5 พฤษภาคม 2568 ภายหลังเมื่อวานนี้ (4 พ.ค.2568) เพจ “ทราย - Merman Ψ” โพสต์รูปภาพพร้อมข้อความระบายความอึดอัดใจ ถึงขั้นไม่อยากกลับไปที่หมู่เกาะสุรินทร์อีก พร้อมเรียกร้องสิทธิการดูแลความเป็นอยู่ของชาวมอแกนที่หมู่เกาะสุรินทร์ โดยระบุถึงบริษัททัวร์ที่ใช้แรงงานเด็กแลกกับค่าแรง 4,000 บาท และให้ทิปด้วยการเติมเน็ตมือถือให้เพื่อเล่นเกมส์
“ทราย สก๊อต” เล่าสาเหตุไม่อยากกลับไปหมู่เกาะสุรินทร์อีก
https://www.nationtv.tv/news/social-news/378960930
ล่าสุด เพจ The Echo โพสต์ข้อความระบุว่า ญาติเด็กหนุ่มไทยมอแกนเผย หลานชายถูก “ทราย สก็อต” ชักชวนดำน้ำตัวเปล่าทำคอนเทนต์เก็บขยะโดยไม่ขออนุญาตพ่อแม่ — อุทยานหมู่เกาะสุรินทร์ยืนยันไม่มีการจ้างแรงงานเด็ก ขณะที่บริษัททัวร์ปฏิเสธการสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเด็ก
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) จัดทำรายงานถึงนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกรณีที่นายสิรณัฐ สก็อต หรือ “ทราย สก็อต” เผยแพร่ข้อความและภาพผ่านเพจ ทราย - Merman Ψ (มนุษย์เงือก) ว่า รู้สึกอึดอัดที่จะไปอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์เนื่องจากมีการใช้แรงงานเด็กและการละเมิดสิทธิเด็ก โดยบริษัททัวร์ให้เด็กถอดเสื้อถ่ายภาพกับนักท่องเที่ยวหญิง
นายเกรียงไกร เพาะเจริญ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ชี้แจงว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยรายละเอียดแต่ละประเด็นมีดังนี้
1. การอยู่อาศัยของชาวไทยมอแกน: ในอดีตพี่น้องชาวไทยมอแกนจะใช้ชีวิตอยู่บนเรือกะบางเป็นหลัก ในช่วงฤดูมรสุมจะขึ้นมาอาศัยตามเกาะต่างๆ โดยการทำที่อยู่อาศัยเป็นเพิงพักชั่วคราว ต่อมาหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิส่งผลกระทบต่อชาวไทยมอแกนเป็นอย่างมาก ทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์จึงได้ขอความร่วมมือให้มาอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง บริเวณอ่าวบอนใหญ่ เกาะสุรินทร์ใต้ เพื่อที่จะได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในปัจจุบันมีหน่วยงานราชการที่คอยสนับสนุน ดูแลคุณภาพชีวิตและการศึกษาให้แก่ชาวไทยมอแกน มีศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยมอแกน (หลักสูตรกศน.) ครูประจำ 4 อัตรา และศูนย์สาธารณสุขมูลฐาน มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำ 1 อัตราตลอดทั้งปี
2. การจ้างแรงงาน: ทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์จ้างแรงงานชาวไทยมอแกนซึ่งทั้งหมดเป็นแรงงานผู้ใหญ่ ในอัตราค่าจ้างวันละ 200-250 บาท โดยเริ่มทำงานเวลาประมาณ 09.00 – 14.00 น. รวม 5 ชั่วโมง ลูกหลานมักจะมากับพ่อแม่หรือญาติ ทางอุทยานแห่งชาติจัดอาหารเช้าและกลางวันเลี้ยงทุกวัน ในแต่ละวันชาวไทยมอแกนที่ทำงานกับอุทยานแห่งชาติจะนำอาหารกลับไปฝากครอบครัว โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
ส่วนการจ้างของบริษัททัวร์ อัตราค่าจ้าง 8,000 – 12,000 บาท ไม่รวมค่าทิปที่ได้จากนักท่องเที่ยว
ชาวไทยมอแกนที่ทำงานกับบริษัททัวร์ ส่วนใหญ่จะเป็นคนขับเรือหางยาวพานักท่องเที่ยวไปเล่นน้ำ น้องๆ ก็จะตามมาเล่นน้ำซึ่งไม่ได้มาเป็นประจำทุกวัน โดยทางบริษัททัวร์ยืนยันว่า ไม่มีการจ้างหรือใช้แรงงานเด็ก แต่อย่างใด
3. การช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้เสียชีวิต: ทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ได้ประสานกับนายตะวัน กล้าทะเล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านมอแกนซึ่งเป็นญาติกับเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ผู้เสียชีวิต โดยนายตะวันแจ้งว่า หลังทราบข่าวการเสียชีวิตของหลาน ตนได้นำเรือหางยาวส่วนตัวขึ้นฝั่งเพื่อที่จะไปเคลื่อนย้ายร่างและทำเอกสารต่างๆ ไม่ได้มาติดต่อขอความช่วยเหลือจากอุทยานแห่งชาติเนื่องจากมองว่า สามารถดำเนินการเคลื่อนเองได้ ยกเว้นถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนในฤดูมรสุมจึงจะขอรับการสนับสนุนจากทางอุทยานแห่งชาติ
บริษัททัวร์ยังชี้แจงผ่านอุทยานแห่งชาติถึงประเด็นที่ทรายกล่าวหาว่า มีการใช้ประโยชน์จากเด็ก โดยให้เด็กผู้ชายถอดเสื้อเพื่อที่จะถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยวผู้หญิง ทางบริษัททัวร์ยืนยันว่า ไม่เคยมีการบังคับหรือจ้างวานเด็กดังข้อกล่าวหา โดยวิถีชีวิตของผู้ชายชาวไทยมอแกนที่ขับเรือหางยาว หรือพานักท่องเที่ยวเล่นน้ำ หลังจากทำงานเสร็จก็มักจะถอดเสื้อเพื่อให้ตัวแห้ง แต่ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อที่จะถ่ายภาพกับนักท่องเที่ยว
ในวันนี้ (4 พฤษภาคม 2568) หลังจากทรายโพสต์ Facebook เกี่ยวกับชาวไทยมอแกนที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ผู้ปกครองพาเด็กหนุ่มอายุ 18 ปีมาพบหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเพื่อแจ้งว่า ทรายชักชวนหลานชายไปดำน้ำเพื่อถ่ายทำคอนเทนต์โดยไม่ขออนุญาต
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6-9 กุมภาพันธ์ 2567 ทรายได้แจ้งมายังอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ว่า จะเข้ามาสำรวจ / ติดตามสถานภาพทรัพยากรใต้น้ำ / เก็บขยะ
ขณะนั้น หลานชายอายุเพียง 17 ปี ทราย สก็อต พร้อมทีมงานชักชวนเด็กชาวไทยมอแกน 2 คนไปดำเก็บขยะใต้น้ำเพื่อถ่ายทำคอนเทนต์
เด็กหนุ่มหนึ่งในสองคนเล่าว่า พี่ทรายแจ้งว่า จะชวนไปถ่ายทำคอนเทนต์ร่วมกันเก็บขยะใต้ทะเล ใช้วิธีดำน้ำแบบตัวเปล่า (Freediving)
ในการถ่ายทำคอนเทนต์ พี่ทรายไม่ได้ให้ค่าจ้างเป็นเงิน แต่ให้เป็นสิ่งของแทนได้แก่ แว่นตา กางเกง และเสื้อคนละ 1 ชุด
ในวันต่อมาพี่ทรายจะนัดเด็กๆ ไปดำน้ำเก็บขยะอีก แต่น้องๆ บอกว่าเหนื่อย โดยพี่ทรายก็เจรจาชักชวนอีก 2-3 ครั้งว่า ให้ไปช่วยอีกวัน แต่น้องๆ ยืนยันว่า ไปไม่ไหวจึงมีการถ่ายทำคอนเทนต์กับเด็กๆ เพียงวันเดียว
การติดต่อเด็กชาวไทยมอแกนไปถ่ายทำคอนเทนต์ ทรายไม่ได้แจ้งให้อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ทราบแต่อย่างใด