svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับ"การเลือกตั้ง" พัฒนาประชาธิปไตยได้จริงหรือ

03 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สังคมปัจจุบัน เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในชีวิตประจำวัน จนนำมาสู่คำถามว่าใน "การเลือกตั้ง" สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างไรบ้าง ติดตามในเจาะประเด็นร้อน โดย "สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า"

ในสังคมปัจจุบัน เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในชีวิตประจำวันของผู้คน จนนำมาสู่คำถามว่า ใน"การเลือกตั้ง"นั้น สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างไรบ้าง และถ้านำมาใช้แล้วจะส่งผลอย่างไร 

 

บทสนทนาของนักวิชาการ 3 ท่านในงานสัมมนาสาธารณะ “Long Take Politics & Elections: สนทนาว่าด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีกับการเลือกตั้ง” พยายามตอบคำถามดังกล่าว

 

โดยเริ่มต้นจากการตอบคำถามพื้นฐานที่ว่า “อะไรคือ เทคโนโลยีการเลือกตั้ง” ซึ่ง "อาจารย์เอกวีร์ มีสุข"  จากสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้อธิบายว่าปกติแล้วเมื่อกล่าวถึงเทคโนโลยีในการเลือกตั้ง เรามักจะคิดถึงเทคโนโลยีในการลงคะแนน แต่จริงๆ ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในทุกจุด ตั้งแต่ช่วงก่อนวันเลือกตั้ง ในวันเลือกตั้ง และหลังวันเลือกตั้ง 

 

แฟ้มภาพ  เครื่องมือลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์

 

เทคโนโลยีในความหมายนี้ จึงไม่ได้หมายถึงเทคโนโลยีดิจิทัล หรืออะไรที่ดูเป็นเครื่องจักรเครื่องมืออย่างเครื่องลงคะแนนเท่านั้น แต่เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งนั้นกินความหมายที่กว้างขวาง หมายถึงสิ่งใดก็ตามที่ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นบัตรเลือกตั้ง หรือแม้แต่การจัดหน่วยเลือกตั้งหรือคูหาลงคะแนนด้วย

ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเลือกตั้ง จึงต้องพิจารณาต่อไปว่าเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมนั้นถูกใช้โดยใคร แน่นอนว่า ในการเลือกตั้งมีตัวแสดงสำคัญ ได้แก่ บรรดาผู้สมัครและพรรคการเมืองต่างๆ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้จัดการเลือกตั้ง และอาจรวมถึงนักเฝ้าติดตามการเลือกตั้งด้วย  

 

"ดร.สติธร ธนานิธิโชติ" จากสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า
 

"ดร.สติธร ธนานิธิโชติ" จากสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ได้ยกตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของกลุ่มนักการเมืองและกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่า นักการเมืองเป็นกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างคะแนนนิยม ซึ่งมีทั้งเทคโนโลยีทั้งเก่าแบบดั้งเดิม เช่น ป้ายหาเสียง แผ่นพับ ใบปลิว รถแห่ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ผ่านสื่อใหม่และสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งทุกวันนี้ส่วนใหญ่มองว่าอินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางที่ดีที่สุดสำหรับพรรคการเมือง เพราะทั้งราคาถูก และเข้าถึงคนได้หลากหลายกลุ่ม

 

ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่"ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ใช้ TikTok เป็นช่องทางในการสื่อสารและก็เวิร์ค ทำให้ในการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ TikTok น่าจะกลายเป็นช่องทางที่ผู้สมัครจากหลายพรรคหันมาใช้

นอกจากการอาศัยช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ ในการสร้างความนิยมแล้ว เทคโนโลยีและนวัตกรรมในรูปแบบของการสร้างแพลตฟอร์มก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่พรรคการเมืองบางพรรคในการเลือกตั้งรอบนี้น่าจะนำมาใช้ เพราะแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นจะช่วยเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้นักการเมืองและพรรคการเมืองสามารถใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายของพรรค และสามารถสร้างบทสนทนากับผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้อย่างกว้างขวางและลงลึกในรายละเอียด

 

ดังที่พรรคการเมืองในต่างประเทศอย่างพรรค Movimento 5 Stelle (Five Star Movement) ของอิตาลีเคยใช้แพลตฟอร์มที่ชื่อ Rousseau ซึ่งตั้งชื่อตามนักปรัชญาการเมืองเป็นช่องทางสื่อสาร จนพรรคประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเลือกตั้ง

เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับ"การเลือกตั้ง" พัฒนาประชาธิปไตยได้จริงหรือ

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่มี "ของใหม่ๆ" ให้นักการเมืองและพรรคการเมืองเลือกใช้ สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ การใช้ "ของเก่า" ซึ่งชัดเจนว่ายังมีความสำคัญอยู่ ว่าจะมีการปรับตัวยังไง ที่เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมแล้วในตอนนี้ก็คือป้ายหาเสียงที่มีขนาดเล็กลง โดยอิงจากป้ายหาเสียงของ"ชัชชาติ สิทธิพันธุ์"ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แม้บางคนอาจจะบอกว่าป้ายไม่สำคัญแล้ว แต่ก็ยังมองข้ามไม่ได้

 

โดยเฉพาะในการเลือกตั้งสนามใหญ่ระบบบัตรสองใบ ที่คราวนี้บัตรคน (ระบบแบ่งเขต) กับบัตรพรรค (ระบบบัญชีรายชื่อ) เป็นคนละเบอร์กัน
ในทางกลับกัน การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในช่วงเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในฐานะที่เป็นลูกค้าคนสำคัญของพรรคการเมืองและเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในวันลงคะแนนก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน

 

เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในช่วงเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่จะเป็นไปเพื่อการเข้าถึงข้อมูลสำหรับการตัดสินใจว่าจะเลือกผู้สมัครคนใด จะลงคะแนนให้พรรคไหน ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนจะเป็นคนเลือกเองว่าจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นอย่างไร อันนี้ก็น่าสนใจว่านักการเมืองจะเดาถูกไหม ว่าจะเป็นโซเซียลมีเดียหรือจะเป็นรูปแบบการหาเสียงแบบเดิมๆ (คลาสสิก) อย่างการเคาะประตูบ้านหรือใช้รถแห่ ที่จะมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน

 

ในส่วนของการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการจัดการการเลือกตั้งนั้น "ยิ่งชีพ อัชฌานนท์" ผู้แทนจาก iLaw ได้ช่วยถอดบทเรียนปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมาของประเทศไทยว่า กกต. ในฐานะผู้จัดการเลือกตั้งยังมีปัญหาในการเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเลือกตั้งอยู่หลายประเด็น

 

อาทิ การใช้เทคโนโลยีเพื่อเผยแพร่ข้อมูลของ กกต. ยังคงมีปัญหา ตั้งแต่การขาดการตรวจสอบข้อมูลที่ดีเพียงพอ ไปจนถึงการเข้าถึงข้อมูลซึ่งเข้าถึงได้ยากมากๆ หลายครั้งต้องทำหนังสือ ซึ่งนำความยุ่งยากให้แก่ผู้ที่ต้องการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ รวมถึงผู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้ง

 

ในเรื่องเทคโนโลยีในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครก็ยังมีปัญหา เพราะควรจะมีการเชื่อมต่อข้อมูลกับหน่วยงานอื่นๆ ในแบบที่ควรจะรู้ได้ทันทีว่าผู้สมัครคนนี้คุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ขณะที่รับใบสมัคร อย่างเช่นกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถ้าคุณสมบัติไม่ผ่านควรจะไม่ได้สมัครตั้งแต่แรก

 

นอกจากนี้ การนับคะแนนก็มีปัญหาในหลายประเด็น เช่น การนับคะแนนในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2562 ที่มีการใช้ระบบการรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการผ่านระบบ Rapid Report คือ ให้มีกรอกข้อมูลผลการนับคะแนนแบบเรียลไทม์ ปรากฏว่าล้มเหลว เพราะคะแนนขึ้นๆ ลงๆ ผันผวนมาก จนประชาชนไม่สามารถทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการได้ในคืนวันเลือกตั้ง ทำให้ กกต. เสียภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือไปอย่างมาก

 

"ดร.สติธร ธนานิธิโชติ" จากสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

 

ในประเด็นนี้ "ดร.สติธร" มองว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมในโลกปัจจุบันแม้จะเชื่อมโยงกับอะไรที่ดูเป็นดิจิทัล แต่จริงๆ ทุกอย่าง คือการใช้เทคโนโลยี และเป็นการสร้างนวัตกรรมได้ หากแต่ความสำคัญของการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ คือ ความไว้ใจ (trust) เช่น ถ้าไม่มีใครไว้ใจการลงคะแนนเสียงด้วยเครื่องลงคะแนน ไม่ว่าเครื่องลงคะแนนนั้นจะใช้เทคโนโลยีที่ล้ำนำสมัยเพียงใดก็ไม่มีประโยชน์ และใช้ไม่ได้ สอดคล้องกับความเห็นของยิ่งชีพที่มองว่าควรใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่พร้อม เพราะกกต. ไม่น่าไว้ใจ ถ้าจะใช้เทคโนโลยีอย่างน้อยต้องเปลี่ยนวิธีการได้มาซึ่ง กกต.เสียก่อน 

 

ขณะที่"อาจารย์เอกวีร์"ได้ขยายประเด็นนี้ว่า แม้ตนจะเห็นว่าจำเป็นและเห็นควรใช้เทคโนโลยีทันสมัยกับการเลือกตั้ง แต่การใช้เทคโนโลยีนั้นควรนำไปสู่การเลือกตั้งที่ free and fair (เสรีและเป็นธรรม) ซึ่งทุกวันนี้ไทยเป็นประเทศที่ระบอบทางการเมืองไม่ได้เสรีอะไรขนาดนั้น ถ้าเทคโนโลยีล้ำมากๆ ก็สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการเลือกตั้งที่ไม่ free และไม่ fair ทว่าในจุดนี้ก็อาจเถียงได้ว่าไทยนั้นมีปัญหา state capacity ต่ำ ทั้งเทคโนโลยี และความสามารถของรัฐ ถึงจะมีบางด้านที่ล้ำมากๆ แต่โดยรวมคือล้าสมัย ทำให้อาจจะไม่สามารถมีศักยภาพได้ขนาดนั้น


บางประเทศ เช่น อินเดีย นั้นมองว่าเทคโนโลยีการเลือกตั้ง ควรถูกผูกขาดโดยรัฐ เพราะถือว่าเอกชนอาจนำไปสู่การหาประโยชน์ส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ยิ่งชีพมองว่ายังไงก็ต้องเอาเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับเทคโนโลยีการเลือกตั้ง เพียงแต่ต้องทำให้เปิดเผยและโปร่งใส ขณะที่อาจารย์เอกวีร์ได้ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีการใช้เอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีการเลือกตั้งมากกว่าการผูกขาดโดยรัฐ มันเลยเป็นไปได้ทั้งสองรูปแบบ แต่ที่สำคัญจริงๆ คือ ความโปร่งใส โดยเฉพาะการมี third party มาช่วยตรวจสอบ ควบคู่กับการทำให้รัฐมีศักยภาพในการเปิดเผยข้อมูล และพร้อมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

 

ในมุมมองของ "ดร.สติธร" การใช้เทคโนโลยีในการเลือกตั้งหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะใช้ภาคเอกชนให้เข้ามาช่วยพัฒนาระบบ เพราะตอบโจทย์เรื่องคนกลาง ถึงจะมีความเสี่ยงเรื่องข้อมูลความลับรั่วไหลก็ตาม แต่อีกมุมหนึ่งภาครัฐในประเทศไทยเองก็มีศักยภาพไม่แพ้กัน ดังที่เรามีสถาบันวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอยู่ไม่น้อย หากแต่ถึงจะมีศักยภาพด้านเทคโนโลยี

 

สุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดก็หนีไม่พ้น "กระบวนทัศน์ (paradigm)" ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ เทคโนโลยีจะไม่ถูกใช้หรือมีการนำมาใช้ก็ไม่ตอบโจทย์ปัญหา ถ้าวิธีคิดไม่เปลี่ยน สมัยหนึ่งกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบจัดการเลือกตั้ง จะมีมุมมองว่าการเลือกตั้งต้องเป็นไปอย่าง "เป็นระเบียบเรียบร้อย" พอมาในยุคที่ กกต. เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง การเลือกตั้งกลายเป็นเรื่อง "สุจริตและเที่ยงธรรม" มุ่งเน้นต่อสู้กับการทุจริต โดยเฉพาะการซื้อสิทธิ์ขายเสียง 

 

แต่สิ่งที่การจัดการเลือกตั้งในประเทศไทยยังให้ความสำคัญค่อนข้างน้อย คือการก้าวไปสู่วิธีคิดที่เป็นพื้นฐานที่สุดของประชาธิปไตย นั่นคือ การเลือกตั้งที่เสรี (free) และเป็นธรรม (fair) เมื่อวิธีคิดไม่ได้ เทคโนโลยีที่เอามาใช้ก็ไม่มีประโยชน์เท่าที่ควร กลายเป็นการใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่มุ่งควบคุมการเลือกตั้งด้วยกฎระเบียบ จนกลายเป็นกรอบให้ทำอะไรใหม่ๆ ไม่ได้ 

 

อีกทั้งในมุมมองของการจัดการเลือกตั้งของไทยที่ผ่านมา ยังเชื่อว่ารูปแบบต่างๆ ต้องเป็นแบบเดียวกัน หากมีการนำสิ่งที่ทันสมัยมาใช้ (เช่น เครื่องลงคะแนน) ต้องทันสมัยเหมือนกันหมด ซึ่งไม่จำเป็น จริงๆ บางหน่วยอาจใช้เครื่องลงคะแนน แต่บางหน่วยอาจเป็นบัตรเลือกตั้งก็ได้ เพราะการจัดการเลือกตั้งควรเน้นให้เกิดการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้สิทธิ ผู้เป็นเจ้าของและผู้ใช้อำนาจตามระบอบประชาธิปไตย นั่นจึงเรียกว่า เป็นการเลือกตั้งที่ free และ fair กับทุกคนจริงๆ

 

การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้กับการเลือกตั้งถึงจะเกิดประโยชน์กับการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศได้อย่างแท้จริง
 

เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับ"การเลือกตั้ง" พัฒนาประชาธิปไตยได้จริงหรือ

logoline