svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นายกฯสั่งกทม.เร่งแก้ปัญหาเตียงไม่พอ สัปดาห์หน้ากักตัวอยู่บ้านลดวิกฤต

02 กรกฎาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศบค. เผย นายกฯสั่งเร่ง แก้ปัญหาเตียงไม่พอ บ่าย 2 นี้ กทม.ร่วมหารือกรมการแพทย์ ระบุ สัปดาห์หน้าออกมาตรการ แยกกักกันในชุมชน ระหว่างที่ทราบผลติดเชื้อโควิด และรอเตียง พร้อมทั้งแนวทางดูแลตัวเองในชุมชนและสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงจากสีเขียวเป็นสีเหลือง

วันนี้ (2 ก.ค.64) แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศบค.เปิดเผยว่า ที่ประชุมศบค.ชุดเล็ก และ EOC กระทรวงสาธารณสุข มีความเป็นห่วงเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อมากเทียบกับจำนวนผู้ป่วยกลับบ้าน จนเตียงที่ได้คืนมาจากผู้ป่วยกลับบ้านมีสัดส่วนแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค. มีความเป็นห่วงในกรณีที่ผู้ป่วยต้องรอเตียงที่บ้านและอาจทำให้เกิดภาวะที่รุนแรงและทรุดลง จึงสั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งศบค. กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ได้หารือจัดการผู้ป่วยอย่างเร่งด่วน เพื่อเพิ่มศักยภาพจัดการเตียงที่มีอย่างจำกัดในทุกเขตของกรุงเทพมหานคร โดยสัปดาห์นี้จะมีมาตรการสำคัญ คือ การแยกกักกันในชุมชน ระหว่างที่ทราบผลติดเชื้อ และรอจัดสรรเตียง โดยกรุงเทพมหานครจะเร่งรัดจัดการให้เร็วที่สุด และในเวลา 14.00 น. วันนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะเป็นประธานประชุมหารือโดยกรมการแพทย์จะนำเสนอแนวทางการปฏิบัติ และมีข้อรายละเอียดทั้งในส่วนของมาตรการที่ผู้ป่วยจะต้องมีมาตรการดูแลตนเองในชุมชนอย่างไรให้ปลอดภัย ทั้งในแง่ประเมินตนเองสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงจากสีเขียวเป็นสีเหลือง และการแพร่ระบาดในชุมชน รวมถึงจะมีการทบทวนระบบจัดการผู้ป่วยในสถานแยกกักในชุมชน

 

นอกจากนี้ที่ประชุม EOC โดยปลัดระทรวงสาธารณะสุข กล่าวถึงศักยภาพในการเพิ่มเตียง โดยจะมีการเพิ่มทั้งกลุ่มสีเขียว เหลืองและแดง โดยในส่วนของโรงพยาบาลบุษราคัมจะสามารถเปิดดำเนินการได้ทันที ส่วนการบริการวัคซีนกรุงเทพมหานครได้รายงาน มีการเร่งระดมบุคลากรในการฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง คือกลุ่มผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรคหลัก โดยมีบริการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง รวมถึงผู้พิการ ซึ่งได้มีการสำรวจในสถานดูแลผู้สูงอายุ หรือ Nursing home  140 แห่ง เป้าหมาย 4,615 ราย เป็นผู้สูงอายุ 2,846 รายผู้ดูแลใน Nursing home  1,769 ราย  รวมถึงการสำรวจผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงจำนวน 50 เขตของ กรุงเทพมหานครกลุ่มเป้าหมาย 1,776 ราย ผู้ดูแล 306 ราย นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงกลุ่มผู้เสียชีวิต ที่มีตัวเลขค่อนข้างสูงในสัปดาห์นี้ จะเป็นผู้ได้รับการติดเชื้อมาเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ก็จะค่อยๆเห็นมีอาการแย่ลงและเสียชีวิตในช่วงสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตามหากเรามีการระดมฉีดวัคซีนจะถือได้ว่าเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ที่ฉีดทั้งกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่ม ซึ่งจะช่วยลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต

สำหรับรายงานการติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันที่ 2 กรกฎาคม  ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 70 ของโลก สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,087 รายติดเชื้อในประเทศ 5,869 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 11 รายจากเรือนจำที่ต้องขัง 207 ราย สำหรับผู้ป่วยยืนยัน 242,058 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 270,921 ราย หายป่วยแล้วเพิ่มขึ้น 3,638 ราย หายป่วยสะสม 186,914 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 61 ราย เสียชีวิตสะสม 2,047 ราย รักษาอยู่ 54,440 รายในโรงพยาบาล 26,020 เท่าไหร่โรงพยาบาลสนาม 28,415 รายอาการหนัก 2,002 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 579 ราย

 

ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เสียชีวิตจำนวน 61 รายแบ่งเป็นเพศชาย 29 ราย เพศหญิง 32 ราย อายุระหว่าง 30-90 ปี และ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 70 % เป็นชาวไทย 58 ราย เมียนมา 3 ราย เสียชีวิตที่บ้าน 5 ราย ( สูงอายุ 3 ราย และแรงงานเมียนมา 2 ราย) จากกรุงเทพมหานคร 28 ราย นนทบุรี 9 ราย สมุทรปราการ 8 ราย ปัตตานี 5 ราย ปทุมธานี นราธิวาส จังหวัดละ 3 ราย ส่วนเชียงราย สงขลา นครปฐม นครนายก พระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย  สำหรับบุคลากรแพทย์ที่มีรายงานการเสียชีวิตจำนวน 4 ราย แพทย์ 1 ราย ทันตแพทย์ 1 ราย พนักงานโรงพยาบาล 1 ราย และเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 1 ราย ทั้งนี้จากรายงานสรุปของกรมควบคุมโรค จำนวนผู้ป่วยจำนวน 100 ราย จะมี 5 ราย หรือ 5 % จะมีรายงานปอดติดเชื้ออาการหนัก และเกือบ 2 ใน 5 ราย มีความจำเป็นใช้เครื่องช่วยหายใจ และแจ้งจำนวนผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ 10 ราย ตัวเลข 1-2 ราย จะเสียชีวิต ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงมีความจำเป็นในการวางมาตรการจัดหาเตียง โดยจะเน้นไปที่อาการป่วยระดับสีเหลืองและสีแดง รวมถึงการระดมฉีดวัคซีน ที่จะเป็นนโยบายสำคัญในเดือนกรกฎาคม

 

สำหรับผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ 11 ราย โดยมีชาวเมียนมา เดินทางผ่านช่องทางธรรมชาติ วันที่ 30 มิถุนายน เป็นเพศชายอายุ 27 ปีสัญชาติไทย อาชีพธุรกิจออนไลน์ พบติดเชื้อไม่มีอาการ LQ ตาก/โรงพยาบาลแม่สอด ขณะที่ชาวกัมพูชาเดินทางเข้ามา 8 ราย โดยมี 1 ราย เดินทางผิดกฏหมาย ผ่านช่องทางธรรมชาติ วันที่ 28 มิถุนายน เป็นเพศหญิงอายุ 76 ปี สัญชาติไทย พบติดเชื้อไม่มีอาการ  LQจันทบุรี/โรงพยาบาลพระปกเกล้า

 

สรุปการฉีดวัคซีน โควิด-19 มีผู้รับวัคซีนเพิ่ม 299,485 โดส สะสมตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 จำนวน 6,126,662 โดส สะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 รวม 10,227,183 โดส ขณะที่การได้รับบริการวัคซีน โควิด-19 รวมทั้งประเทศจำนวนประชากร 72,043,775 ราย เป็นเข็มที่หนึ่ง 7,364,585 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.22 ขณะที่เข็มที่สอง 2,862,598 ราย ครอบคลุมร้อยละ 3.97 ขณะที่ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่หนึ่งคิดเป็นร้อยละ 11.2 และเข็มที่สองคิดเป็นร้อยละ 0.7 ขณะที่ 7 กลุ่มโรคได้รับวัคซีนเข็มที่หนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 13.4 และเข็มที่สอง คิดเป็นร้อยละ 3.1 ขณะที่เจ้าหน้าที่ด่านหน้าได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่หนึ่งคิดเป็นร้อยละ 33.4 เข็มที่สองคิดเป็นร้อยละ 21.3 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้รับวัคซีนเข็มแรกคิดเป็นร้อยละ 106.5 ขณะที่เข็มที่สองคิดเป็นร้อยละ 94.9 ส่วนประชาชนทั่วไปคิดได้รับบักซีนเข็มแรกคิดเป็นร้อยละ 12.5 ได้รับวัคซีนเข็มที่สอง คิดเป็นร้อยละ 4.8

 

ขณะที่มีรายงานกลุ่มจังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มี 3 จังหวัด คือ พังงา ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ขณะที่ทิศทางของแต่ละจังหวัด กรุงเทพมหานคร จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ที่ประมาณ 39 % ปริมณฑลอยู่ที่ประมาณ 25 % รวมทั้งสองกลุ่มนี้อยู่ที่ 64 % ซึ่งถือว่ามีการติดเชื้อสูงหากเทียบกับอีก 71 จังหวัด ทั้งนี้จากการเดินทางของคนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเป็นกลุ่มพื้นที่สีแดงเข้ม 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเดินทางข้ามพื้นที่ ทำให้จังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อหรือมีรายงานตัวเลขต่ำเกิดมีจำนวนมากขึ้น  และมีการติดเชื้อแพร่กระจายไป 34 จังหวัด โดยภาคเหนือ 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่พะเยา น่าน แพร่ และลำปาง 16 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัดคือ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ร้อยเอ็ด ขอนแก่น นครพนม สกลนคร อุดรธานี สุรินทร์ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ มุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษอำนาจเจริญ และอุบลราชธานี 26 ราย ขณะที่ภาคกลางและภาคตะวันออก 8 จังหวัดคือ ชัยนาท สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี สมุทรสงคราม พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี ฉะเชิงเทรา 147 ราย และภาคใต้ 6 จังหวัด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ชุมพร ยะลา และสงขลาจำนวน 13 ราย

สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศรายใหม่ประจำวันที่ 2 กรกฎาคมจำนวน 10 อันดับแรกกรุงเทพมหานคร 2,267 ราย สมุทรปราการ 522 ราย นนทบุรี 327 ราย สมุทรสาคร 289 ราย ปทุมธานี 284 ราย ชลบุรี 222 ราย ยะลา 201 ราย ปัตตานี 169 ราย สงขลา 167 รายและนราธิวาส 224 ราย

 

ทั้งนี้ทางกรุงเทพมหานคร ได้รายงานคลัสเตอร์ ที่ต้องเฝ้าระวังจำนวน 113 แห่ง เป็นคลัสเตอร์กลุ่มสีเขียว ที่ไม่พบรายงานผู้ป่วยใหม่ 28 วัน จำนวน 27 แห่ง คลัสเตอร์สีเหลือง ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง 14 วัน 17 แห่ง และมีรายงานคลัสเตอร์ใหม่  2 แห่ง ที่เขตคลองเตย แคมป์คนงานก่อสร้าง ซอยสุขุมวิท 50 มีรายงานติดเชื้อ 43 ราย และเขตหนองแขม เป็นโรงงานมีรายงานผู้ติดเชื้อ 70 ราย จากการคัดกรองพนักงาน 1,300 ราย คิดเป็น 5.38 %

 

จากรายงานการติดเชื้อผู้ป่วยรายใหม่ของกรุงเทพมหานคร 2,267 ราย จากระบบเฝ้าระวังและจากโรงพยาบาล เป็นชาวไทย 696 ราย ต่างด้าว 475 ราย ค้นหาผู้ติดเชื้อรุกในชุมชนชาวไทย 1,047 ราย และต่างด้าว 22 ราย ขณะที่คลัสเตอร์ ใหม่ในต่างจังหวัด จังหวัดสมุทรปราการ โรงงานเฟอร์นิเจอร์พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21 ราย จังหวัดนนทบุรี ปากเกร็ด ตลาดเทศบาลมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 43 ราย และตลาดพิชัย มีรายงานผู้ติดเชื้อ 75 ราย จังหวัดสมุทรสาคร เมืองสมุทรสาคร บริษัทผลิตพลาสติก มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 12 ราย เขตกระทุ่มแบน โรงงานลูกชิ้น มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11 ราย จังหวัดสุราษฎร์ธานี แคมป์ก่อสร้างรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11 ราย จังหวัดขอนแก่น อำเภอสีชมพู ศูนย์พัฒนาเด็ก รายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 45 ราย

 

ทั้งนี้การแพร่ระบาดทางกรมวิทย์ฯ ได้รายงานว่า เริ่มเห็นสายพันธุ์เดลต้า เข้ามาแพร่ระบาดในบ้านเรา สายพันธุ์นี้มีการรายงานแพร่ระบาดครั้งแรกในประเทศอินเดีย ซึ่งจากการรายงานเป็นสายพันธุ์ที่มีการติดต่อกันได้ง่าย แพร่ระบาดรวดเร็ว และจะแพร่ไปยังกลุ่มเสี่ยงในกลุ่มสูงอายุและกลุ่ม 7 โรคหลัก ดังนั้นจึงเกิดข้อสรุปในที่ประชุมว่า เมื่อเราได้รับวัคซีนมากขึ้นเพียงพอ ขอเน้นย้ำไปที่กลุ่มเสี่ยงเปราะบาง และหวังว่าจะเห็นภาพเหมือนประเทศอังกฤษ ถึงแม้จะมีการฉีดวัคซีนและรายงานผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูงแต่อัตราการเจ็บป่วยในระดับรุนแรงหรือการเสียชีวิตลดลงอย่างชัดเจน

logoline