svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ลุ้นศบค. เคาะปิดผับตี 4 หมออุดม เผย 1 ต.ค.ยุบ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ศบค.

19 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ลุ้น "ศบค."เคาะปิดผับตี-ปรับโควิด-19 เป็นโรคเฝ้าระวัง "หมออุดม" เผย 1 ต.ค.ยุบ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและศบค. ระบุ นายกฯรับทราบแล้ว

19 สิงหาคม 2565 วันนี้มีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยจะมีการนำเสนอ มติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่าด้วยเรื่องของการลดระดับสถานการณ์โควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรง เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง

 

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวว่า การประชุมวันนี้ จะเน้นไปที่แผนกระจายยา ที่ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกระจายไปยังโรงพยาบาลเอกชน และคลินิกเวชกรรมแล้ว ต่อไปก็จะขยายไปยังร้านขายยาชั้นหนึ่งให้จำหน่ายยาได้ ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และเตรียมแผนนำไปสู่การประกาศเป็นโรคเฝ้าระวัง ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ เพื่อรองรับการประกาศเป็นโรคประจำถิ่น

 

ที่สำคัญในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดใหญ่ที่จะต้องบูรณาการกับจังหวัดปริมณฑล นอกจากนี้ ที่ประชุมยังจะพิจารณาถึงการเปิดด่านชายแดนหลังจากที่มีการผ่อนคลายเปิดไปแล้วหนึ่งเดือนผ่านมา รวมถึงรับทราบรายงานสถานการณ์การท่องเที่ยว

ลุ้นศบค. เคาะปิดผับตี 4 หมออุดม เผย 1 ต.ค.ยุบ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ศบค.

ทั้งนี้หลังจากประกาศเป็นโรคเฝ้าระวังแล้ว จะยุบ ศบค.หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งจะต้องประเมินว่า จำเป็นจะต้องใช้กฎหมายพิเศษหรือไม่ ส่วนข้อเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการขยายเวลาการเปิดสถานบันเทิง จนถึงเวลาตี 4 ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยจะพิจารณาและจะมาเสนอหรือไม่

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงแล้ว ยังจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีความจำเป็นต้องใช้ เพราะยังต้องกำกับควบคุมคนเดินทางเข้าออกประเทศ และห้ามในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะก่อเกิดให้เกิดโรคระบาด แม้ดูเหมือนตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น แต่มาตรการในการรองรับ ทั้งการรักษาพยาบาล การกระจายยา การดูแลรักษาตนเองของผู้ป่วย ที่ประชาชนดำเนินการอยู่ เป็นไปในทิศทางที่ดี

 

ลุ้นศบค. เคาะปิดผับตี 4 หมออุดม เผย 1 ต.ค.ยุบ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ศบค.

นายแพทย์อุดม​ คชินทร​ ที่ปรึกษา​ ​ศบค.​ ระบุถึงกรณี การปรับโรคโควิด- 19 เป็นโรคเฝ้าระวัง ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้จำเป็นต้องยกเลิกพรบฉุกเฉินออกหรือไม่​ ว่า​ ขณะนี้สถานการณ์ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น หากดูจากจำนวนผู้ป่วยที่เข้าในระบบ จะมีประมาณวันละ 2,000 คน ส่วนคนไข้ ATK ในระบบ วันละประมาณ 30,000 คน และคาดว่ามีคนไข้ที่ไม่เข้าในระบบ ประมาณ 1-2 เท่า ทำให้ภาพรวมขณะนี้ มีคนไข้ประมาณ 60,000 คน ซึ่งอยู่ในระดับนี้มาประมาณ 1 เดือนแล้ว และคาดว่าหลังวันที่ 1 ตุลาคมนี้จะลดลง ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่เข้าในระบบโรงพยาบาลประมาณ 1,000 คนต่อวัน และยอดผู้เสียชีวิตก็ลดลง ก็จะเข้าข่ายกันเป็นโรคเฝ้าระวัง แต่ยังไม่ใช่โรคประจำถิ่น ซึ่งการปรับไปเป็นโรคประจำถิ่นต้องรออีกระยะหนึ่ง​

 

ทั้งนี้นายแพทย์อุดม​ ย้ำว่า​ การสวมหน้ากากอนามัยยังเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยการประชุมในวันนี้ จะมีการพิจารณาในประเด็นกรอบนโยบายในช่วงเปลี่ยนผ่าน ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งมีสิ่งที่ต้องทำ 2 เรื่อง คือการเตรียมการให้คนไข้ ได้เข้าถึงการบริการที่สะดวก คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมาก พร้อมยอมรับว่าขณะนี้ การเข้าถึงสถานพยาบาล ยังค่อนข้างลำบาก การได้รับยามีปัญหาเรื่องการพบหมอและการได้รับยา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะมีการเสนอต่อที่ประชุม ในเรื่องการเข้าถึงระบบการรักษา

 

พร้อมทั้งยืนยันว่า ขณะนี้มีปริมาณยาที่เพียงพอ ขอประชาชนไม่ต้องกังวล ส่วนการที่ประชาชนไปรักษาบางสถานพยาบาลแล้วไม่ได้รับยานั้น เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ เพราะมีการกระจายยาไปทั่วประเทศ แต่ยืนยันว่า​ ขณะนี้ยังมีปริมาณยาเพียงพอขออย่ากังวล ทั้งฟาวิพิราเวียร์​ และโมนูลพิราเวียร์​ และในวันที่ 1 กันยายนนี้ก็จะมีการเปิดให้คนไข้เข้ารับยาที่ร้านขายยาในเครือข่ายได้ ตามใบสั่งแพทย์​ ส่วนคลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชน ขณะนี้สามารถทำได้อยู่แล้ว

 

นายแพทย์อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19

 

นอกจากนี้ 3 กองทุนหลักยังร่วมกับภาคเอกชนสร้างระบบทางไอทีขึ้นมา 3 แอปพลิเคชัน ประกอบด้วย​ คลินิก ซึ่งจะครอบคลุมการให้บริการทั้งประเทศ ทั้งผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวและกลุ่ม 608 ส่วน Application หมอดี ดูแลพื้นที่ทั่วประเทศ กับ Good Doctor ที่จะดูแลเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จะดูแลเฉพาะคนไข้กลุ่มสีเขียว โดยจะเป็นระบบเทเลเมดิซีน ผู้ป่วยจะได้พบแพทย์ และการสั่งยาผ่านระบบ โดยจะมีการส่งยาไปถึงบ้าน ทำให้สะดวกไม่ต้องเดินทาง

 

ขณะที่การฉีดวัคซีน แม้หลายคนเข้าใจว่า โรคมีอาการไม่รุนแรง แต่อยากให้เข้าใจว่าสายพันธุ์​ BA.4 -BA.5 ยังมีความรุนแรงของเชื้อเท่าเดิม เพียงแต่คนฉีดวัคซีนไปมาก ทำให้มีภูมิต้านทานในร่างกาย ส่วนความเข้าใจที่บอกว่าเพื่อนติดกันหมดแล้วอยากติดด้วย ตน มองว่าเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการไม่ติดเชื้อดีที่สุด เพราะหากติดเชื้ออาจทำให้เสียชีวิตได้ และหากมีอาการลองโควิดก็จะส่งผลต่อร่างกายในระยะยาว รวมถึงทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะ Booster dose เข็ม 3 และเข็ม 4 พร้อมกับระบุว่าเข็ม 5 นั้นยังไม่จำเป็นเนื่องจากต้องเป็นกลุ่มบุคลากรด้านหน้า

 

ส่วนกรณีที่ 1 ตุลาคม 2565 ไม่จำเป็นต้องใช้พรก.ฉุกเฉินแล้วและหน่วยงานศบค.ก็จะหายไปพร้อมกัน แต่จะต้องมีการเสริมความเข้มแข็ง ในพ.ร.บ.โรคติดต่อ​ โดยจะต้องมีหน่วยงานคล้ายกับศบค.เข้ามาดู เพราะเรื่องโรคระบาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขเพียงกระทรวงเดียว ยังมีกระทรวงมหาดไทยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และกรุงเทพมหานคร ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีกฎหมายของตัวเอง จึงต้องมีหน่วยงาน คล้ายคลึงกับศบค.เกิดขึ้น แต่อำนาจจะไม่แรงเท่าศบค.เดิม พร้อมกับยังระบุอีกว่าการยุบศบค.​สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด​

 

โดยนายแพทย์อุดม ยังระบุอีกว่า การยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยุบศบค. ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบในเบื้องต้นแล้ว

 

logoline