20 พฤษภาคม 2568 นายสุธรรม วงษ์จันทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูเวียง เปิดเผยว่า ในปี 2567 อุทยานแห่งชาติภูเวียง ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และอุทยานธรณีขอนแก่น ได้ดำเนินโครงการ "ขุดค้นและเก็บข้อมูลซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ หลุมขุดค้นห้วยประตูตีหมา อุทยานแห่งชาติภูเวียง"
โดยทีมสำรวจขุดค้นได้ขุดเจอกระดูกไดโนเสาร์ส่วนต้นคอ และกระดูกซี่โครงขนาดใหญ่ กระดูกมีความพรุนคล้ายกระดูกนก คาดว่าเป็น "ไดโนเสาร์ซอโรพอด" กินพืชคอยาว และขนาดตัวใหญ่กว่าไดโนเสาร์พันธุ์ "ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่" ที่เคยพบที่ภูเวียง โดยขนาดลำตัวอาจยาวได้เกือบ 20 เมตร เป็นการพบกระดูกฟอสซิลสายพันธุ์ใหม่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง โดยจะเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลกหรือไม่นั้น ต้องรองานวิจัยแล้วเสร็จ
กระดูกไดโนเสาร์ในหลุมขุดที่ 3 มีลักษณะของไดโนเสาร์กินพืชซอโรพอด กลุ่มแบรคิโอซอริเด คือ กระดูกสันหลัง และกระดูกซี่โครงมีโพรงอากาศขนาดเล็กแทรก อยู่ภายในเนื้อกระดูก มีความแตกต่างจากของ "ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่" อย่างชัดเจน ไดโนเสาร์กลุ่มนี้อาศัยอยู่ในช่วง "ยุคจูแรสสิกตอนปลาย" ของทวีปอเมริกาเหนือ ได้แก่ แบรคิโอซอรัส และทวีปแอฟริกา ได้แก่ จีราฟฟาไททัน และยังมีการกระจายตัวมาถึงช่วงยุคครีเทเชียสตอนตันของเอเชีย เช่น ที่ประเทศจีน และเกาหลีใต้
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถ เข้าชมการขุดค้นฟอสซิล โดยอาจารย์ด้านการขุดฟอสซิลไดโนเสาร์ของไทยได้ทุกวัน ณ อุทยานแห่งชาติภูเวียง จ.ขอนแก่น
ภาพ : ธิติ วรรณมณฑา (Thiti Wannamontha)