แจงชัดแม่น้ำกกยังเที่ยวได้ไหม วิธีการปฏิบัติตัว ห่างไกลสารหนู
15 เมษายน 2568 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่วิธีการปฏิบัติตัว กรณีเดินทางไปเที่ยวแม่น้ำกก ให้ปลอดภัย ห่างไกลสารหนู ระบุว่า ภายหลังจากตรวจพบสารหนูและโลหะหนักอื่น ๆ บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำกก อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ มีค่าเกินมาตรฐานสารหนูในแหล่งน้ำผิวดิน (0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร) อาจมีสาเหตุจากการทำเหมืองแร่ทองคำในประเทศเพื่อนบ้าน และเกิดการปนเปื้อนของโลหะหนักในแหล่งน้ำ
กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ดังนี้
สารหนู เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร?
สารหนูสามารถเข้าสู่ร่างกายจากการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่มีสารหนูปนเปื้อน ส่วนการสัมผัสทางผิวหนังจะเข้าสู่ร่างกายได้น้อยมาก
ผลกระทบทางสุขภาพ อาการ
- ภาวะพิษสารหนูแบบเฉียบพลัน (เกิดภายใน 24 ชม.) มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ชาตามปลายมือปลายเท้า กล้ามเนื้อเป็นตะคริว และอาจเสียชีวิตได้
- ภาวะพิษสารหนูแบบเรื้อรัง (ได้รับต่อเนื่องติดตือกันเป็นเวลามากกว่า 5 ปี)
- สีผิวหนังเข้มขึ้นเป็นหย่อมๆ สลับกับสีจาง ฝ่ามือ/เท้า มีตุ่มแข็งคล้ายตาปลา (ไข้เท้าดำ) อาการปวดบวมที่เท้าทั้งสองข้าง ชาปลายมือ/เท้า อาจมีกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย ภาวะเลือดจาง เส้นขวางสีขาวบนเล็บ อาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง มะเร็วปอด และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
การปฏิบัติตัวและวิธีการป้องกันสำหรับประชาชน
- ติดตามประกาศจากหน่วยงานรัฐอย่างใกล้ชิด
- งดดื่มน้ำและงดนำน้ำมาประกอบอาหาร
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำจากแม่น้ำกกโดยตรง หรือการประกอบกิจกรรมทางน้ำ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างร่างกายด้วน้ำสะอาดทุกครั้งหลังการสัมผัส
- หากมีการบริโภคหรือสัมผัสน้ำ แล้วมีอาการผิดปกติ เช่น ระคตายเคืองผิวหนัง ระคายเคืองตา คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ชาปลายมือ/เท้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง ควรรีบพบแพทย์
การปฏิบัติตัวและวิธีการป้องกันสำหรับนักท่องเที่ยว
- งดดื่มน้ำ และงดนำน้ำมาประกอบอาหาร
- หลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแม่น้ำกกมาเล่นสงกรานต์ หรือหลีกเลี่ยงสาดน้ำเข้าบริเวณใบหน้าโดยตรง หรือไม่ควรใช้ปืนฉีดน้ำแรงดังสูง
- หากเข้าตาควรรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด
- กิจกรรมอื่นๆ เช่น ล่องแพ พายเรือ สามารถดำเนินการได้ตามปกติ