svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เจาะแก่นธรรม "อริยสัจ4" ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค หลังกระแสดราม่านายกฯประยุทธ์

17 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เจาะแก่นธรรม "อริยสัจ4" ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค หลังกระแสดราม่านายกฯประยุทธ์ กับการขึ้นค่าไฟฟ้าให้ย้อนไปศึกษาธรรมะ ??

กลายเป็นกระแสดราม่าขึ้นมาทันที ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ระบุว่า การขึ้นค่าไฟเป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งต้องให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ไปพิจารณา เป็นกติกาและกฎหมาย ต้องมีการพิจารณาการขึ้นตามวงรอบทุก 4 เดือน รัฐบาลได้ให้หลักคิดไปแล้ว ทำอย่างไรให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด เพื่อเหตุผลความจำเป็น สภาพคล่อง ซึ่งทุกอันจะต้องมีสภาพคล่อง สามารถที่จะเดินเครื่องเดินไฟฟ้าต่อไปได้ เหมือนค่าน้ำมันค่าแก็ส  ซึ่งใช้งบประมาณอุดหนุนไปจำนวนมากพอสมควร และอันนี้เป็นอีกอันที่ต้องดูแล

 

เจาะแก่นธรรม "อริยสัจ4" ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค หลังกระแสดราม่านายกฯประยุทธ์


โดยท่อนที่ถูกพูดถึงมากที่สุด คือท่อนที่ระบุว่า  “ทุกคนต้องเข้าใจ ไม่ใช่นำไปพาดหัวข่าวขึ้นเป็น 5 บาทแล้ว หรือ 4 บาทแล้ว แต่มันขึ้นเป็นสตางค์เข้าใจไหม อย่าไปเขียนอย่างนี้ให้คนเขาเข้าใจผิด แต่ผมก็โอเค มันขึ้นก็ต้องขึ้น แต่ขึ้นจากอะไรต้องไปดูสาเหตุแห่งปัญหา ไปศึกษาธรรมะเสียบ้าง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เรียนเสียบ้าง ทุกข์เกิดจากอะไรแล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร ดูวิธีการแก้ปัญหาโน้น”

 

หลังสิ้นคำสัมภาษณ์ สื่อมวลชนได้ตีข่าวท่อน “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” ออกไปอย่างแพร่หลาย จนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลายเป็นเหยื่อของการถูกวิพากษ์วิจารณ์กันเซ็งแซ่ พูดแบบนี้หมายความว่าอย่างไร

เจาะแก่นธรรม "อริยสัจ4" ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค หลังกระแสดราม่านายกฯประยุทธ์

อย่างไรก็ตาม วันนี้ ทีมข่าวเนชั่นออนไลน์ ขอเกาะกระแสเรื่องดังกล่าวสักนิด แต่จะขอข้ามปมดราม่าไปพูดถึงแก่นหลักของคำว่า “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” กันดีกว่า จริงๆแล้วคืออะไร

 

เรื่องนี้ต้องย้อนไปในสมัยพุทธกาล องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงบัญญัติ ตรัสคำว่า อริยสัจ หรือจตุราริยสัจ หรืออริยสัจ 4 เป็นหลักคำสอนหนึ่ง แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยบุคคล หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มีอยู่สี่ประการ คือ

เจาะแก่นธรรม "อริยสัจ4" ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค หลังกระแสดราม่านายกฯประยุทธ์

 

1. ทุกข์ (ธรรมที่ควรรู้)

 

ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ต่างก็มีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ความทุกข์จึงเกิดขึ้นกับใครก็ได้ทุกขณะ เราจึงไม่ควรประมาท และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความจริงของทุกข์นั้นๆ ทุกข์ จึงถือคือเป็นความจริงข้อแรกในอริยสัจ 4

 

2. สมุทัย (หลักธรรมที่ควรละ)

 

สมุทัย คือ ความจริงที่ว่าด้วยเหตุเกิดแห่งความทุกข์ เพราะความทุกข์หรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีสาเหตุเกิดจากอะไรบางอย่าง ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ โดยไม่มีเหตุ สมุทัยคือความจริงข้อที่สองในอริยสัจ 4

 

สมุทัย หมายถึงเหตุที่เกิดทุกข์ คือ กิเลสตัณหาที่กระตุ้นจิตใจให้ส่ายแส่หาอารมณ์ที่ปรารถนา อยากได้ อยากมี อยากเป็น และอยากพ้นไปจากภาวะไม่ปรารถนา เป็นเหตุแห่งทุกข์ที่ต้องละ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมดซึ่งเป็นปัญหาของชีวิต ล้วนมีเหตุให้เกิดเหตุนั้น คือ ตัณหา อันได้แก่ความอยากได้ต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยความยึดมั่น ถือมั่น

 

เจาะแก่นธรรม "อริยสัจ4" ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค หลังกระแสดราม่านายกฯประยุทธ์

3. นิโรธ (หลักธรรมที่ทำให้บรรลุ)

 

นิโรธ คือ ความดับทุกข์ หรือดับปัญหาต่างๆ พุทธศาสนามีหลักคำสอนเกี่ยวกับเรื่องความสุขมากมาย จุดหมายสูงสุด คือ นิพพาน เป็นบรมสุขที่สูงสุด นิโรธคือความจริงข้อที่สามในอริยสัจ 4

 

นิโรธ หมายถึงความดับทุกข์ คือ ภาวะที่เป็นผลจากการดับตัณหาและสามารถพ้นจากทุกข์ได้เด็ดขาด เป็นภาวะที่ต้องทำให้ประจักษ์แจ้ง พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์คือปัญหาของชีวิตทั้งหมดที่สามารถแก้ไขได้นั้น ต้องแก้ไขตามทางหรือวิธีแก้

 

เจาะแก่นธรรม "อริยสัจ4" ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค หลังกระแสดราม่านายกฯประยุทธ์

 

 

4. มรรค (หลักธรรมที่ควรเจริญ หรือทำให้เกิดขึ้น)

 

มรรค คือ ข้อปฏิบัติที่ทำให้พ้นจากความทุกข์หรือปัญหาต่างๆ ข้อปฏิบัติให้ลุถึงความดับทุกข์ ซึ่งมีองค์ประกอบ 8 ประการ อันเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างหรือทางดำเนินชีวิตที่ดีเลิศ จัดเป็นเหตุที่ควรเจริญ คือ ลงมือปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงนิโรธ โดยสรุปเป็นหลักแห่งการศึกษาปฏิบัติสำคัญได้ 3 ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มรรคคือความจริงข้อสุดท้ายในอริยสัจ 4 ประการ

 

มรรค หมายถึงหนทางสู่การดับทุกข์ มีด้วยกันทั้งหมด 8 ประการคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ    ซึ่งในโอกาสหน้าเราจะเจาะลงลึกถึงมรรค 8 กันอีกครั้ง

 

เจาะแก่นธรรม "อริยสัจ4" ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค หลังกระแสดราม่านายกฯประยุทธ์

 

ขอบคุณข้อมูล : สำนักพระพุทธศาสนา

logoline