svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"เลือกตั้ง2566" ถอดรหัส "เนติบริกร" ส่งสัญญาณชัด ไทมไลน์ "วันยุบสภา"

03 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

บทสัมภาษณ์ล่าสุด ของ เนติบริกร "วิษณุ เครืองาม " เกี่ยวกับการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) รวมไปถึงความพยายามของฝ่ายนิติบัญญัติ เริ่มชัดเจนขึ้น ถึงช่วงเวลา "ยุบสภา" สู่โหมด"เลือกตั้ง 66" ติดตามได้เจาะประเด็นร้อน

"...ผมก็เบื่อหน่ายเช่นกัน ถ้าเป็นไปได้ อยากเรียกร้องว่าท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้าได้ยินก็รีบยุบสภาเสีย เพราะ ส.ส.ไม่อยากประชุมแล้ว รัฐมนตรีไม่ยอมมาตอบกระทู้ในที่ประชุม ท่านจะอยู่ไปทำไม ผมก็มีอารมณ์อยากระบายเหมือนกัน..."

 

สุ้มเสียงของ "ศุภชัย  โพธิ์ศุ " รองประธานสภาฯ จากพรรคภูมิใจไทย  เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บ่งบอกถึง"ความเบื่อหน่าย"สภาพของที่ประชุมสภาที่เป็นไปด้วยความทุลักทุเล และในที่สุดต้องสั่งปิดการประชุมสภา เพราะองค์ประชุมไม่ครบ เป็นสภาพ ของ"สภาล่มครั้งที่ 6" 

 

"เลือกตั้ง2566" ถอดรหัส "เนติบริกร" ส่งสัญญาณชัด ไทมไลน์ "วันยุบสภา"

 

แม้สภาพของสภาตกอยู่ในสภาพถูลู่ถูกังกันไปอย่างนี้ พร้อมกับแรงกดดัน ให้รีบ"ยุบสภา" แต่หากพิจารณาจากผู้ถืออำนาจรัฐ พอจะมองเกมออกแล้วว่า "การยุบสภา" ไม่น่าเกิดขึ้นในเดือน"กุมภาพันธ์" ค่อนข้างแน่นอน

 

หากถอดรหัสการให้สัมภาษณ์ของ "วิษณุ  เครืองาม"รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการเลือกตั้งในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า ขณะนี้ กกต.ได้ประกาศหลักเกณฑ์การแบ่งเขตเลือกตั้งลง"ราชกิจจานุเบกษา" แล้ว ขณะนี้กำลังทยอยส่งในรูปแบบเขตเลือกตั้งที่แบ่งใหม่ตามกฎหมายลูก

 

"เลือกตั้ง2566" ถอดรหัส "เนติบริกร" ส่งสัญญาณชัด ไทมไลน์ "วันยุบสภา"

 

ตอนหนึ่ง เนติบริกร ระบุที่ชี้ให้เห็นระยะเวลาการทำงานของกกต.แบ่งเขต จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ก็คือ   กกต.จังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ จากนั้นเมื่อรับฟังเสร็จแล้ว จะส่งกลับมายัง กกต.เพื่อสรุปและเตรียมประกาศใน"ราชกิจจานุเบกษา" ซึ่ง กกต.ได้แจ้งมาว่าจะประกาศเขตเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษาได้ภายใน"วันที่ 28 กุมภาพันธ์" หรือเร็วกว่านั้น" 

"กกต.ได้แจ้งมาว่าจะประกาศเขตเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษาได้ภายใน"วันที่ 28 กุมภาพันธ์" หรือเร็วกว่านั้น" ประโยคนี่หล่ะสมควรขีดเส้นใต้ตัวหนา 

 

กระบวนการทำงาน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจง หลังออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 และประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวน ส.ส.และเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ในการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปครั้งแรก

 

โดยให้สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งจังหวัดที่มีจำนวน ส.ส. มากกว่า 1 คน ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด จัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ภายใน 3 วัน 

 

โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขต ให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจำนวนราษฎร ในแต่ละเขตเลือกตั้งใกล้เคียงกัน แล้วประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดเป็นเวลา 10 วัน

 

ในกรณีจังหวัดที่มีจำนวนสมาชิก ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 1 คน ให้ดำเนินการปิดประกาศเขตเลือกตั้ง ที่สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล และให้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ

 

ไม่เพียงเท่านั้น ฟังความจากวิษณุ  ที่ออกมาเปิดเผยว่า  เมื่อวันทื่ 31 มกราคมที่ผ่านมา เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อ่านจดหมายของนายชวน ว่าขอความร่วมมือ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ได้กำชับอีกครั้งหนึ่งว่าการประชุมสภาเหลืออีกไม่กี่ครั้ง ขอให้ช่วยรักษาเกียรติประวัตินี้เอาไว้ ให้ทุกคนเข้าใจว่าเป็นผลงานของสภาที่จะบันทึกไว้ ยืนยันว่าการอภิปราย ม.152 ไม่มีปัญหา เพราะรัฐบาลพร้อมที่จะตอบ แต่หากองค์ประชุมไม่ครบด้วยเหตุใด ก็ไม่ทราบ แต่ถึงอย่างไร ถ้าไม่มีใครขอให้นับองค์ประชุม ก็ไม่เป็นไร

 

ตามมาด้วย การะบุว่า ในการประชุมครม. วันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ จะเสนอพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ปิดสมัยประชุมสภาวันที่ 1 มีนาคม

 

"แปลว่าอยู่ไปตามนั้น หากล่ม ก็ไม่ต้องประชุม แต่ไม่เป็นเหตุให้ยุบสภา เพราะหากยุบก็ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ และจะนับหนึ่งเร็วเกินไปจนยุ่งกันทุกพรรค" 

 

"อย่างไรก็ตาม ไม่มีกฎหมายของรัฐบาลที่จะเสนอต่อสภาแล้ว เพราะได้หารือกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่าต่อไปนี้รัฐบาลจะไม่ส่งกฎหมายฉบับใหม่แล้ว เพราะวันประชุมจะเหลือ 4 ครั้ง เพราะหักอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ก็จะเหลือ 3 ครั้ง"

 

"เลือกตั้ง2566" ถอดรหัส "เนติบริกร" ส่งสัญญาณชัด ไทมไลน์ "วันยุบสภา"

 

เมื่อไล่เรียงคำแจกแจงของ"เนติบริกร" ทำให้เห็นไทมไลน์หรือสัญญาณการประกาศยุบสภาเด่นชัดขึ้น 

 

ประการแรก สรุปได้อยู่เหมือนกันว่า ตลอดเดือนกุมภาพันธ์  นอกจากรอการแบ่งเขตฉบับสมบูรณ์ประกาศลงในราชกิจจาฯ ภายใน 28 ก.พ. ถึงจะมีการเลือกตั้งได้ 

 

ประการที่สอง  รัฐบาลโดยพล.อ.ประยุทธ์ ต้องการใช้สภาชี้แจงผลงานในญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ  และจากนั้นจะปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 28 ก.พ.นั้น โดยที่ สำนักเลขาธิการครม.เตรียมเรื่องเสนอ พรฎ.ปิดสมัยประชุมให้ที่ประชุมครม.รับทราบในวันที่ 7 ก.พ.นี้  

 

ยิ่งตอกย้ำว่า  เหตุการณ์ "การยุบสภา" จะเกิดขึ้นในช่วงวันใดวันหนึ่งของเดือนกุมภาพันธ์ แทบปิดประตูไปได้เลย ต้องมาเริ่มต้นจับตากันใหม่ในเดือนมีนาคม ที่มีแนวโน้มมากกว่า

 

"การประกาศยุบสภาจะเกิดขึ้น ก่อนวันที่ 23 มีนาคม 2566" 

logoline