จากกรณี กระแสไวรัลในโซเชียล เมื่อช่องยูทูปชื่อ "สาระสารู้" แชร์ภาพวิดีโอพื้นที่ จ.ภูเก็ต ของยูทูปเบอร์ชื่อ "Ride with Gabi" พร้อมชื่อเรื่องว่า "ต่างชาติเปิดสลัมพม่ากลางภูเก็ต โรงเรียนเรียนฟรี เปิดแอร์เย็นฉ่ำ" โดยตามคลิปวิดีโอได้เปิดเผยภาพหมู่บ้านสลัมที่มีชาวพม่าพักอาศัยอยู่ ซึ่งจ่ายค่าเช่าต่อเดือนๆละ 3,600 บาท และโรงเรียนที่มีลูกหลานชาวพม่าที่พักอาศัยอยู่ในจ.ภูเก็ตเรียนอยู่ โดยโรงเรียนกับที่พักห่างกันประมาณ 300เมตร
17 มีนาคม 2568 นายไพโรจน์ ศรีละมุล นายอำเภอเมืองภูเก็ต พร้อมด้วย น.อ.พงศกร อิฐสมบัติ หัวหน้าบริหารงานบุคคล กอ.รมน จังหวัดภูเก็ต เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดภูเก็ต เจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดภูเก็ต ได้สนธิกำลังเข้าตรวจสอบศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กคณะศรีชุมพาบาล Good Shepherd Phuket Town ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านหัชนา ซ.2/9 ถนนอนุภาษ ภูเก็ตการ ต.ตลาดใหญ่ อ. เมืองภูเก็ต ได้พบกับซิสเตอร์ลักขณา สุขสุจิตร ผู้อำนวยการของศูนย์คณะภคินีศรีชุมพาบาล ได้นำตรวจสอบภายในอาคาร พร้อมทั้งขอตรวจสอบเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการก่อสร้างอาคาร ซึ่งทราบว่าทางเทศบาลนครภูเก็ต เป็นผู้รับผิดชอบ
ส่วนการขออนุญาตเปิดสอนจากทางกระทรวงศึกษาธิการ ไม่มีการขออนุญาต ซึ่งอาคารดังกล่าว เป็นอาคาร 3 ชั้น แบ่งลักษณะคล้ายกับห้องเรียน มีจำนวน12 ห้อง ภายในห้องมีการติดแอร์ มีครูอาสาสมัครสอนนักเรียนอยู่แต่ละห้อง ซึ่งนักเรียนมีอายุตั้งแต่ 5 ขวบจนถึง 17 ปี ซึ่งในวันนี้ มีเด็กๆ มาเรียน จำนวน 287 คน แบ่งเป็นชาย 142 คน หญิง 145 คน
ผู้สื่อข่าวสอบถามนายไพโรจน์ ศรีละมุล นายอำเภอเมืองภูเก็ต เปิดเผยว่า หลังจากมีการเผยแพร่คลิปทางสื่อโซเชียล ทางอำเภอเมืองภูเก็ตได้รับมอบหมายจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ให้ลงมาตรวจสอบพื้นที่ที่เกี่ยวข้องและลงมาตั้งแต่เมื่อวาน (16 มี.ค.2568) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ปลัดอำเภอของทางอำเภอเมืองภูเก็ต เจ้าหน้าที่ทางเทศบาลนครภูเก็ต เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลรัษฎา เจ้าหน้าที่ป่าชายเลน อบจ.ภูเก็ต และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาตรวจสอบสถานที่ตั้งของศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิต และวันนี้ (17 มี.ค.68) ตนได้ลงมาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง
จากการตรวจสอบศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว เป็นอาคารประมาณ 3 ชั้น ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณไร่กว่าๆ มีห้องโถงขนาดใหญ่สำหรับทำกิจกรรมออกกำลังกายของเด็กๆมีห้องเรียนทั้งหมด 12 ห้อง มีนักเรียนที่ลงทะเบียนไว้จำนวน 395 คน มีห้องเด็กตั้งแต่ 5-7 ขวบ รวม 3 ห้อง มีเด็ก 9-12 ขวบ 2 ห้อง และเด็ก 12 ปีขึ้นไปอีก 1 ห้อง มีการจัดการเรียนการสอน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ และแผนการเรียนการสอนมีทั้งวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมสังคม ภาษาไทย ภาษาพม่า ภาษาอังกฤษ และมีกิจกรรมต่างๆ คล้ายๆ กับโรงเรียนสอนหนังสือ แต่ได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่ที่นี่ว่า ที่นี่ไม่ได้เป็นโรงเรียน ไม่ได้ขออนุญาตตั้งเป็นโรงเรียน ครูที่มาสอนหนังสือ ก็เป็นครูอาสา มีทั้งเป็นครูชาวไทย 5-6คน ครูชาวพม่าประมาณ 7 คน และครูต่างชาติที่เป็นฝรั่ง ประมาณ 5 คน โดยครูฝรั่งจะหมุนเวียนมาแต่ละวัน แต่ครูที่ประจำอยู่ 12 ค นคือครูคนไทย 5 คน ครูสัญชาติพม่าอีก 7 คน รวม 12 คน
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ครูอาสาไม่ได้เป็นครูที่เหมือนกับที่จัดตั้งโรงเรียนทั่วไป ต้องตรวจสอบอีกว่า สถานที่ตั้งตรงนี้มีการอนุญาตถูกต้องของเทศบาลหรือไม่ ต้องดูเอกสารอีกครั้งหนึ่ง เพราะเจ้าหน้าที่ของศูนย์แจ้งว่าขออนุญาตตั้งศูนย์มา 11 ปีแล้ว ทั้งนี้ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิต มีลักษณะคล้ายการสอนหนังสือ ก็อาจจะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ลงมาตรวจสอบว่าเข้าข่ายที่จะต้องขออนุญาตในการตั้งเป็นโรงเรียนสอนหนังสือหรือไม่อย่างไร
ส่วนเรื่องแรงงานต่างด้าว สามารถสอนหนังสือได้หรือไม่ รวมทั้งมีใบอนุญาตหรือไม่ เกี่ยวกับเรื่อนี้ ซิสเตอร์ ซึ่งเป็นประธานมูลนิธิฯ บอกว่า เด็กส่วนใหญ่ที่มาเรียนคือเด็กในชุมชนบริเวณนี้ ชุมชนท่าเรือใหม่ ชุมชนองค์การสะพานปลา หน้าองค์การสะพานปลาและตำบลรัษฎา ตำบลตลาดใหญ่ และตำบลใกล้เคียง ตำบลเกาะแก้วบางการจัดตั้งเป็นศูนย์ตรงนี้ถ้าไม่เป็นการขออนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ จริงๆแล้ว ถามว่าเจ้าหน้าที่ทราบไหม ทางเทศบาลนครภูเก็ต ก็ทราบ ก็ได้สอบถามแล้วเป็นการตั้งศูนย์ แต่อำนาจหน้าที่ของเทศบาลเป็นการดูแลสิ่งปลูกสร้างอาคาร ไม่ได้ดูแลเรื่องการตั้งโรงเรียนสอนหนังสือ เลยไม่ทราบว่าจะเข้าข่ายในการตั้งโรงเรียนสอนหนังสือหรือไหม
สำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่ ส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า ซึ่งมีอาชีพรับจ้างทั่วไป บ้างออกรับจ้างทำประมง ส่วนแต่ละรายที่เข้าไปเช่าบ้านในชุมชนท่าเรือใหม่ กับองค์การสะพานปลา เป็นชาวพม่ามีใบอนุญาตถูกต้องทั้งหมดหรือไม่อยู่ระหว่างตรวจสอบ เบื้องต้น ทราบว่ามีชาวพม่าอาศัยอยู่ประมาณ 20 ครัวเรือน ส่วนชุมชนองค์การสะพานปลา มีประมาณ 120 ครัวเรือน ซึ่งบริเวณนี้มีการทิ้งขยะลงในบริเวณใต้ถุนอาคารบ้านเรือนต่างๆ ทำให้มองภาพแล้วดูไม่สะอาด ซึ่งทางเทศบาลตำบลรัษฎา ได้รณรงค์เรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ผู้อาศัยในชุมชนไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ก็ทิ้งขยะลงไปใต้ถุนบ้าน และบางส่วนมาจากคลื่นซัดเข้ามาช่วงนั้นขึ้นด้วย พอถึงบ้านเรือนก็ติดค้างอยู่
นอกจากนี้ เคยทราบว่ามีเรื่องร้องเรียนมาเมื่อปี 2563 ว่ามีการทิ้งขยะทำลายสิ่งแวดล้อมต่างๆ บริเวณชุมชนองค์การสะพานปลา และมีการจัดจิตอาสาทำบิ๊กคลีนนิ่ง เดย์ ต่อมาประมาณปี 2564 และ 2565 ก็มีการรณรงค์อยู่ต่อเนื่องผู้อาศัยก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ มีการทิ้งขยะกันอยู่ เมื่อเช้าที่ลงไปตรวจดู บางส่วนได้เก็บไปบ้างแล้วแต่ก็ยังมีขยะที่ตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะใต้ถุนอาคารซึ่งเป็นพื้นที่ป่าชายเล
ด้าน ซิสเตอร์ลักขณา สุขสุจิตร ผู้อำนวยการศูนย์คณะภคินีศรีชุมพาบาล เปิดเผยว่า บางทีเราก็รู้สึกตกใจกับข่าวที่ออกไป ซึ่งเราไม่ได้เพิ่งเริ่มทำ เราทำมานานแล้ว ทั้งการประสานทางภาครัฐ เช่น อบจ. ที่ผ่านมาก็มีกิจกรรมทำร่วมกันหลายอย่าง และเขาก็รู้จักเรา ที่มีโครงการช่วยเหลือเด็ก โดยไม่เลือกเชื้อชาติ หรือสัญชาติอะไรเราช่วยทุกคน ไม่ว่าเด็กไทย เราก็ให้ทุนเป็นการศึกษาให้ได้เรียน ส่วนเด็กพม่าไม่สามารถเข้าเรียนโรงเรียนไทยได้ เพราะเขาไม่มีศักยภาพในด้านภาษา แต่เรามีการพัฒนาตรงนี้ สถานที่ตรงนี้หลายคนคิดว่าเป็นโรงเรียน แต่พอดีเป็นศูนย์ เพียงแต่ว่าเด็กเยอะ จึงจำเป็นต้องแบ่งออกเป็นห้อง เป็นลักษณะศูนย์การเรียนรู้มีทั้งหมดจริงๆ 12 ห้อง และแบ่งอายุเด็กเล็ก คืออนุบาล ก็แยกไปเกรด 1-5 พัฒนาการความสามารถของเด็ก 5ขวบ ถึง 17 ปี
จริงๆเด็กเกรด 5 ก็จบประมาณ 13-14 ปี ส่วนพออายุ15 ปี ก็เป็นเด็กโตแล้ว เป็นการพัฒนาอีกแบบหนึ่ง จะพัฒนาเรื่องทักษะภาษาเป็นหลัก โดยเฉพาะภาษาอังกฤษเป็นหลักการเรียนการสอน เช่นกรณีชาวพม่า เน้น ภาษาพม่า เน้นเรื่องภาษาพม่า เพื่อให้อ่านออกเขียนได้ และเสริมเรื่องบางวิชามีวิชาคณิตศาสตร์ วิชาศีลธรรม วิชาวัฒนธรรม ในเรื่องของโซเชียล แต่เน้นหลักๆ คือ ในเรื่องของคณิตศาสตร์และภาษา
สำหรับกระแสข่าวที่บอกว่าเป็นสลัม คือ มันไม่จริง เรารู้อยู่ว่าตรงนั้นเป็นองค์การสะพานปลา ซึ่งเป็นอาชีพของพวกเขา คือทำงานรับจ้างต้มปลา ทำงานทางเรือ ต่อเรือเพราะอยู่ชายประมงอยู่แล้ว ก็จะอยู่ในระดับของประมง แต่เราก็เข้าใจด้วยว่าสภาพแวดล้อมตรงจุดนี้ เป็นสภาพแวดล้อมที่อยู่แล้วค่อนข้างไม่น่าดู ซึ่งตรงนี้ก็มีความเห็นแก่ตัวหลายอย่าง ทั้งคนที่อยู่ด้วยและขยะก็ไม่ได้รับการดูแล
อย่างไรก็ตาม บุคลากรที่มาสอนทึ่ศูนย์ฯ มาจากหลายที่ มาในลักษณะอาสาสมัครกลุ่มหนึ่ง บางกลุ่มมาจากคนพม่าเอง เหมือนกับคนพม่ามาอยู่ที่ภูเก็ต แล้วเข้ามาสมัครงานกับเรา ส่วนหนึ่งมาจากประเทศพม่า มาเป็นกลุ่มอาสา มาช่วย ส่วนต่างชาติมาเยี่ยมมาเที่ยว และเข้ามาช่วยทำกิจกรรมเล็กๆน้อยๆ บุคลากรตอนนี้มีอยู่ 23 คน มีคนไทย 11 คน คนพม่า 12 คน ทุกคนมีรายได้เป็นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะทุกคนก็มีลูกมีครอบครัว โดยงบประมาณที่นำมาเป็นค่าใช้จ่ายมาจากเงินบริจาคของมูลนิธิ และบางส่วนเป็นเงินสมทบจากพ่อแม่ของเด็กๆ ที่ช่วยเหลือเงินเดือนคุณครูบ้าง รวมถึงค่าอาหาร ส่วนที่ขาดเหลือเรามีการระดมทุนบ้าง มีการเขียนโครงการของบบ้าง หรือบางกิจกรรมเราก็ได้งบมาจากส่วนกลางมาช่วย
"อย่างที่บอกเราตกใจอยู่เหมือนกัน จริงๆเราก็ประสานทางภาครัฐ ภาครัฐก็รู้จักเราดีเรารู้สึกไม่ค่อยสบายใจพอเห็นข่าวตรงนี้ ทำให้ภาพพจน์ของภูเก็ตเสียไปด้วย เราก็อยากจะขอโทษตรงจุดนี้ ว่าจริงๆ อาสาสมัครที่มาครั้งนั้น เราก็ไม่ได้รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว แบบนี้เขามาทำข่าวที่กรุงเทพฯและขอมาทำที่นี่และตอนนั้น ซิสเตอร์ก็ไม่ได้อยู่ด้วย เจ้าหน้าที่เราที่ได้แนะนำไปตามงานที่เขาได้ทำ แต่ไม่คิดว่าเขาจะไปเขียนรวม แต่ตอนนี้ซิสเตอร์พยายามขอเขาว่าทำ YouTube ให้อีกด้านหนึ่ง สร้างภาพภูเก็ตอีกด้านนึง ชุมชนรอบข้าง เขารู้จักเราดี เหมือนกับเป็นการเอื้อประโยชน์กัน โรงเรียนที่นี่ ชาวบ้านในชุมชนก็สามารถมีรายได้ จากการขายของเล็กๆน้อยๆให้กับเด็กที่นี่" ซิสเตอร์ลักขณา สุขสุจิตร กล่าว