svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

เลือกตั้ง 66 : "ยุบสภา" เมื่อไหร่ เปิดไทม์ไลน์หลังกม.ลูกเลือกตั้งประกาศใช้

29 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เลือกตั้ง66" คึกคัก ทันทีที่กม.ลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งประกาศลง"ราชกิจจาฯ" แรงกดดันตกสู่ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา"นายกฯจะมีการ"ยุบสภา"เมื่อไหร่ แต่ทว่ายังมีเหตุปัจจัยอื่นมากำหนดเงื่อนเวลา ติดตามใน เจาะประเด็นร้อน

สิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหลัง "ราชกิจจานุเบกษา" เผยแพร่  "พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส." และ" พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง"มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2566  เป็นต้นไป 

 

ทำให้ทุกสายตาจับจ้องไปที่ "พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ผู้มีอำนาจในการออกพระราชกฤษฎีภา"ยุบสภา" ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ทางการเมืองต่างมีมุมมองออกไปหลายทาง บ้างเห็นว่า หลังกฎหมายลูกประกาศใช้ นายกฯจะประกาศยุบสภาภายใน"เร็วๆนี้"

 

คำว่า "เร็วๆนี้" อาจตีความได้อย่างกว้างขวาง ที่ว่ากันว่า"เร็วๆนี้"คือ เมื่อไหร่กันแน่ ?!?  

 

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี สังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ลงพื้นที่หาเสียงจ.ชุมพร เมื่อวันที่ 27 ม.ค.66

 

"การยุบสภา จะเกิดขึ้นปลายเดือนมกราคมนี้หรือไม่ หรือ ประมาณต้นกุมภาพันธ์ หรือ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ตามที่เคยมีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านี้ ตรงกับปฏิทินล้านนา "วันราชาโชค" หรือ จะให้พ้น 28 ก.พ.ซึ่งเป็นวันปิดสมัยประชุมสภา แล้ว"ยุบสภา" หรือ ก่อนวันที่ 23 มี.ค.ที่อายุสภาจะครบวาระ" 

 

มองกันว่า ฝ่ายบริหารมักอาศัยช่วงได้เปรียบทางการเมืองถึงประกาศ"ยุบสภา" ตรงนี้อาจถูกแต่ไม่ถูกต้องทั้งหมด เนื่องจากมีหลายเหตุปัจจัยกำหนดอยู่ด้วยเช่นกัน 

 

ฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจ ทันทีที่ "ราชกิจจานุเบกษา" เผยแพร่ "พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส." และ "พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง" มีผลบังคับใช้ในวันที่ 29 มกราคม สื่อมวลชนได้สอบถาม"พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี" ถึงกำหนดการ"ยุบสภา" 

"พล.อ.ประยุทธ์"  ตอบว่า  "ยังหรอก ให้เวลาคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ​ กกต.​ ทำงานไปก่อน" 

 

ทั้งนี้ ตามกระบวนการเลือกตั้ง พบว่า เมื่อกฎหมายประกอบ รธน.ทั้งสองฉบับ ประกาศใช้ กกต.จะต้องมีการดำเนินการออกประกาศหลายฉบับด้วยกัน จึงเป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่ "พล.อ.ประยุทธ์" กล่าวไว้ ปล่อยให้กกต.ได้ทำงานก่อน  

 

เลือกตั้ง 66 : "ยุบสภา" เมื่อไหร่ เปิดไทม์ไลน์หลังกม.ลูกเลือกตั้งประกาศใช้

 

นอกจากให้ "กกต." ตระเตรียมกระบวนการเลือกตั้ง ยังมีเหตุปัจจัยอื่นแทรกซ้อนเข้ามา เช่น ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ครม.เพิ่งมีมติเห็นชอบ "ร่าง พรก. ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ." เป็นการออกกฎหมายในรูปของพระราชกำหนด เพื่อปราบปรามการพนันออนไลน์ บัญชีม้า ฯลฯ

 

เมื่อมีการเสนอ "ร่าง พ.ร.ก." จึงต้องรอการโปรดเกล้าฯ เพื่อเป็นกฎหมายบังคับใช้ หาก"พล.อ.ประยุทธ์" ไปยุบสภาก่อนกำหนด โดยที่ "พ.ร.ก."ฉบับดังกล่าวยังไม่ประกาศใช้ ทำให้ดูประดักประเดิดในเชิงการบริหารราชการแผ่นดินพอสมควร 

เงื่อนไขต่อไป ก่อนหน้านี้ มีการหารือกันภายในครม.เกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล และฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมีความตั้งใจให้ การทำงานของสภาดำเนินต่อเนื่องไปจนถึง ปิดสมัยประชุมสภา นั่นคือ 28 ก.พ.66  

 

จากนั้นจึงจะมีการหารือ เรื่องการออก"พรฎ.ยุบสภา" ขณะเดียวกัน พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรธน.มาตรา 152 ซึ่งกำหนดวันอภิปรายไว้คร่าวๆ 14-15 ก.พ.

 

ด้านฝ่ายบริหาร "พล.อ.ประยุทธ์" ต้องการใช้เวทีอภิปรายครั้งนี้ แจกแจงผลงานรัฐบาลเพื่อใช้เป็นการหาเสียงก่อนเลือกตั้ง  ขณะที่ฝ่ายค้านมีความต้องการใช้เวทีนี้ อภิปรายดิสเครดิต พรรคร่วมรัฐบาลก่อนมีการเลือกตั้งเช่นกัน 

 

เมื่อต่างฝ่ายต่างต้องการใช้เวทีสภา จึงมีความเป็นไปได้ที่ "นายกฯ"จะไม่ชิงยุบสภาเพื่อหนีญัตติการอภิปรายทั่วไป ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์  ยังต้องการให้สังคมรับรู้ด้วยว่า นายกฯเคารพกระบวนการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ  อีกประการ การอภิปรายทั่วไปในลักษณะนี้ แตกต่างจากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะรธน.มาตรา 152 กำหนดไว้ไม่มีลงมติ 

 

เลือกตั้ง 66 : "ยุบสภา" เมื่อไหร่ เปิดไทม์ไลน์หลังกม.ลูกเลือกตั้งประกาศใช้

 

วงในคณะรัฐมนตรี ระบุว่า  เดิมมีการคาดการณ์กำหนด"วันยุบสภา" วันที่ 14 ก.พ. เพื่อให้ตรงกับวันราชาโชค วันสิทธิโชค  ตามปฏิทินล้านนา  แต่ต่อมาให้เลื่อนออกไป กอปรกับเหตุผลข้างต้น ทั้งการให้กกต.ได้ตระเตรียมการทำงาน ตามพล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ไว้  ความต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติได้ทำงานอย่างเต็มที่จนนาทีสุดท้าย โดยสองฝ่ายก็อยากใช้เวทีสภาอภิปรายทั่วไป อีกทั้งเป็นช่วงส.ส.เตรียมโยกย้ายเข้าสังกัดพรรคกระทำได้อย่างเต็มที่

 

ฉะนั้นระยะเวลาที่"พล.อ.ประยุทธ์" จะตัดสินใจประกาศยุบสภา เกิดขึ้นก่อนสภาครบวาระ ในวันที่ 23 มี.ค.นั่นเอง ซึ่งจะเป็นไปตามกรอบเวลาที่กกต.เคยกำหนดไว้คร่าวๆ จะทำให้มีการกำหนดวันเลือกตั้ง ตรงกับวันที่ 7 พฤษภาคม 2566    


อดีตที่ผ่านมา ภายหลังกฎหมายประกอบรธน.เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ประกาศลง "ราชกิจจานุเบกษา" กกต.จะมีการทยอยออกประกาศจำนวน 5 ฉบับ 

 

1.ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) วันรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (อ่านฉบับเต็ม : ที่นี่ )  สาระสำคัญ คือ

 

1.) ให้มีการเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไปในวัน??????

 

2.) ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งให้ยื่นใบสมัครต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ณ วัน ว. เวลา น. ณ  สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนด

 

3.) ให้ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อต่อกกต. ที่สำนักกกต. อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ

 

2. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดพึงมีและจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด 

 

1.) ราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565  มีจำนวนราษฎร 66,090,475  คน

 

2.) จำนวนราษฎรโดยเฉลี่ย 165,226,1875 คน  ต่อ ส.ส. 1 คน       

 

3.) จำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด เช่น กรุงเทพมหานคร มีจำนวน ส.ส. 33 คน จำนวนเขตเลือกตั้ง 33 เขต, ภาคเหนือ มีจำนวน ส.ส. 39 คน จำนวนเขตเลือกตั้ง 39 เขต เป็นต้น

 

3. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สาระสำคัญ อาทิ ค่าธรรมเนียมการสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 

 

4. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องกำหนดวันและเวลาออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลาง  สาระสำคัญ อาทิ วันออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้งและนอกเขตเลือกตั้ง กำหนดวัน ว.เวลา น.  เป็นวันออกเสียงลงคะแนน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.

 

5. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องกำหนดวัน เวลา ยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนวันเลือกตั้ง สาระสำคัญ คือการยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิ์ออกเสียงลงคะแนน ส.ส. ต่อนายทะเบียนอำเภอ, นายทะเบียนท้องถิ่น, เอกอัครราชทูต, ยื่นคำขอทางไปรษณีย์ และทางอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่วัน ว.  เวลา น.  ตลอด 24 ชั่วโมง โดยระบบจะปิดอัตโนมัติ วัน ….   เวลา 24.00 น. ตามเวลาประเทศไทย

 

เลือกตั้ง 66 : "ยุบสภา" เมื่อไหร่ เปิดไทม์ไลน์หลังกม.ลูกเลือกตั้งประกาศใช้

 

ไทม์ไลน์"ยุบสภา" 

28 ม.ค.66  โปรดเกล้าฯ กม.ลูกสองฉบับ ประกาศลงราชกิจจาฯ (พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.และพ.ร.ป.พรรคการเมือง) 

 

* รอกระบวนการโปรดเกล้า พรก. ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. *

 

14-15 ก.พ.66  ฝ่ายค้านอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ มาตรา 152 

28 ก.พ.66  ปิดสมัยประชุมสภา

มี.ค. คาดการณ์ ตราพรฎ.ยุบสภา 


กกต.ออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งส.ส. 2566 เพื่อกำหนดให้มีวันเลือกตั้ง ลง"ราชกิจจานุเบกษา"

 

OOOOOOOOOOOOOOO

 

กกต.ออกประกาศ  5 ฉบับ ลง"ราชกิจจาฯ"  อาทิ 

1.    ประกาศให้มีการเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไปในวัน….

2.    ประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส.400 เขต

3.    ประกาศ  การสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ค่าธรรมเนียมสมัคร

4.    ประกาศกำหนดวันออกเสียงล่วงหน้า

5.    กำหนดวัน เวลา ยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกสถานที่
 

logoline