svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ปลัดสธ. เผย "โควิด" เข้าระยะสุดท้ายการระบาด หมออุดม ชี้หากยุบ ศบค. ส่งสธ.ดูแล

23 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย สถานการณ์โควิด-19 อยู่ในระยะสุดท้ายของการระบาดแล้ว ขณะนี้ระบบสาธารณสุขสามารถควบคุมได้ ชงศบค.ลดมาตรการคุมเข้มโควิด ขณะ“หมออุดม”ชี้โควิดจะอยู่กับเราไม่ต่ำกว่า 1 ปีจึงเป็นโรคประจำถิ่น เผยหากยุบ ศบค. มอบกระทรวงต่างๆทำหน้าที่แทน

23 กันยายน 2565 นายแพทย์ เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุ ถึงสถานการณ์ โควิด-19 ขณะนี้ อัตราครองเตียงในโรงพยาบาลไม่ถึงร้อยละ 10 จำนวนผู้เสียชีวิตต่ำ ส่วนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง  และระบบสาธารณสุขรองรับได้  ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบผู้ป่วยนอก รับยากลับไปรักษาที่บ้าน

 

ข้อมูลการควบคุมโรคและมีข้อมูลทางวิชาการ ขณะนี้ ระยะของโรคอยู่ในช่วงท้ายของการระบาดแล้ว  จึงเสนอการผ่อนคลายมาตรการ และประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง แต่ยังคงต้องอยู่กับโรคนี้ไปอีก 1 ปี ซึ่งในต่างประเทศ ได้มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จนใช้ชีวิตปกติแล้ว ซึ่งไปก่อนหน้าประเทศไทยแล้ว
 

ปลัดสธ. เผย "โควิด" เข้าระยะสุดท้ายการระบาด หมออุดม ชี้หากยุบ ศบค. ส่งสธ.ดูแล

ขณะที่การใส่หน้ากากอนามัย คำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขได้มีการออกมาก่อนหน้านี้แล้ว ว่าควรจะใส่เมื่อใด เช่น หากประเมินแล้วว่าอยู่ในสถานที่เสี่ยง สถานที่ปิด หรือในสถานพยาบาลก็อาจจะยังคงสวมหน้ากากอนามัยอยู่ แต่หากประเมินแล้วว่า สถานที่ไปโล่ง มีการเว้นระยะห่างของบุคคล ก็อาจจะไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยก็ได้ 


ส่วนข้อกังวลในเรื่องของการยกเลิกวันกักตัวผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 นั้น นายแพทย์เกียรติภูมิ ระบุว่า หากเป็นผู้ป่วยติดเชื้ออาการน้อยหรือไม่มีอาการ ในกลุ่มนี้ ไม่บังคับในเรื่องของการกักตัวเหมือนในช่วงที่ผ่านมา  รวมถึงการพิจารณาจากสถานการณ์ของโรคด้วย และส่งผลกระทบกับคนบางกลุ่มโดยเฉพาะเรื่องรายได้ที่ต้องขาดหายไปจึงให้พิจารณา ใช้มาตรการสาธารณสุขส่วนบุคคลควบคู่ระหว่างติดเชื้อ เพราะที่ผ่านมาทุกคน สังคม ได้เรียนรู้ถึงวิธีการปฏิบัติตัวกันแล้ว แต่หากอาการหนักก็เข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาล

ปลัดสธ. เผย "โควิด" เข้าระยะสุดท้ายการระบาด หมออุดม ชี้หากยุบ ศบค. ส่งสธ.ดูแล

การประชุม ศบค. ในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอในที่ประชุม ยกเลิกการตรวจเอกสารการฉีดวัคซีนโควิดของผู้เดินทางเข้าประเทศไทย รวมถึงการยกเลิกผลการตรวจคัดกรองโควิดบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมือง และการยกเลิกการกักตัวผู้ติดเชื้อโควิดอาการน้อย หรือไม่มีอาการ แต่ให้ปฏิบัติตัวตามมาตราการสาธารณสุข DMHTT


ส่วนการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน นายแพทย์ เกียรติภูมิ  ระบุว่า ขึ้นอยู่กับ  ศบค.เป็นผู้พิจารณา แต่ส่วนตัวมองว่า ขณะนี้ ระบบสาธารณสุขสามารถควบคุมได้ เพราะสถานการณ์โรคลดลง 


ส่วนแผนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นปีหน้า กรมควบคุมโรคและคณะผู้เชี่ยวชาญ อยู่ระหว่างการพิจารณา ว่าระยะห่างของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น จะอยู่ที่ 6 เดือน หรือ 1 ปี อย่างไรก็ตามก็จะพิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งจะกำหนดเป็นแผนการจัดซื้อวัคซีนต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา ในปีนี้จากสถานการณ์ของโรคที่อยู่ในระดับรุนแรงและ ถัดมาอยู่ในระดับปานกลาง ระยะห่าง การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงแนะนำที่ 4 เดือน 


ส่วนแผนการจัดซื้อในปีนี้ ก็ยังคงดำเนินการไปตามแผน ที่วางไว้ คือ 100ล้านโดส แต่หากพิจารณาแล้วว่าความต้องการของวัคซีนโควิดมีความเพียงพอ บางส่วนก็อาจจะปรับเป็นยารักษาตัวอื่นมาแทน เช่น ยาฉีด แอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว หรือ LAAB

 

ปลัดสธ. เผย "โควิด" เข้าระยะสุดท้ายการระบาด หมออุดม ชี้หากยุบ ศบค. ส่งสธ.ดูแล

 

ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนเข้าประชุม ศบค.ว่า ตอนนี้จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เข้าโรงพยาบาลประมาณ 800-1,000 คน แต่ตนเชื่อว่าตอนนี้มีผู้ติดเชื้อประมาณ 30,000 - 40,000 รายต่อวัน แต่ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง จึงเป็นเหตุผลที่จะเปลี่ยนจากโรคติดต่อร้ายแรงไปเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง แต่ยังไม่ถึงกับโรคประจำถิ่น 


ทั้งนี้การเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังจะทำให้สบายขึ้นเยอะ เพราะมาตรการผ่อนคลายไปเกือบหมด แต่ย้ำว่า ประชาชนก็ต้องดูแลตนเอง เพราะยังมีรายงานผู้ติดเชื้ออยู่ 30,000 - 40,000 ราย แต่อัตราการตายของบ้านเราอยู่เพียงแค่ 0.1% ซึ่งต่ำกว่าทั้งโลกที่อัตราการตาย 1% แต่กระนั้นใน 0.1% ก็ไม่อยากให้ใครตาย 

 

“ การติดเชื้อโควิด-19 มันทำให้เกิดอาการลองโควิด และทำให้เกิดการบั่นทอนสุขภาพ และการทำงาน ดังนั้นที่ประชุม ศบค. เราจะคุยเรื่องแผนเปลี่ยนผ่าน เพียงแต่ว่าในมาตรการระดับประเทศ เราผ่อนคลายลง ไม่ตรวจ ATK และไม่ดูวัคซีนว่าฉีดหรือไม่ แต่ประชาชนต้องดูแลตนเอง เพราะเชื่อว่าโควิด-19 อย่างน้อยจะอยู่กับเราไปไม่ต่ำกว่า 1 ปี ถึงจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ก็ต้องใส่แมสก์ เว้นระยะห่าง และประเมินความเสี่ยงตนเอง ” นพ.อุดม กล่าว

นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศบค.

นพ.อุดม ยังกล่าวอีกว่า เรื่องวัคซีนโควิด-19 ประโยชน์ของวัคซีนมี 3 ระดับ คือ ระดับดีที่สุด ป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าตัวเรา แม้ว่าตอนแรกจะป้องกันได้ถึง 70-80% แต่พอเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ ระดับการป้องกันเหลือเพียง 20-30% แต่ก็ยังถือว่าดีอยู่ ระดับที่สอง คือ ป้องกันให้ไม่แพร่เชื้อไปคนอื่น และสามารถทำกิจกรรมได้ ส่วนระดับสามคือ ไม่ให้เจ็บป่วยรุนแรง และไม่เสียชีวิตถึง 90% อีกทั้งหากฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3-4 จะป้องกันลองโควิดได้ แต่ตอนนี้เข็มกระตุ้นของประชาชนทั้งประเทศยังไม่ถึง 50% ดังนั้นต้องทำให้ได้อย่างน้อยเข็ม 3 ก็ยังดี 

 

เมื่อถามว่าหากมีระบาดระลอกใหม่จะมีการจัดการอย่างไร นพ.อุดม ระบุว่า ไม่กลัว เพราะเราอยู่กับโควิด-19 มา 3 ปี จึงมีระบบที่เตรียมการไว้แล้ว ไม่ใช่แค่กระทรวงสาธารณสุข แต่กระทรวงอื่นๆ ที่อยู่นอกการควบคุมก็เช่นกัน แต่ระบบที่เตรียมการไว้ได้เพราะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป หากมีการยุบศบค. ทางคณะรัฐมนตรีจะมอบหมายกระทรวงต่างๆ ให้ทำหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานต่อไปโดยใช้มติคณะรัฐมนตรีไปก่อน รวมถึงระยะยาวจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้มันมีโครงสร้างเหมือนศบค.

 

เมื่อถามอีกว่าสถานการณ์เช่นนี้จะเกิดสุญญากาศหรือไม่ นพ.อุดม กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนได้มีการเสนอนายกฯ ให้ออกเป็น พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อประกาศไปก่อนได้ แล้วค่อยเข้าสู่สภา ยืนยันว่าหลังวันที่ 1 ต.ค. 65 การทำงานจะไม่มีปัญหา เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาสุญญากาศ แม้จะไม่ได้เข้มข้นเหมือนมี ศบค. แต่กระทรวงต่างๆ ทำงานกันอยู่ตลอด

ปลัดสธ. เผย "โควิด" เข้าระยะสุดท้ายการระบาด หมออุดม ชี้หากยุบ ศบค. ส่งสธ.ดูแล

logoline