svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดข้อกฏหมาย "การกระทำโดยเจตนากับประมาท...แตกต่างกันอย่างไร"

04 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ช่วงนี้มีคดีอาญาสำคัญๆ ที่สังคมให้ความสนใจ ชวนคอข่าวมาร่วมทำความเข้าใจถึง มุมมองในการตีความตามประเด็นทางกฏหมาย ประมาทและเจตนามีความแตกต่างกันอย่างไร หยิบยกมาจากบทความของ จตุพร อาจคงหาญ และกนกศักดิ์ พ่วงลาภ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี

เปิดประเด็นร้อนที่สังคมให้ความกังขา "ประมาทกับเจตนา...แตกต่างกันอย่างไร"  


การกระทำนั้น จะเป็นการกระทำโดยประมาท หรือเป็นการกระทำโดยเจตนา และร่วมกันประมาทมีได้หรือไม่ และหากมีการฟ้องจำเลยฐานกระทำโดยเจตนา หากศาลฟังว่าเป็นการกระทำโดยประมาท หรือฟ้องจำเลยกระทำโดยประมาทแล้วศาลฟังว่ากระทำโดยเจตนา ศาลสามารถลงโทษจำเลยได้หรือไม่

 

ในฐานะส่วนตัวซึ่งปฏิบัติหน้าที่พนักงานอัยการ ซึ่งมีประสบการในการทำงานด้านคดีอาญาและในฐานะนักวิชาการในสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด จึงได้ศึกษาทำการค้นคว้าในประเด็นดังกล่าว พร้อมตัวอย่างคดีที่เคยเกิดขึ้นและคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจในข้อกฏหมาย โดยระบุรายละเอียดที่น่าสนใจและยกตัวอย่างประกอบเสริมความเข้าใจในกฏหมายใกล้ตัวที่คอข่าวควรรู้ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

เปิดข้อกฏหมาย "การกระทำโดยเจตนากับประมาท...แตกต่างกันอย่างไร"  

ชวนคอข่าวเนชั่นออนไลน์ มาร่วมทำความเข้าใจ "การกระทำโดยเจตนาและประมาท" 

๑. บทนำ
การกระทำโดยเจตนากับประมาทนั้นไม่มีปัญหาในทางทฤษฎี เพราะการกระทำโดยเจตนามีองค์ประกอบสำคัญ คือ ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลรวมไปถึงงดเว้นเพื่อป้องกันผล แต่การกระทำโดยประมาทนั้น คือ การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความความระมัดระวังซึ่งบุคคลในสภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ แต่ในทางปฏิบัติการพิจารณาคดีของพนักงานอัยการและศาลเป็นเรื่องยาก เนื่องจากต้องพิจารณาสิ่งที่อยู่ในจิตใจคนซึ่งการพิสูจน์สิ่งที่อยู่ในจิตใจของคนเป็นเรื่องยาก

นักกฎหมายส่วนใหญ่มีความเห็นว่าการค้นหาสิ่งที่ซ่อนอยู่ในใจจะใช้หลักว่า ผลของการกระทำ จะบอกถึง เจตนาของการกระทำหรือเรียกว่า "กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา" ซึ่งเป็นหลักกฎหมายที่มีรากฐานมาจากสุภาษิตละติน ที่ว่า "acta exteriora indicant interiora secreta" แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า "exterior act indicates interior secret" ผลของการกระทำที่ปรากฏออกมาภายนอกทำให้พิจารณาถึงสิ่งที่อยู่ในใจ

การพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นการกระทำโดยเจตนากับประมาทว่ายากแล้ว แต่การกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผลกับการกระทำโดยประมาทนั้นยากยิ่งกว่า การอธิบายเรื่องนี้ควรพิจารณาว่าการกระทำโดยประมาทนั้นเป็นการกระทำโดยขาดความระมัดระวัง โดยรู้แล้วว่ามีความเสี่ยงภัยแล้วยังทำ คาดว่าผลอาจจะเกิดแต่ไม่แน่ว่าจะเกิดหรือไม่แล้วยังทำหรือไม่ป้องกันผลนั้น

แต่การกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผลนั้นต้องเล็งเห็นว่าหากลงมือกระทำไปแล้วอาจจะเกิดผลได้แต่ไม่ไยดี ไม่สนใจว่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ส่วนการกระทำโดยเจตนานั้นเป็นการกระทำที่ผู้กระทำรู้แน่แล้วว่าการทำไปแล้วผลจะเกิดเช่นใดและหวังผลนั้น

๒. ทฤษฎีที่ควรนำมาปรับใช้

การกระทำโดยประมาทนั้นเป็นการกระทำความผิดมิใช่กระทำ โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความความระมัดระวังซึ่งบุคคลในสภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่  ซึ่งการขาดความระมัดระวังนั้นหมายความว่าโดยรู้แล้วว่ามีความเสี่ยงภัยแล้วยังทำ คาดว่าผลอาจจะเกิดแต่ไม่แน่ว่าจะเกิดหรือไม่แล้วยังทำหรือมีหน้าที่ป้องกันผลแต่ไม่
ไม่ป้องกันผลนั้น

ในกฎหมายต่างประเทศใช้คำว่า “negligence” มาจากรากฐานกฎหมายละตินในเรื่อง “negligentia” ตามหลักสากลในกฎหมายต่างประเทศทั้ง Common Law และ Civil Law มีหลักที่สังเขปคล้ายกันว่า negligence is a failure to exercise appropriate and/or ethical rule care expected circumstance. แปลว่า ความล้มเหลวในการใช้ความระมัดระวังที่เหมาะสมที่ควรคาดหวังได้จากบุคคลในสถานการณ์หนึ่งๆ (โดยนัยยะคือระดับวิญญูชน เว้นแต่ในสถานการณ์ของผู้มีวิชาชีพก็จะต้องใช้มาตราฐานของผู้มีวิชาชีพ
เป็นตัวชี้วัด)

ส่วนการกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผลนั้นต้องเล็งเห็นว่าหากลงมือกระทำไปแล้วอาจจะเกิดผลได้แต่ไม่ไยดี ไม่สนใจว่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ส่วนการกระทำโดยเจตนานั้นเป็นการกระทำที่ผู้กระทำรู้แน่แล้วว่าการทำไปแล้วผลจะเกิดเช่นใดและหวังผลนั้น

ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า

เจตนาเล็งเห็นผลคือ การกระทำโดยรู้ว่าผลอาจจะเกิดขึ้นได้ แม้ว่าผลนั้นไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นเสมอเพียงรู้ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดผล ก็เป็นการกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล เช่น การวางเพลิงเผาทรัพย์โดยรู้ว่ามีคนอาศัยอยู่ในอาคาร แต่ไม่ไยดี ทั้งที่คาดเห็นได้ว่าอาจทำให้คนที่อยู่ในอาคารนั้นเป็นอันตรายจากเพลิงที่ก่อขึ้น หากผู้อยู่ในอาคารได้รับอันตรายย่อมต้องรับผิดเพราะมีเจตนาย่อมเล็งเห็นผลในอันตรายที่จะเกิดแก่คนเหล่านั้น

ตามความเห็นของท่านศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ดูเหมือนจะพิจารณาความเป็นไปได้ (possibility) ของผลที่อาจจะเกิดขึ้นได้แม้จะไม่แน่นอนว่าจะเกิดหรือไม่เกิด แต่ถ้าบุคคลผู้กระทำพอจะคาดเดาได้ว่าผลอาจจะเกิดขึ้นแล้ว ในลักษณะนี้จัดว่าเป็น “เจตนาย่อมเล็งเห็นผล”

อีกความเห็นหนึ่ง ศาสตราจารย์ ดร. หยุด แสงอุทัย กล่าวว่า

เจตนาย่อมเล็งเห็นผล พิจารณาจากตัวผู้กระทำเองเนื่องจากบุคคลมีความจัดเจนแห่งชีวิตแตกต่างกัน การศึกษา อบรม สติปัญญาก็แตกต่างกัน ดังนั้น เมื่อวินิจฉัยว่าบุคคลกระทำโดยย่อมเล็งเห็นผลหรือไม่ ต้องคำนึงถึงอัตวิสัยของบุคคลผู้กระทำ และได้ให้หลักเกณฑ์การพิจารณาไว้เบื้องต้นว่า “ย่อมเล็งเห็นผล”นั้น ได้แก่ การยอมรับเอาผลไว้ล่วงหน้าคาดเห็นว่า ผลอาจเกิดขึ้นแต่ไม่ไยดีต่อผลที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น เช่น เห็นเด็กอยู่ใกล้กับนกแล้วยังขืนยิงนก คาดเห็นได้ว่าการยิงออกไปนั้นอาจจะถูกเด็กได้หรืออาจจะไม่ถูกก็ได้ไม่แน่นอน แต่ไม่ใส่ใจขืนยิงออกไป ถ้ากระสุนไปถูกเด็กได้รับอันตรายก็ถือว่ามีเจตนาเล็งเห็นผล

และเมื่อสืบค้นไปในคำแปลประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ ฉบับของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งถือว่าเป็นที่อ้างอิงได้อย่างสมบูรณ์ พบคำแปล “เจตนาย่อมเล็งเห็นผล” ว่า 
Section ๕๙ ….
To commit an act intentionally shall be to knowingly commit an act and, at the same time, the person committing it desired or should have foreseen the effect of such act.  
โปรดสังเกตคำว่า “should have foreseen the effect of such act” นั้น มีความหมายว่า “ควรที่จะได้คาดเห็นผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น” ก็สอดคล้องกับความเห็นของท่านอาจารย์ทั้งสองที่กล่าวมาข้างต้น 


๓. แนวทางการสั่งคดีของพนักงานอัยการและแนวคำพิพากษา


คดีประเภทก้ำกึ่งระหว่างเจตนาเล็งเห็นผลกับประมาทนี้  การใช้ดุลพินิจพิจารณาคดีมีปัญหาค่อนข้างมาก ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงพยานหลักฐานและผลของการกระทำ  ผลของการกระทำจะบอกถึงเจตนาของการกระทำหรือเรียกว่า “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา” และอาจต้องนำคำพิพากษาศาลฎีกามาเปรียบเทียบประกอบการสั่งคดี แต่การนำคำพิพากษาศาลฎีกามาประกอบการสั่งคดีนั้นควรต้องดูคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับเต็ม และหากเป็นไปได้เพื่อให้ทราบรายละเอียดข้อเท็จจริงที่มาของคำพิพากษาศาลฎีกาควรขอดูในสำนวนคดีของศาลหรือของพนักงานอัยการเพื่อให้เข้าใจข้อเท็จจริงมากขึ้น ดังเช่นตัวอย่างดังต่อไปนี้

๓.๑. กรณีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๑๔/๒๕๒๒ จำเลยจับเท้าผู้เสียหายจากนั้นผลักลงไปที่พื้น ผู้เสียหายล้มลงแขนหักเป็นอันตรายสาหัส ศาลเห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องหยอกล้อกัน ไม่ทันได้นึกถึงผล 
ไม่มีเจตนาทำร้ายร่างกาย แต่ศาลเห็นว่าขาดความระมัดระวังเป็นการกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส 
ตามคำพิพากษานี้พิจารณาว่า เจตนาหรือประมาทนั้น นอกจากพิจารณาผลของการกระทำแล้ว
ยังต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แวดล้อม รวมทั้งความสัมพันธ์ของบุคคลการมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนหรือไม่ มาชั่งน้ำหนักประกอบดุลพินิจด้วย เพราะคนสองคนต้องมีความสัมพันธ์กันมาแต่ก่อนมิเช่นนั้นแล้วคงจะไม่หยอกล้อกันได้  

๓.๒. กรณีจำเลยขับรถจักรยานยนต์พาหญิงคนรักผู้เสียหายที่ ๑ นั่งซ้อนท้ายมาระหว่างทางประสบอุบัติเหตุล้มลงผู้เสียหายที่ ๑ ซึ่งนั่งซ้อนท้ายมาตกจากรถได้รับบาดเจ็บสาหัสและหมดสติตกอยู่ในพงหญ้าข้างถนนแต่จำเลยหลบหนีไม่ช่วยเหลือผู้เสียหายที่ ๑ และไม่แจ้งให้บุคคลอื่นและนาง ก.ผู้เสียหายที่ ๒ ซึ่งเป็นมารดาผู้เสียหายที่ ๑ ทราบ ต่อมาหลังเกิดเหตุ ๘ วัน พลเมืองดีมาพบและพาผู้เสียหายที่ ๑ ส่งโรงพยาบาลผู้เสียหายที่ ๑ จึงไม่ถึงแก่ความตาย จากกรณีดังกล่าวนอกจากจำเลยจะขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและหลบหนีไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานฯ แล้ว การที่จำเลยซี่งเป็นคนรักของผู้เสียหายที่ ๑ ได้ทิ้งผู้เสียหายที่ ๑ ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสไว้ในพงหญ้าข้างถนน จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าถ้าไม่การช่วยเหลือผู้เสียหายที่ ๑ อาจถึงแก่ความตายได้ เมื่อผู้เสียหายที่ ๑ ไม่ถึงแก่ความตายจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยการงดเว้นในหน้าที่ที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันผลตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๔๑๒/๒๕๕๕

๓.๓. กรณีผู้ต้องหาขับรถบรรทุกกระเบื้องและทำกระเบื้องตกหล่นกีดขวางการจราจรจำนวนมากในเวลาประมาณ ๐๒.๐๐ น. ซึ่งเป็นเวลากลางคืนไม่มีแสงสว่างที่เพียงพอ แล้วไม่จัดเก็บกระเบื้องออกไปกับไม่จัดวางกรวยหรือสิ่งของเป็นสัญลักษณ์และไม่จัดให้มีไฟส่องสว่างเพื่อป้องกันอันตรายแก่ผู้ขับขี่รถให้มองเห็นได้ในระยะที่ปลอดภัย ต่อมา เวลาประมาณ ๐๕.๐๐ น. นาย ก.ขับรถจักรยานยนต์มาชนกองกระเบื้องดังกล่าว
ล้มลงได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จะเห็นได้ว่าการที่ผู้ต้องหาทำกระเบื้องตกหล่นกีดขวางการจราจรแล้ว ไม่จัดเก็บหรือจัดวางกรวยหรือสิ่งของและเปิดไฟให้แสงสว่างให้ผู้ขับขี่รถผ่านไปมาเห็นในระยะที่ปลอดภัยนั้น เป็นเพียงการกระทำโดยประมาทขาดความระมัดระวังเท่านั้นเพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะมีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์มาชนกองกระเบื้องดังกล่าว การที่ผู้ตายขับรถมาด้วยความเร็วสูงเกินสมควรจนไม่สามารถหยุดรถหรือหักรถหลบหลีกกองกระเบื้องได้ทันและชนกองกระเบื้องอย่างแรงเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายดังกล่าว ฝ่ายผู้ตายเองก็มีส่วนประมาทด้วยเช่นกัน  กรณีดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจริงที่จังหวัดสระบุรี บนถนนสุวรรณศร ซึ่งเป็นที่ชุมชนมีรถแล่นไปมาจำนวนมากและรถคันอื่นสามารถหยุดรถหักรถหลบหลีกได้อย่างปลอดภัย การกระทำของผู้ต้องหาจึงเป็นการกระทำโดยประมาท ยังไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล

คดีนี้ พนักงานอัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหาฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๐ จากข้อเท็จจริงในคดีนี้หากนายจ้าง หรือเจ้าของบริษัท หรือผู้มีอำนาจควบคุมดูแลคนขับรถบรรทุก
ขนกระเบื้องนั้นทราบข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้นแล้วเพิกเฉยไม่จัดการป้องกันผลขาดความระมัดระวังเช่นกันวิญญูชนทั่วไปต้องกระทำ นายจ้าง หรือเจ้าของบริษัท หรือผู้มีอำนาจควบคุมดังกล่าวย่อมมีความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่น
ถึงแก่ความตายได้ด้วยเช่นกัน


แต่หากเป็นกรณี ผู้ต้องหาได้มีการขุดหลุมขนาดใหญ่บนพื้นถนนแล้วนำวัตถุสิ่งของมาอำพรางไว้ไม่ให้ผู้ขับรถผ่านไปมาเห็นว่ามีหลุมขนาดใหญ่บนถนนและถนนดังกล่าวมีรถแล่นไปมาและมีรถแล่นมาตกไป
ในหลุมที่ขุดไว้ กรณีดังกล่าวนี้จึงเป็นเจตนาประสงค์ต่อผลและย่อมเล็งเห็นผลเพราะสามารถคาดเห็นได้ว่า
ผลต้องเกิดขึ้นแน่นอน การกระทำดังกล่าวนี้จึงเป็นการกระทำโดยเจตนา 

คดีปาหินเกิดขึ้นจริงที่จังหวัดอยุธยา คดีนี้มีข้อเท็จจริงว่า ผู้ต้องหาขว้างปาก้อนหินขนาดน้ำหนักประมาณ ๑.๔ กิโลกรัม ใส่กระจกหน้ารถยนต์โดยมีเจตนาที่จะให้รถหยุดแล้วเข้าไปลักเอาทรัพย์สินของบุคคลบนรถ เจตนาคือทำอย่างไรก็ได้ให้รถหยุด ซึ่งในคดีนี้คือใช้ก้อนหินขว้างเล็งไปที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นคนขับรถ แต่ด้วยขณะนั้นรถยนต์แล่นมาด้วยความเร็วสูง และผู้ต้องหาขว้างปาไม่แม่นก้อนหินจึงถูกขอบกระจก
หน้ารถยนต์ไม่ถูกกระจกหน้ารถ กระจกหน้ารถจึงไม่แตกก้อนหินกระเด็นออกไปไม่ถูกผู้เสียหาย การที่ผู้ต้องหาปาหินไม่แม่นเป็นเรื่องบังเอิญแต่ผลที่ผู้ต้องหาคาดเห็นได้ว่าต้องเกิดขึ้นแน่ คือ หากขว้างปากระจกหน้ารถแตกกระจกที่แตกและก้อนหินจะไปถูกผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ขับรถจะทำให้คนขับรถได้รับบาดเจ็บและไม่สามารถบังคับรถให้แล่นต่อไปได้และจะทำให้เกิดอุบัติเหตุและบุคคลที่อยู่บนรถรวมทั้งผู้เสียหายซึ่งเป็นคนขับรถอาจได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ คดีนี้พนักงานอัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหาฐานพยายามฆ่าโดยอาศัยหลักเจตนาเล็งเห็นผล 
เป็นตัวอย่างในการวินิจฉัยเรื่องเจตนาเล็งเห็นผลว่ามีขอบเขตในการตีความและใช้อย่างไรในการสั่งคดี 

อีกตัวอย่างหนึ่ง นายเอขับรถมาตามถนนที่มี ๒ ช่องทางเดินรถให้รถแล่นสวนทางกัน นายเอ ขับรถยนต์เพื่อแซงขึ้นหน้ารถบรรทุกพ่วง เข้าไปในช่องทางเดินรถทางขวามือซึ่งมีไว้ให้รถแล่นสวนทางมา ขณะนั้นมีรถยนต์ของนายบีขับขี่สวนทางมาถึงที่เกิดเหตุพอดี รถทั้งสองคันจึงเกิดเฉี่ยวชนกันเป็นเหตุให้รถ ทั้งสองคันได้รับความเสียหาย นายเอและนายบีได้รับบาดเจ็บ กรณีเช่นนี้นายเอเป็นฝ่ายประมาทฝ่ายเดียวเนื่องจากการขับรถแซงขึ้นหน้ารถยนต์คันอื่นต้องตรวจดูในช่องทางเดินรถทางขวามือที่จะขับรถสวนทางเข้าไปนั้น มีรถคันอื่นแล่นมาในระยะกระชั้นชิดหรือไม่ หากเห็นว่ามีต้องรอให้รถที่ขับสวนทางมาผ่านพ้นไปก่อนเมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงขับรถแซงเข้าไปได้ การที่นายเอขับรถแซงแล้วรถไปชนกันกับรถคันที่นายบีขับมานี้แสดงว่า นายเอขับรถแซงเข้าไปในช่องทางเดินรถที่นายบีขับมาในระยะกระชั้นชิดทำให้รถทั้งสองคันชนกันดังกล่าว 
การที่รถชนกันคือผลของการกระทำโดยประมาทของนายเอ ซึ่งตรงกับหลักทฤษฎีเรื่องประมาทที่กล่าวไว้ข้างต้น

การกระทำโดยประมาทนั้นตามหลักไม่มีการร่วมกันประมาท เพราะความประมาทเป็น อัตวิสัยของแต่ละบุคคลและพฤติการณ์ที่ประมาทเกิดขึ้นในเวลาเสี้ยววินาทีไม่อาจจะร่วมกันได้ แต่ประมาททั้งคู่มีได้ในลักษณะต่างคนต่างประมาทที่เรียกว่า Contributory negligence ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญาฉบับอ้างอิงของศาสตราจารย์ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ แปลคำนี้ว่า “ประมาทร่วม” ซึ่งมิใช่การร่วมกันประมาท แต่เป็นการที่บุคคลหลายคนมีส่วนประมาท และผลรวมของการประมาททำให้เกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหายขึ้น   

หลักที่ว่าประมาทร่วมนั้นมีได้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๑๑/๒๕๓๐ ความว่า ในการลักทรัพย์เอาน้ำมันเบนซิน จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ เตรียมถังใส่น้ำมันมาหลายใบ เมื่อดูดน้ำมันเต็มถังหนึ่งแล้วจะต้องเปลี่ยนสายยางไปใส่ถังใหม่ ในการเปลี่ยนสายยางต้องถอดสายไฟออกจาก
ขั้วแบตเตอรี่ที่ต่อระหว่างปั้มน้ำมันกับแบตเตอรี่ ขณะเกิดเหตุดูดน้ำมันได้ ๔ ถังแล้ว จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ดึงสายไฟออกจากขั้วแบตเตอรี่เพื่อจะเปลี่ยนยางไปใส่ถังที่ ๕ ก็เกิดประกายไฟขึ้นเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ ขณะนั้นจำเลยที่ ๓ กำลังชะโงกหน้าเข้าไปดูน้ำมันในถังที่อยู่ในรถว่าเต็มถังหรือยัง เช่นนี้แม้จำเลยที่ ๓ จะมิได้เป็นคนถอดสายไฟแต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๒ ร่วมกันมาลักทรัพย์ด้วยวิธีดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทที่จำเลยที่ ๓ ได้ร่วมกระทำด้วย เพราะแบตเตอรี่เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและน้ำมันเป็นวัตถุที่ติดไฟได้ง่าย ทั้งวิธีการลักน้ำมันของจำเลยทั้งสองทำให้เกิดไอระเหยของน้ำมันกระจายอยู่ทั่วไป เป็นการง่ายต่อการเกิดเพลิงไหม้การกระทำของจำเลยที่ ๓ จึงเป็นความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท.

เรื่องนี้ดูเผินๆ จะเห็นว่าศาลใช้คำว่าร่วมกันกระทำ อาจจะทำให้เข้าใจได้ว่าร่วมกันประมาทมีได้ 
แต่ขอให้พิจารณาดูหมายเหตุท้ายฎีกาของเรื่องนี้ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้มีประเด็น
ที่น่าพิจารณา ดังนี้ ๑. ที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...แม้จำเลยที่ ๓ จะมิได้เป็นผู้ถอดสายไฟจากขั้วแบตเตอรี่ก็ต้อง
ฟังว่าจำเลยที่ ๓ ร่วมกระทำด้วยจำเลยที่ ๓ จึงต้องมีความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท...” นั้น คงมิได้หมายถึงว่าความผิดที่กระทำลงโดยประมาทจะมีการร่วมกันกระทำในลักษณะที่เป็นตัวการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ได้ เพราะลักษณะของตัวการนั้นต้องเป็นความผิดที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ซึ่งจะพิจารณาแต่เฉพาะในส่วนของการกระทำไม่ได้จะต้องพิจารณาถึงเจตนาของผู้กระทำความผิดด้วยกันเสมอ ฉะนั้น ลักษณะของการเป็นตัวการจึงเกิดมีได้เฉพาะในความผิดที่ได้กระทำลง
โดยมีเจตนาตามมาตรา ๕๙ เท่านั้น แม้คดีนี้จะปรากฏว่าจำเลยที่ ๓ อยู่ในที่เกิดเหตุตลอดเวลาและร่วมกัน
กับจำเลยที่ ๒ ลักเอาน้ำมัน แต่เหตุที่เกิดเพลิงไหม้เป็นเพียงผลของการกระทำที่เกิดขึ้นเพราะจำเลยที่ ๓ มีส่วนอยู่ด้วยเท่านั้น มิได้หมายความว่าจำเลยที่ ๓ ได้ร่วมกระทำกับจำเลยที่ ๒ เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท

ศาลฎีกาจึงสรุปในข้อวินิจฉัยตอนท้ายว่า จำเลยที่ ๓ จึงต้องมีความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท
มิใช่มีความผิดฐานร่วมกันกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท ตามมาตรา ๘๓ , ๒๒๕ แต่อย่างใด 

อย่างไรก็ตาม ในการฟ้องคดีต่อศาลหากมีการฟ้องจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยเจตนาทางนำสืบฟังได้ว่าจำเลยกระทำโดยประมาท หรือฟ้องว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเป็นทางนำสืบฟังได้ว่าจำเลยกระทำโดยเจตนา ตามกฏหมายไม่ให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อที่เป็นสาระสำคัญ ศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้จากการนำสืบพยานหรือจากการพิจารณาคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒   

๔. บทสรุป
๔.๑ เจตนาเล็งเห็นผลใกล้เคียงกับประมาทมาก การใช้ดุลพินิจในการพิจารณาสั่งคดีในแต่ละคดี ต้องดูจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน  การกระทำที่เกิดขึ้นและใช้หลัก “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา” ในบางคดีอาจต้องมีการนำคำพิพากษาฎีกามาเทียบเคียงประกอบการพิจารณาคดีอีกด้วย

๔.๒. ร่วมกันกระทำโดยประมาทมีไม่ได้แต่ประมาทร่วมมีได้ เพราะความประมาทเป็นอัตวิสัยของแต่ละคน และความประมาทเกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาทีด้วยความไม่ตั้งใจ จึงร่วมกันประมาทไม่ได้ แต่กรณีต่างคนต่างประมาทหรือประมาททั้งคู่ อาจมีได้ กล่าวคือ แต่ละคนก็ประมาทในส่วนของตนแล้วผลรวมแห่งความประมาทของเขาเหล่านั้นทำให้เกิดความเสียหายขึ้น หรือเรียกว่าประมาทร่วมกัน (Contributory negligence)

๔.๓. ในการฟ้องคดีต่อศาลหากมีการฟ้องจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยเจตนาทางนำสืบฟังได้ว่าจำเลยกระทำโดยประมาท หรือฟ้องว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเป็นทางนำสืบฟังได้ว่าจำเลยกระทำโดยเจตนา ศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒  

๔.๔. กระทำการโดยประมาทหรือการกระทำโดยเจตนาหรือเจตนาเล็งเห็นผลนั้น หากประชาชนหรือผู้มีที่มีส่วนได้เสียในคดีมีข้อสงสัยในการดำเนินคดีไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือหากมีพยานหลักฐานเพิ่มเติมสามารถเสนอพยานหลักฐานโดยการร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการได้ ตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด การมีพยานหลักฐานในส่วนของประชาชนเพิ่มเข้ามาอาจทำให้ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนถูกต้อง ทำให้อำนวยความยุติธรรมกับประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อีกด้วย


ขอขอบคุณที่มา
จตุพร อาจคงหาญ และกนกศักดิ์ พ่วงลาภ
อัยการผู้เชี่ยวชาญ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี

เปิดข้อกฏหมาย "การกระทำโดยเจตนากับประมาท...แตกต่างกันอย่างไร"
 

logoline