svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"ศาลรธน."ลงมติเอกฉันท์ ให้ กกต.ไม่นำต่างด้าวมาคำนวณแบ่งเขต"เลือกตั้ง66"

03 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ศาลรัฐธรรมนูญ"มีมติเป็นเอกฉันท์ ว่า การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดพึงมีตามรัฐธรรมนูญ "ราษฎร" ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย มาคำนวณแบ่งเขต"เลือกตั้ง66"  

3 มีนาคม 2566  เมื่อเวลา 09.30 น."องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ได้แถลงด้วยวาจา และลงมติในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ กกต.ในการกำหนดจำนวน ส.ส. ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี โดยนำจำนวนราษฎรทั้งประเทศ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่สำนักทะเบียนกลางประกาศ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ที่จะเลือกตั้งมาใช้ในการคิดคำนวณจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด

 

ทั้งนี้ "ศาลรัฐธรรมนูญ" นัดลงมติชี้ขาด กรณีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 7 (2) ขอให้พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ และอำนาจของ กกต. กรณีนำผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณจำนวน ส.ส. แต่ละจังหวัดและแบ่งเขตเลือกตั้งได้ ในการเลือกตั้ง 66 ได้หรือไม่

ผลการพิจารณา

 

"ศาลรัฐธรรมนูญ" มีมติเป็นเอกฉันท์ ว่า การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดพึงมีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (1 ) ที่กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนที่มีการเลือกตั้งนั้น คำว่า "ราษฎร" ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย 

\"ศาลรธน.\"ลงมติเอกฉันท์ ให้ กกต.ไม่นำต่างด้าวมาคำนวณแบ่งเขต\"เลือกตั้ง66\"

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566  เป็นต้นไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561  มาตรา 76  วรรคหนึ่งและวรรคสามและไม่มีผลย้อนหลังไปถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัย  กกต.ไม่สามารถนำผู้ไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณจำนวน ส.ส. แต่ละจังหวัดและแบ่งเขตเลือกตั้งได้ ส่งผลให้ กกต. ต้องคำนวณจำนวน ส.ส. แต่ละจังหวัดและการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่

 

แหล่งข่าว กกต. ระบุว่า ได้เตรียมแผนการรองรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เอาไว้แล้ว หากออกมาว่า การคิดจำนวน ส.ส. พึงมีแต่ละจังหวัดและการคำนวณราษฎรเพื่อการแบ่งเขตไม่นับรวมราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทย ได้แจ้งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัดแบ่งเขต โดยไม่นับรวมราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยเตรียมไว้
 

ทั้งนี้ การแบ่งเขตใหม่ โดยไม่นับรวมราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยจะทำให้ 8 จังหวัด มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น กล่าวคือ
 

โดยมี 4 จังหวัดที่จำนวน ส.ส. ลดลง และมี 4 จังหวัดที่จำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้น



สำหรับ 4 จังหวัดมีจำนวน ส.ส. ลดลง ประกอบไปด้วย
 

1. ตาก จาก 4 เหลือ 3 ที่นั่ง อาจกระทบพรรคภูมิใจไทย มี ส.ส. ลดลงจากเป้าเดิม

2. เชียงราย จาก 8 เหลือ 7 ที่นั่ง อาจกระทบต่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) เป้า ส.ส. ลดลง

3. เชียงใหม่ จาก 11 เหลือ 10 ที่นั่ง อาจกระทบต่อ พรรคเพื่อไทย ได้ ส.ส. ลดลง

4. สมุทรสาคร จาก 4 เหลือ 3 นั่ง อาจกระทบต่อ พรรคภูมิใจไทย เดิมวางเป้าไว้ 2 ที่นั่ง หรือ อาจกระทบพรรคก้าวไกล

ส่วน 4 จังหวัดจะมี ส.ส. เพิ่มขึ้น ได้แก่

1. อุดรธานี จาก 9 เป็น 10 ที่นั่ง อาจส่งผลดีต่อพรรคเพื่อไทย ที่จะมี ส.ส. เพิ่มขึ้น

2. ลพบุรี จาก 4 เป็น 5 ที่นั่ง อาจส่งผลดีต่อ พรรคเพื่อไทย หรือ ประชาธิปัตย์(ปชป.) ที่จะได้ ส.ส. เพิ่มขึ้น

3. นครศรีธรรมราช จาก 9 เป็น 10 ที่นั่ง อาจส่งผลดีต่อ พรรคประชาธิปัตย์ หรือ รวมไทยสร้างชาติ ที่อาจได้ ส.ส. เพิ่มขึ้น

4. ปัตตานี จาก 4 เป็น 5 ที่นั่ง อาจส่งผลดีต่อ พรรคประชาธิปัตย์ หรือ ประชาชาติ ที่อาจได้ ส.ส. เพิ่มขึ้น
 

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงแบ่งเขตใหม่ โดยตัดจำนวนคนต่างด้าวออกไปยังส่งผลต่อภาพรวมจำนวน ส.ส. ของแต่ละภาค

ภาคใต้ จากเดิม 58 ที่นั่ง จะเพิ่มเป็น 60 ที่นั่ง คือ เพิ่มที่นครศรีธรรมราช 1 ที่นั่ง และ ปัตตานี 1 ที่นั่ง

ภาคอีสาน จากเดิม 132 ที่นั่ง จะเพิ่มเป็น 133 ที่นั่ง คือ เพิ่มที่อุดรธานี 1 ที่นั่ง

ภาคเหนือ จาก 39 ที่นั่ง จะลดลงเหลือ 36 ที่นั่ง คือ ลดที่ ตาก เชียงราย เชียงใหม่ จังหวัดละ 1 ที่นั่ง

ภาคกลางรวมกรุงเทพฯเท่าเดิม 122 ที่นั่ง คือ ลดที่ สมุทรสาคร 1 ที่นั่งเพิ่ม ลพบุรี 1 ที่นั่ง

ภาคตะวันออกมี ส.ส. 29 คนไม่เปลี่ยนแปลงจากการแบ่งเขตใหม่

ภาคตะวันตกมี ส.ส. 20 คน ไม่เปลี่ยนแปลงจากการแบ่งเขตใหม่

ขณะเดียวกัน 2-3 สัปดาห์ หาก กกต. ทำงานเชิงรุก  สั่งการให้ทำล่วงหน้า  ก็หยิบรูปแบบใหม่มาประกาศได้ทันที

ทั้งนี้ การคำนวณเขตเลือกตั้งใหม่ แนวโน้มจะกระทบกับพื้นที่ 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ตาก เชียงราย  ที่ต้องลด 1 คน และ อุดรธานี ลพบุรี และ ปัตตานี ที่ได้เพิ่มอีก 1 คน  ส่วน 71 จังหวัดที่เหลือคงไม่กระทบในการแบ่งเขตเลือกตั้ง

logoline