svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กรมควบคุมโรค เผย ‘ไข้เลือดออก’กลับมาระบาด ล่าสุดเสียชีวิตแล้ว 14 ราย

17 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมควบคุมโรค เผย พบผู้ป่วยไข้เลือดออกมากกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน 2.2 เท่า ขณะที่ยอด 8 เดือน มีผู้ป่วย 16,276 ราย เสียชีวิต 14 ราย สธ.ชี้แนวโน้มกลุ่มผู้ใหญ่ป่วยมากขึ้น

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-10 ส.ค.65 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวน 16,276 ราย เสียชีวิต 14 ราย กลุ่มอายุที่เสียชีวิต อายุ 35 ปีขึ้นไป มากกว่าปีที่ผ่านในช่วงเวลาเดียวกันถึง 2.2 เท่า โดยในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ อุบลราชธานี ตาก และศรีสะเกษ และคาดการณ์ว่าปีนี้สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกจะมีการระบาดมากขึ้นตามวงรอบของปีที่จะระบาด โดยมีแนวโน้มพบผู้ป่วยในกลุ่มผู้ใหญ่มากขึ้น 

กรมควบคุมโรค เผย ‘ไข้เลือดออก’กลับมาระบาด ล่าสุดเสียชีวิตแล้ว 14 ราย

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับลักษณะอาการของโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน และสูงลอยประมาณ 2-7 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร ส่วนใหญ่ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ต่อมาไข้จะลดลง ในระยะนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ขอให้ประชาชนสังเกตอาการป่วยของคนในครอบครัว หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน และเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง ขอให้คิดว่าอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพรินและไอบูโพรเฟนมารับประทาน ให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัย ประเมินอาการ และการดูแลรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ชุดตรวจโรคไข้เลือดออกชนิดรวดเร็ว (Dengue Rapid Diagnosis Test) ทำให้สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกได้เร็วมากขึ้น

 

กรมควบคุมโรค เผย ‘ไข้เลือดออก’กลับมาระบาด ล่าสุดเสียชีวิตแล้ว 14 ราย

ทั้งนี้ ควรทายากันยุง และนอนในมุ้ง เพื่อป้องกันยุงกัด รวมทั้งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายรอบบ้าน ใช้ทรายกำจัดลูกน้ำบริเวณน้ำขัง หรือทำลายภาชนะที่มีน้ำขัง และที่สำคัญไม่สร้างแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพิ่มขึ้น เช่น ปิดฝาถังขยะให้มิดชิด ทิ้งขยะประเภทภาชนะใส่อาหารลงในถังขยะ โดยขอให้ยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ เก็บบ้านให้สะอาด ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้าน ให้มีความเป็นระเบียบ แสงแดดส่องเข้าถึง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะบริเวณรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และ เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันยุงลายมาวางไข่ เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

  กรมควบคุมโรค เผย ‘ไข้เลือดออก’กลับมาระบาด ล่าสุดเสียชีวิตแล้ว 14 ราย

อีกหนึ่งบทความดีๆ ที่นำมาฝากกัน เพื่อสาระความรู้ เขียนโดย ผศ.ดร. นพ.นพพร อภิวัฒนากุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 

รู้ทัน ป้องกันได้ “ไข้เลือดออก” นักฆ่าในหน้าฝน

กรมควบคุมโรค เผย ‘ไข้เลือดออก’กลับมาระบาด ล่าสุดเสียชีวิตแล้ว 14 ราย

 

 

โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติด “เชื้อไวรัสเดงกี” ซึ่งมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์ 1, 2, 3 และ 4 การระบาดมักเกิดในช่วงฤดูฝน โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งในอดีตจะพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากในวัยเด็ก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มอายุผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออกได้ขยายไปยังกลุ่มวัยรุ่น และผู้ใหญ่วัยทำงานมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันตัวเลขของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

อาการของโรคไข้เลือดออก

อาการและความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกที่เกิดขึ้นในวัยเด็กและผู้ใหญ่นั้นไม่ต่างกันมาก เนื่องจากอายุไม่ได้เป็นตัวชี้ชัดแน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความรุนแรงที่ต่างกันของแต่ละสายพันธุ์ รวมไปถึงพันธุกรรมของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน แม้จะป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์เดียวกัน ก็มีอาการความรุนแรงไม่เท่ากัน โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกจะมาด้วยอาการเบื้องต้นที่เหมือนกันดังนี้

  • มีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียส
  • ปวดเมื่อยตามตัว บางรายปวดไปถึงกระดูก
  • คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
  • มีเลือดออกที่ผิวหนัง เป็นจุดเลือดเล็ก ๆ กระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้
  • มีเลือดกำเดา หรือเลือดออกตามไรฟัน
  • เกร็ดเลือดต่ำ
  • อุจจาระเป็นเลือด

 

ระยะของไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกสามารถแบ่งได้ 3 ระยะด้วยกันคือ ระยะไข้สูง เป็นช่วงที่ไม่อันตรายเท่าไร แต่อาจทำให้ผู้ป่วยอ่อนเพลีย หมดแรง อาเจียน รับประทานอาหารได้น้อย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อผ่านระยะไข้สูงแล้วจะเข้าสู่ ระยะฟื้นตัว ที่ร่างกายจะค่อย ๆ แข็งแรงขึ้น จนกลับมาสู่ภาวะปกติ แต่จะมีผู้ป่วยส่วนน้อยที่เข้าสู่ ระยะวิกฤต ซึ่งเป็นช่วงที่เป็นอันตรายที่สุดโดยเป็นช่วงที่ผู้ป่วยมีไข้สูงและไข้ลดลง แล้วมีอาการช็อกตามมา

วิธีการรักษาไข้เลือดออก

สำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งมีไข้ แนะนำให้พักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำ รับประทานอาหารอ่อน ๆ สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลได้ ไม่ควรรับประทานยาไอบูโพรเฟน หรือแอสไพริน หากผู้ป่วยมีไข้ได้ประมาณ 3-4 วันแล้วไม่ลด แพทย์จะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออกหรือไม่ หากเจาะเลือดแล้วพบว่าเกร็ดเลือดต่ำ แพทย์จะแนะนำให้นอนโรงพยาบาลเพื่อรับน้ำเลือดและติดตามสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด เพราะผู้ป่วยอาจเข้าสู่ระยะวิกฤตได้ ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสเดงกีโดยเฉพาะ

เป็นแล้วกลับมาเป็นอีกได้หรือไม่

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าโรคไข้เลือดออกมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ เพราะฉะนั้นคนหนึ่งคนสามารถเป็นไข้เลือดออกได้ถึง 4 ครั้ง เช่น หากเคยเป็นไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ 1 แล้วหาย ร่างกายจะมีภูมิต้านทานไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ 1 ซึ่งจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก แต่ก็มีโอกาสที่จะเป็นไข้เลือดออกสายพันธุ์อื่น ๆ ที่เหลือได้ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคไข้เลือดออกครั้งแรกนั้น อาการจะไม่รุนแรงมาก แต่หากได้รับการติดเชื้อเป็นครั้งที่ 2 อาการของผู้ป่วยบางรายจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่ก็พบได้กับคนส่วนน้อยเท่านั้น

วิธีการป้องกันไข้เลือดออก

เนื่องจากไข้เลือดออกมีสาเหตุมาจากยุงลายเป็นพาหะนำโรค ดังนั้นควรกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านและชุมชน ด้วยการปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขังให้มิดชิด ไม่ให้ยุงเข้าไปวางไข่ได้ เปลี่ยนน้ำในภาชนะทุกสัปดาห์ ดูแลความสะอาดปรับสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านให้ปราศจากภาชนะที่มีน้ำขังได้ เช่น ยางรถยนต์ จาน ชามเก่าที่วางทิ้งไว้ เป็นต้น

กรมควบคุมโรค เผย ‘ไข้เลือดออก’กลับมาระบาด ล่าสุดเสียชีวิตแล้ว 14 ราย

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก : ผศ.ดร. นพ.นพพร อภิวัฒนากุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

logoline