ ทำให้มีน้ำท่วมขังหรือดินชื้นแฉะ ซึ่งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมและเกษตรกร หรือผู้ที่ต้องทำงานสัมผัสดินและน้ำโดยตรง รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง และโรคธาลัสซีเมีย จะมีความเสี่ยงป่วยโรคเมลิออยด์สูง

 

โรคเมลิออยด์ (Melioidosis) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เบอโคโดเลีย สูโดมาลิอาย (Burkholderia pseudomallei) ซึ่งพบได้ทั่วไปในดินและน้ำ สามารถติดต่อจากการสัมผัสกับดินหรือน้ำ ผ่านทางบาดแผลที่ผิวหนัง หรือหายใจเอาฝุ่นจากดินหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป เชื้อเมลิออยโดสิสสามารถอยู่ได้ในซากสัตว์ที่อยู่ในดินและน้ำ

รู้จัก โรคเมลิออยด์ ภัยร้ายที่เกิดจากการสัมผัสดินหรือน้ำ 

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ส่วนใหญ่คือ ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องสัมผัสดินและน้ำ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไต และผู้ที่มีสุขภาพอ่อนแอ เช่น ติดสุราหรือทานยากดภูมิคุ้มกัน โรคนี้ ก็อาจเข้าแทรกซ้อนได้ สำหรับอาการโดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีไข้สูง หรือมีไข้เป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ หายใจไม่สะดวก หรือหอบเหนื่อย ซึมแบบไม่รู้ตัว ผู้ป่วยบางรายมีอาการคล้ายโรคปอดบวมรุนแรง บางรายมีอาการคล้ายวัณโรค

รู้จัก โรคเมลิออยด์ ภัยร้ายที่เกิดจากการสัมผัสดินหรือน้ำ 

ย้อนวันวานโรคเมลิออยด์ 
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงสถานการณ์โรคเมลิออยโดสิส ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 กรกฎาคม 2563 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิส จำนวนทั้งสิ้น 10 ราย มีผู้เสียชีวิต จำนวน 3 ราย โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดอยู่ในพื้นที่จังหวัดสงขลา (จะนะ, เมือง และหาดใหญ่) พบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง

โดยพบเพศชาย 8 ราย เพศหญิง 2 ราย กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 55 – 64 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป และกลุ่มอายุ 35 – 44 ปี โดยอาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ อาชีพเกษตรกรรม และรับจ้าง และจากการสุ่มตรวจหาเชื้อเมลิออยโดสิส ในดิน โดยคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี พ.ศ. 2563 พบเชื้อเมลิออยโดสิส ในอำเภอเมือง, จะนะ, สะบ้าย้อย, สะเดา และคลองหอยโข่ง

ขอแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันตนเองให้ปลอดภัย จากโรคเมลิออยด์ คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากต้องสัมผัสดินหรือ น้ำ เช่น ทำการเกษตร จับปลา ลุยน้ำ หรือลุยโคลน ควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาว หรือชุดลุยน้ำ และควรทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาด และฟอกสบู่ทันที รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลเมื่อต้องสัมผัสดินและน้ำหากมีแผลถลอก ซึ่งสัมผัสกับดินหรือน้ำควรทำความสะอาดทันที ในบุคคลที่มีอาการของโรคเบาหวาน และมีบาดแผลรุนแรง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับดินและน้ำ นายแพทย์เฉลิมพล กล่าว

นอกจากนี้ เน้นย้ำประทานอาหารสุกสะอาด ไม่ประทานอาหารที่ปนเปื้อนจากดิน ฝุ่นดิน หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมฝุ่น และการอยู่ท่ามกลางสายฝน ทั้งนี้ หากมีอาการไข้นานเกิน 5 วัน หรือมีบาดแผลอักเสบเรื้อรัง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที 

เกาะติดสถานการณ์โรคเมลิออยด์ในปี 2565 

สำหรับสถานการณ์โรคเมลิออยด์ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-10 ตุลาคม 2565 พบผู้ป่วย 2,314 ราย เสียชีวิต 34 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมา 55-64 ปี และ 45-54 ปี ตามลำดับ พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตกระจายอยู่ทุกภาคของประเทศไทย แต่พื้นที่ที่พบอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราตายสูงสุด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้

รู้จัก โรคเมลิออยด์ ภัยร้ายที่เกิดจากการสัมผัสดินหรือน้ำ 

โรคเมลิออยโดสิส

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Burkholderia pseudomal lei (B. pseudomallei) ก่อให้เกิดอาการหลายลักษณะ ได้แก่ ติดเชื้อที่ผิวหนัง ติดเชื้อในปอด ติดเชื้อในกระแสเลือด และติดเชื้อในอวัยวะภายใน (ตับ ไตสมอง กระดูก)

การติดเชื้อผ่านทางผิวหนัง
อาจทำให้เกิดอาการแผลเรื้อรัง เกิดฝีหรือหนองตามผิวหนัง และอาจมีตุ่มขึ้น เป็นที่อยู่ของเชื้อแบคทีเรีย หากรับเชื้อผ่านทางน้ำลาย เช่น การรับประทาน จะทำให้ติดเชื้อที่ต่อมน้ำลาย มีลักษณะบวมขึ้นมาเป็นฝีหรือหนอง หรืออาจบวมบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่คอ มีอาการกดเจ็บได้

การติดเชื้อในปอด
จะทำให้มีอาการไข้ขึ้น และอาการทางเดินหายใจ ไอ มีเสมหะ หากนำเสมหะมาตรวจดูอาจพบเชื้อได้ และหากเอ็กซเรย์ที่ปอดอาจพบก้อนหนอง บางครั้งแพทย์สับสนระหว่างวัณโรค

การติดเชื้อในกระแสเลือด
เชื้อสามารถเข้าทางผิวหนังหรือปอด เช่น กรณีที่มีบาดแผล เชื้ออาจเข้าทางบาดแผลและติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ความดันโลหิตต่ำ ช็อค เป็นฝีในตับหรือในม้าม สามารถเสียชีวิตได้ภายใน 2-3 วัน หากได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง นอกจากการติดเชื้อตามที่กล่าวมา ยังมีการติดเชื้อชนิดเรื้อรังอีกหนึ่งประเภทในโรคเมลิออยโดสิส

ความอันตรายของโรคเมลิออย
คือการวินิจฉัยโรคช้าเกินไปทำให้รักษาไม่ทันเวลา ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตตามมา เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด การเกิดภาวะไตวาย หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ทำให้อวัยวะอื่นทำงานบกพร่องไป การได้รับยาไม่ถูกชนิดเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงของโรคได้

รู้จัก โรคเมลิออยด์ ภัยร้ายที่เกิดจากการสัมผัสดินหรือน้ำ 

ตัวเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ได้แก่ ผ่านทางผิวหนัง เช่น หากมีบาดแผลและเดินบนดินหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ ทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ผ่านทางลมหายใจ กรณีที่มีการฟุ้งของฝุ่นหรือดินที่มีเชื้ออยู่และสูดดมเข้าไป ก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ปอด จะส่งผลให้เกิดอาการปอดอักเสบ

ในคนดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคเมลิออยโดสิส หากสัมผัสไปโดนสารคัดหลั่งก็มีโอกาสติดเชื้อได้ รวมถึงผู้ที่ดูแลวัวหรือควายซึ่งเป็นสัตว์ที่สามารถป่วยเป็นโรคเมลิออโดสิสได้ มีความเสี่ยงเช่นกัน สำหรับเชื้อที่อยู่ในซากสัตว์ที่ตายไปแล้วและถูกฝัง เชื้อจะคงอยู่ในดินบริเวณนั้นและอยู่ตลอดไป หากมีการสัมผัสที่ดินบริเวณนั้นก็มีโอกาสได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย

บุคคลกลุ่มเสี่ยงได้แก่
ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโลหิตจางหรือทาลัสซีเมีย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี รวมถึง คนไข้โรคมะเร็งบริเวณต่าง ๆ และกลุ่มเกษตรกรที่ต้องสัมผัสกับดินและน้ำด้วยเท้าเปล่า ขอแนะนำคือพยามสวมใส่รองเท้าบูทหากเป็นไปได้ หรือถ้าหากหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าบนดินและน้ำไม่ได้ พยายามอย่าปล่อยให้เท้ามีบาดแผล และควรทำความสะอาดให้ดีหลังเดินบนดินและน้ำ หากมีไข้ควรรีบพบแพทย์แต่แรกอย่าปล่อยทิ้งไว้นาน เพื่อการรักษาที่ทันเวลา ป้องกันอาการรุนแรงที่เป็นอันตราย

โรคเมลิออยด์ สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมีการวินิจฉัยถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก รักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะใน 2 สัปดาห์แรกด้วยวิธีฉีด หลังจากนั้นแพทย์จะให้ยาชนิดกินต่อไปเป็นเวลา 5 เดือน หากมีภาวะแทรกซ้อนอาจให้ยาเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคเมดิออยด์ สามารถโทรศัพท์สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

รู้จัก โรคเมลิออยด์ ภัยร้ายที่เกิดจากการสัมผัสดินหรือน้ำ 

ขอขอบคุณที่มาข้อมูลจาก :
อ. นพ.ประวัฒน์ จันทฤทธิ์
สาขาวิชาอายุรศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
 

logoline