svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นิสิตไทยเจ๋งคว้าที่ 3 ของโลกกับการแข่งขัน IMAV 2022 ที่ ประเทศเนเธอร์แลนด์

10 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทีมนิสิตไทย CiiBa มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สุดเจ๋งคว้าที่ 3 การแข่งขันอากาศยานไร้คนขับด้านการเกษตรในโรงเรือน IMAV 2022 (International Micro Air Vehicle Conference and Competition 2022 ณ. ประเทศเนเธอร์แลนด์

เรียกว่านิสิตไทยไม่ธรรมดาจริงๆล่าสุดคว้าชัยอันดับที่3 ของโลก ในการแข่งขัน  IMAV 2022 (International Micro Air Vehicle Conference and Competition 2022) การแข่งขันอากาศยานไร้คนขับด้านการเกษตรในโรงเรือน ณ เมืองเดลฟท์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยการแข่งขัน IMAV 2022 เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์บินอัตโนมัติที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นเป็นปีที่ 13 มี 25 ทีมจากมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชนจาก 11 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการแข่งขัน  เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ สเปน  เยอรมนี บราซิล อังกฤษ ไทย เป็นต้น โดยในการแข่งขัน แต่ละทีมจะต้องสร้างสร้างหุ่นยนต์บินอัตโนมัติ หรือโดรน เพื่อทำภารกิจต่าง ๆ

 

นิสิตไทยเจ๋งคว้าที่ 3 ของโลกกับการแข่งขัน IMAV 2022  ที่ ประเทศเนเธอร์แลนด์

 

 

ทั้งนี้ทางด้านอาจารย์ และเหล่านิสิตได้เล่าถึงความรู้สึกความเป็นมาเป็นไปในการเข้าร่วมการแข่งขัน รวมถึงมุมมองวิสัยทัศน์ ในอนาคต เกี่ยวกับเทคโลโลยีต่างๆที่จะพัฒนาประเทศต่อไปอีกด้วย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กาญจนพันธุ์ สุขวิชชัย ภาควิชาไฟฟ้า และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชินภัทร ทิพโยภาส ภาควิชาการบินและอวกาศ เผยรายละเอียดการเริ่มต้นโครงการไว้ว่า... โดรนหรืออากาศยานไร้คนขับได้ถูกพัฒนาและนำมาใช้ประโยชน์กันอย่างมากหลากหลายรูปแบบ ด้วยภารกิจและเป้าหมายการนำอากาศยานไร้คนขับไปใช้ในอนาคตจำเป็นต้องมีการบูรณาการหลากหลายความรู้เข้าด้วยกัน ทั้งด้านตัวอากาศยานที่ต้องมีสมรรถนะที่ดีขึ้น และด้านการนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาร่วมเพื่อสนับสนุนการทำงานของอากาศยาน โครงการจึงได้เริ่มต้นจากความร่วมมือระหว่างทีม SKUBA จากห้องปฏิบัติการณ์ Robotcitizens และทีมจากห้องปฏิบัติการณ์ CiiMAV (Center of innovative and integrated MAV) ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านเข้าด้วยกัน

 

นิสิตไทยเจ๋งคว้าที่ 3 ของโลกกับการแข่งขัน IMAV 2022  ที่ ประเทศเนเธอร์แลนด์

 

CiiMAV : Center of Innovative & Integrated Mini/Micro Air Vehicle เป็นห้องปฏิบัติการในภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เน้นการพัฒนานิสิตผ่านการออกแบบวิจัยพัฒนาอากาศยานรูปแบบใหม่ (Unconventional Type) ที่มีความสามารถมากขึ้นและเหมาะสมกับภารกิจเฉพาะ

 

นิสิตไทยเจ๋งคว้าที่ 3 ของโลกกับการแข่งขัน IMAV 2022  ที่ ประเทศเนเธอร์แลนด์

 

CiiMAV ก่อตั้งในปี 2010 เพื่อเป็นสถานที่ให้นิสิตในภาควิชาฯและนิสิตอื่นๆในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. ที่สนใจในด้านการบินและการออกแบบพัฒนาอากาศยานได้ประยุกต์ใช้ความรู้ที่เรียนในห้องจากภาควิชาฯมาทำงานจริงตั้งแต่การกำหนดความต้องการจากภารกิจ (mission requirements) วิเคราะห์ออกแบบ (design/analysis) ทดสอบระบบและชิ้นส่วน (subsystem testing) ผลิตสร้าง (munufacture) บินทดสอบ (flight test) และนำไปใช้ในภารกิจ (operation) ซึ่งนอกจากทำให้สามารถเข้าความรู้ทางวิศวกรรมที่เป็น Hard Skill แล้วนิสิตยังได้มีโอกาสในการฝึก Soft Skill ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกับผู้อื่น การบริหารจัดการเวลา การสื่อสาร เป็นต้น ที่ผ่านมา CiiMAV เริ่มเข้าร่วมการแข่งขันในระดับชาติจากกลุ่มนิสิต5คน และถ่ายทอดต่อเนื่องกันมาจนถึงการเข้าร่วมแข่งในในต่างประเทศ และได้รับรางวัลจากเวทีต่างๆทั้งไทย สิงค์โปร ไต้หวัน ตุรเคีย รวมไปถึงออกแบบพัฒนาอากาศยานไร้คนขับให้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและเอกชนภายนอก

 

นิสิตไทยเจ๋งคว้าที่ 3 ของโลกกับการแข่งขัน IMAV 2022  ที่ ประเทศเนเธอร์แลนด์

 

โดยทีม SKUBA เป็นส่วนหนึ่งของห้องปฏิบัติการณ์ RobotCitizens ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการในภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเน้นในส่วนของการออกแบบและพัฒนาฮาร์ดแวร์หุ่นยนต์ วงจระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) และ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) โดยทีม SKUBA เริ่มต้นจากการทำการออกแบบ, พัฒนา, และ แข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอลขนาดเล็ก (Small Size Football robot) เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันในรายการ RoboCup soccer SSL League ซึ่งถูกจัดขึ้นมาเพื่อให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา นักวิจัย ทั่วโลกมาทำการพัฒนาหุ่นยนต์เตะฟุตบอลแข่งขันกัน โดยในตอนนั้น SKUBA ได้เป็นแชมป์โลกรายการนี้ 4 ปีซ้อน หลังจากนั้น SKUBA ได้ทำการเปลี่ยนมาเป็นการพัฒนาหุ่นยนต์บริการ (Service robot) ซึ่งเป็นการนำปัญญาประดิษฐ์มาทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ เพื่อช่วยในการอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ เช่น ช่วยยกของที่มีน้ำหนักมาก, ทำงานบ้าน, จัดของ เป็นต้น และ SKUBA ได้ทำการส่งหุ่นยนต์เข้าแข่งขันในรายการ RoboCup @home challenge ที่ผ่านมา SKUBA เคยได้รางวัลชนะเลิศ 3 รายการติดต่อกัน ปัจจุบัน ทีม SKUBA มุ่งเน้นการนำความรู้ทางด้านหุ่นยนต์ มาขยายไปยังหุ่นยนต์รูปแบบอื่นๆ เช่น หุ่นยนต์ดำนำ หุ่นยนต์บิน และ หุ่นยนต์ทางการทหาร เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ให้กับประเทศสำหรับอนาคตที่หุ่นยนต์จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของมนุษย์

 

นิสิตไทยเจ๋งคว้าที่ 3 ของโลกกับการแข่งขัน IMAV 2022  ที่ ประเทศเนเธอร์แลนด์

 

มุมมองวิสัยทัศน์ ในอนาคตเกี่ยวกับการทำโครงการต่างๆ

-นอกจากการลงทุนด้านเทคโนโลยีพัฒนาความรู้ให้กับนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยและวิศวกรในปัจจุบันของประเทศ หนึ่งในพื้นฐานของการพัฒนาประเทศให้ก้าวทันเทคโนโลยีในระดับสากลอย่างยั่งยืนเราจำเป็นต้องมีการพัฒนาบุคลากรนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์และนักวิศวกรควบคู่ไปด้วย มุมมองในอนาคต พวกเราจะเป็นแรงหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาเยาวชนและบุคคลากรให้มีทักษะเกี่ยวกับการพัฒนาหุ่นยนต์ในอนาคต ซึ่งโชคดีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มก.เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการพัฒนานิสิต สร้างแรงบันดานใจและปลุกความสนใจในตัวนิสิตของคณะผ่านกิจกรรมการแข่งขันต่างๆทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติมาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้นิสิตในคณะฯได้พัฒนาตนเองและมีโอกาสไปเรียนรู้จากการพบปะกับเพื่อนๆต่างสถาบันทั้งในและนอกประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี

 

นิสิตไทยเจ๋งคว้าที่ 3 ของโลกกับการแข่งขัน IMAV 2022  ที่ ประเทศเนเธอร์แลนด์

 

โดยทีมนิสิตไทย  CiiBa   มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ภาควิชาไฟฟ้า  นายณัฐชนน นนทพิบูลย์,นายกันต์ ยาใจ ,นายนภณัฏฐ์ ทองตัน ,นายสิทธิพร ตันติบริรักษ์ ภาควิชาการบินและอวกาศ นางสาวจารวี พรมนารีนาวสาวรุจิพา ชยุตาพงศ์ ,นายปิติพล เกื้อกูล ,นายสิรินทร์ เกตุรวม ,นายกิตติพล ฝ่ายเดช ,นายภคพล ชัยวงศ์นาถ,นายรัฐนันท์ ลาภสุขสถิต ,นางสาวสโรชา เจตะวัฒนะ ,นายวรนภ ใหลตระกูล  เผยถึงการมารวมตัวทำโครงการนี้ว่า....ด้วยภารกิจของการแข่งขันและขยายขีดความสามารถของโดรน ปัจจุบันจึงต้องมีการบูรณาการศาสตร์แขนงต่างๆเข้าด้วยกัน และด้วยความเชี่ยวชาญของแต่ละห้องปฏิบัติการและความรู้ของนิสิตในคณะที่แตกต่างกันในแต่ละสาขาภาควิชา การทำงานคนเดียวไม่สามารถทำให้นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นนั้นใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงได้มีการรวมตัวของกันนิสิตและอาจารย์จากทั้งสองห้องปฏิบัติการในการพัฒนาโดรนเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ ซึ่งภารกิจเป็นการใช้โดรนขนาดเล็กเพื่อบินสำรวจในโรงเรือนปลูกมะเขือเทศ เพื่อตรวจสอบสุขภาพ นับจำนวนและตรวจหาความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะทางใบหรือที่ผลของมะเขือเทศเอง

 

นิสิตไทยเจ๋งคว้าที่ 3 ของโลกกับการแข่งขัน IMAV 2022  ที่ ประเทศเนเธอร์แลนด์

 

โดยในโรงเรือนจะมีการปลูกมะเขือเทศเป็นแถวยาวมีช่วงว่างให้คนเดิน รวมถึงช่องว่างที่โดรนจะสามารถเข้าไปบินสำรวจได้ในการแข่งขันครั้งนี้สูงสุดเพียง 1 เมตร ซึ่งในสภาวะจริงนั้นใบและกิ่งของมะเขือเทศอาจจะโผล่ยื่นออกมาในทางเดินนี้ทำให้ช่องว่างจริงๆนั้นแคบกว่า 1 เมตร ทั้งนี้ด้วยพื้นที่จำกัดต้องบินในช่องแคบและภายในอาคารโรงเรือนทำให้ต้องพัฒนาโดรนให้มีขนาดเล็กและเบา ตลอดจนสามารถบรรทุกคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กขึ้นไปบนตัวโดรนด้วย

 

นิสิตไทยเจ๋งคว้าที่ 3 ของโลกกับการแข่งขัน IMAV 2022  ที่ ประเทศเนเธอร์แลนด์

 

 

ซึ่งโดรนทั่วไปที่มีขายและใช้กันทั่วไปอาจจะมีขนาดเล็กและเบาแล้วแต่ก็ไม่สามารถบรรทุกน้ำหนักเพิ่มเติมได้ ดังนั้นนิสิตวิศวกรรมการบินจึงมีหน้าที่หลักในการออกแบบและสร้างโดรนขึ้นมาสำหรับการแข่งขันในครั้งนี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้เราจำเป็นต้องอาศัยนิสิตที่สนใจด้านหุ่นยนต์เข้ามาทำงานร่วมกันกับการออกแบบอากาศยานหรือโดรนเนื่องจากการบินในโรงเรือนนั้นโดรนจะไม่สามารถใช้การระบุตำแหน่งและนำทางได้จากการใช้สัญญาณจากดาวเทียม (อย่างเช่นที่เราคุ้นกันด้วยระบบนำทางจาก GPS ในรถยนต์) เนื่องจากในโรงเรือนนั้นไม่สามารถรับสัญญาณจากดาวเทียมได้ อีกทั้งยังมีใบไม้กิ่งไม้ รวมถึงเชือกที่ใช้ยึดโยงมะเขือเทศ ดังนั้นจึงต้องมีการนำระบบการนำทางด้วยภาพเข้ามาช่วย ตลอดจนในภารกิจที่จำเป็นต้องมีการสำรวจมะเขือเทศเองก็ตาม ต้องมีการนำภาพที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อบอกคุณภาพ จำนวนและความเสียหายของมะเขือเทศ ในช่วงที่สถานการณ์ของโควิดเริ่มผ่อนคลายประกอบกับการปิดเทอมภาคฤดูร้อนที่ผ่านมานิสิตจากห้องปฏิบัติการทั้งสองจึงได้มารวมตัวกันเพื่อพัฒนานวัตกรรมโดรนในครั้งนี้

 

นิสิตไทยเจ๋งคว้าที่ 3 ของโลกกับการแข่งขัน IMAV 2022  ที่ ประเทศเนเธอร์แลนด์

 

ทั้งนี้เหล่านิสิตได้เล่าเรื่องราวความรู้สึกของการไปแข่งขันครั้งว่า...ในมุมของทีม  CiiBa  เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้คนที่เข้ามาทำงานนี้ส่วนใหญ่เป็นคนที่เพิ่งได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้งาน ซึ่งตัวแทนที่ไปแข่งรวมถึงคนในทีมก็ค่อนข้างรู้สึกกดดันและตื่นเต้นเนื่องจากการแข่ง IMAV ถือว่าเป็นการแข่งระดับโลก แต่พวกเราก็พยายามอย่างสุดความสามารถ เพื่อที่จะทำให้โดรนออกมาตรงตาม requirement ของรายการให้ได้มากที่สุด โดยตอนที่เราไปถึงหน้างาน เราก็รู้สึกกดดันและตื่นเต้นมากเนื่องจากทีมอื่นที่มาแข่ง ส่วนใหญ่จะเป็นตัวแทนจากบริษัทหรือมหาวิทยาลัยระดับโลก รวมถึงตอนบินทดสอบเครื่องในวันซ้อม ที่เกิดปัญหาทั้งทางด้าน mechanic และระบบต่างๆ ภายในโดรนทำให้ต้องมีการแก้ปัญหาหน้างานซึ่งทำให้รู้สึกกังวลเป็นอย่างมาก แต่ด้วยคำแนะนำจากอ.และพี่ๆ ในทีมทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ ในวันแข่งจริงนั้นก็เกิดปัญหาขึ้นเช่นเดียวกัน แต่เป็นในด้าน Software ซึ่งทำให้ตกเป็นความกดดันของฝ่ายทีม SKUBA ส่วนฝั่ง CiiMAV นั้นจะรู้สึกตื่นเต้นและลุ้นในวันแข่งจริง โดยหลังจากแก้ปัญหาและทำภารกิจสำเร็จแล้ว ทางเรารู้สึกโล่งใจและมีความสุขมากๆ

 

นิสิตไทยเจ๋งคว้าที่ 3 ของโลกกับการแข่งขัน IMAV 2022  ที่ ประเทศเนเธอร์แลนด์

 

ความรู้สึกตอนไปแข่งขัน คือความรู้สึกที่กดดันแต่ก็ยังมีความสนุกอยู่ด้วย เนื่องจาก IMAV เป็นการแข่งขันระดับโลกโดยมีทีมจากหลากหลายมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกและบริษัทต่างๆเข้าร่วมการแข่งขันด้วย เนื่องด้วยภารกิจที่เราไปทำการแข่งขันนั้นเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากและท้าทาย เนื่องจากเป็นการทำภารกิจนำทางในร่มที่อยู่บนอากาศยานไร้คนขับแบบอัตโนมัติซึ่งทางเรายังไม่เคยทำและมีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ ระหว่างการแข่งขันก็ได้เจอปัญหาอะไรมากมายที่เราไม่เคยเจอ เช่นที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ UV ค่อนข้างสูงทำให้เซนเซอร์ต่างๆที่เราเตรียมตัวไปค่อนข้างรวน จึงต้องทำการแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้า โดยต้องนั่งแก้ที่โรงแรมทั้งคืนและกลับไปทดสอบที่สนามจริงในวันซ้อม จนสามารถทำภารกิจได้อย่างราบรื่น ใช้คำว่าตอนนั่งแก้นั้นเหนื่อยจนต้องร้องขอชีวิต ตอนนั้นไม่รู้หลับคาคอมไปตอนไหน จำได้ว่าตื่นมาก็ทำงานต่อเลยแล้วก็เดินทางไปสนามแข่งต่อ แต่ก็ยังสนุกกับมันและยังอยากนั่งทำมันต่อจนสำเร็จ

 

นิสิตไทยเจ๋งคว้าที่ 3 ของโลกกับการแข่งขัน IMAV 2022  ที่ ประเทศเนเธอร์แลนด์

 

 

มุมมอง อนาคตของประเทศไทยเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ต่างๆที่จะพัฒนาขึ้น

-เนื่องจากว่าเทคโนโลยีต่างๆก็มีเกิดขึ้นมาใหม่อยู่เรื่อยๆ ทำให้คิดว่าเราก็อาจจะมีโอกาสที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันของคนทั่วไปมากขึ้น และมีอีกส่วนที่อยากทำการพัฒนาคือการพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้ได้มี skill ในการทำงานและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้เติบโตไปพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆให้ประเทศต่อไป

 

อยากจะฝากอะไร เกี่ยวกับความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยี การบิน อวกาศ

-คิดว่าในตอนนี้เทคโนโลยีทางด้ายการบินในประเทศของเราก็ค่อนข้างพัฒนาไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ด้วยความที่มันถูกใช้และจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มอาจจะทำให้คนส่วนใหญ่มองข้ามความสำคัญของด้านนี้ไป ซึ่งโดยจริงๆแล้วความรู้ทางด้านการบินสามารถนำมาใช้เพื่อการพัฒนาและความก้าวหน้าในเรื่องต่างๆ ได้เยอะมาก เช่น การคมนาคม การสำรวจ เป็นต้น จึงอยากให้ทุกๆฝ่ายหันมาให้ความสำคัญเกี่ยวกับด้านการบิน

 

นิสิตไทยเจ๋งคว้าที่ 3 ของโลกกับการแข่งขัน IMAV 2022  ที่ ประเทศเนเธอร์แลนด์

 

logoline