svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"ชัชชาติ" ฮึ่ม พร้อมใช้อำนาจทุกเม็ดสั่งหยุดการก่อสร้างต้นเหตุทำน้ำท่วม

12 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ชัชชาติ" ผู้ว่าฯกทม.ร่วมวิศนุ รองผู้ว่าฯกทม. แถลงปัญหาน้ำท่วมกทม. แจงเหตุผลหนึ่งจากปัญหาการก่อสร้างทำให้อิฐหินอุดท่อระบายน้ำ ลั่นใช้อำนาจทุกเม็ดสั่งหยุดการก่อการสร้างสกัดปัญหาน้ำท่วม

 

เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2565  ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พร้อมด้วย "นายวิศนุ ทรัพย์สมพล" รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวถึงสถานการณ์น้ำในกทม. โดยระบุว่า 
เรื่องสถานการณ์น้ำท่วม ปัญหามาจากปริมาณน้ำฝนที่มามาก ทำให้ประสิทธิภาพความจุของคลองเต็ม ทั้งคลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว  และคลองประเวศบุรีรมย์

 

"ชัชชาติ" ฮึ่ม พร้อมใช้อำนาจทุกเม็ดสั่งหยุดการก่อสร้างต้นเหตุทำน้ำท่วม

 

อย่างคลองประเวศบุรีรมย์ ทำให้ฝั่งลาดกระบังมีปัญหา เพราะจะต้องระบายออกคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ซึ่งคลองนี้จะมีกรมชลประทานดูแล ซึ่งหลายคนแนะนำว่าให้ระบายน้ำออกทางนี้ แต่การจะผันน้ำออกก็ต้องดูพื้นที่รอบนอกด้วย

 

ทั้งนี้ กรมชลประทานอาจจะคิดว่า จังหวัดฉะเชิงเทรามีน้ำสูงอยู่จึงผันออกไม่ได้ ดังนั้นกทม.ก็ต้องผันน้ำมาทางคลองพระโขนงแทน ระยะทางกว่า 40 กิโลเมตร จึงอาจทำให้น้ำไหลช้า และหากเปิดประตูระบายน้ำเร็วเกินไป มวลน้ำจะเข้ามากดดันบริเวณเขตสวนหลวง สะพานสูง และพระโขนง 
   

พร้อมยอมรับว่า คลองประเวศฯ จากข้อมูลน้ำสูงมากกว่าปี 2554 โดยปี 2554 เขตลาดกระบัง ไม่ได้ท่วมหนักมากเพราะรับน้ำและเป็นพื้นที่ปลายน้ำ แต่ปีนี้ ลาดกระบังน้ำท่วมหนัก และการระบายทำได้อยาก เพราะน้ำท่วมพื้นที่โดยรอบ ดังนั้นกทม.ยังมีปัญหาหลักคือคลองประเวศบุรีรมย์ ที่น้ำระบายออกช้า จึงต้องค่อยๆทยอยดันน้ำ

 

"ชัชชาติ" ฮึ่ม พร้อมใช้อำนาจทุกเม็ดสั่งหยุดการก่อสร้างต้นเหตุทำน้ำท่วม

 

"การรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ก่อสร้างว่า ยังคงเป็นจุดอ่อน เช่น ถนนเทพรักษ์ ได้มีการสั่งให้สำนักการโยธา ให้มีการเร่งรัดการก่อสร้าง ส่วนถนนแจ้งวัฒนะเป็นของกรมทางหลวง ซึ่งได้ขอความร่วมมือ ให้ผู้รับเหมาช่วยลอกท่อเพราะมีทรายเยอะ ทั้งนี้ กทม.จะมีมาตรการลงตรวจให้ละเอียด กทม.มีอำนาจอะไรก็ใช้อำนาจทุกเม็ด ถ้ามีผลกระทบ ก็ต้องมีการให้หยุดการก่อสร้างก่อน"  นายชัชชาติ กล่าว 

 

 "มีความรุนแรงไม่แพ้กับถนนที่ไม่เรียบ ถ้าเรารู้ว่ามีเหตุผลไม่ทำตามเงื่อนไขที่กำหนด ก็ต้องให้หยุดการก่อสร้างก่อน จนกระทั่งปรับปรุงได้ แต่ช่วงนี้ให้น้ำท่วมผ่านไปก่อน จะต้องให้ผู้รับเหมาดูว่าทรายอุดท่อระบายน้ำหรือไม่" ผู้ว่าฯกทม. กล่าว

 

ด้าน "นายวิศณุ" กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) มี 2 เรื่องคือ การขุดลอกในพื้นที่ก่อสร้าง ไม่ให้ท่อน้ำอุดตัน และการคืนผิวการจราจร รวมถึงความปลอดภัยในพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อกำหนดแผนงาน

 

"นายชัชชาติ" กล่าวต่อว่า ที่ไซต์ก่อสร้าง มีกองหินกองทราย เมื่อฝนตกลงมา ทำให้มีการชะล้างลงท่อระบายน้ำ รวมถึงต้องทำทางเท้าให้ปลอดภัย เช่น วงเวียนบางเขน เพราะเมื่อน้ำท่วมทำให้มองไม่เห็น ทำให้ประชาชนเกิดอันตราย


ส่วนกรณีการประสานความร่วมมือกับกรมชลประทาน "นายชัชชาติ" กล่าวว่า กทม.มีจุดเชื่อมต่อกับกรมชลประทานช่วงคลองเปรมประชากรใต้ และคลองพระองค์เจ้าฯ ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.อาจไม่ได้ยกหูคุย แต่เจ้าหน้าที่เขายกหูคุยกันอยู่ตลอด ทั้งนี้ กทม.ดูกรุงเทพฯ แต่กรมชลประทานต้องบริหารสถานการณ์น้ำในภาพรวม และเราต้องบริหารจัดการตามสภาพที่มีหน่วยงานกลางเป็นผู้ประสาน

 

นอกจากนี้ สำหรับการขอระบายน้ำไปยังจังหวัดฉะเชิงเทรา หรือชลบุรี คงไปไม่ถึงเพราะไกลมาก เป็นไปไม่ได้ กรมชลประทานเองหากมีจังหวะก็ปั๊มน้ำจากคลองประเวศลงคลองพระองค์เจ้าฯตลอด ยืนยันไม่ได้มีปัญหาความร่วมมือ คนหน้างานเขาดูกันตลอด

 

รองผู้ว่าฯ วิศนุ  กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำเหนือยังไม่น่ากังวล เพราะมวลน้ำไหลผ่านที่บางไทร 1,800 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที โดยมีจุดเตือนภัยอยู่ที่ 2,500 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที ทั้งนี้ได้ประสานความร่วมมือกับกรมชลประทาน อย่างใกล้ชิด ในปี 2565 มีปริมาณฝนที่เกิน 120 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง จำนวน 10 วัน ขณะที่ปี 2564 มีเพียง 4 วันที่ฝนตกเกิน 120 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง 

 

 โดยที่ผ่าน กทม.มีมาตรการเตรียมการปรับปรุงสถานี้สูบน้ำ และบ่อสูบน้ำ ขุดลอกคลอง 32 คลอง เปิดทางน้ำไหลได้มากกว่า 1,665 กิโลเมตร ทำความสะอาดท่อไปแล้ว 33,57 กิโลเมตร ส่วนช่วงวิกฤตในคลองลาดพร้าว เพิ่มการระบายน้ำออกคลองบางเขน และคลองบางซื่อ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในคลองสามเสน เร่งระบายลงสู่อุโมงค์บึงมักกะสัน 

 

ส่วนคลองเปรมประชากร ใช้เครื่องผลักดันน้ำตั้งแต่เขตดอนเมือง ถึงเขตบางซื่อ 18 เครื่อง และคลองบางเขน 2 เครื่อง  คลองแสนแสบ ยกระดับประตูระบายน้ำคลองบางชัน เพิ่มการระบายน้ำจากพื้นที่ภายนอกคันกั้นน้ำ เช่น เขตคลองสามวา หนองจอก และมีนบุรี 

 

ส่วนคลองประเวศ ยกระดับบานประตูกระทุ่มเสือปลา เพื่อเร่งระบายน้ำจากเขตลาดกระบังสู่คลองพระโขนง และเร่งสริมกระสอบทรายในคลองประเวศชั้นในด้วย

 

คลองย่อย เช่น คลองที่อยู่ใกล้กับรามอินทราเลขคี่ เพิ่มกำลังเครื่องสูบน้ำที่คลองกะเฉด ทำทำนบกั้นน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำ และทำทำนบ และทยอยสูบน้ำบริเวณคลองบางนา ไปยังสถานีสูบน้ำวัดบางนานอก ทั้งนี้ กทม.ได้รับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจากกรมชลประทาน 21 เครื่อง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 15 เครื่อง กระจายไปตามจุดเปราะบางทั่วกรุงเทพฯ 

 

logoline