สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มูลนิธิพัฒนาชุมชนภาคเหนือ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนการบริหารจัดการป่าชุมชน เพื่อลดปัญหาฝุ่นควัน ส่งเสริมสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่ มุ่งเน้นให้ชุมชนมีองค์ความรู้ และมีศักยภาพในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการบริหารจัดการป่าชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีตัวแทนจากป่าชุมชน 60 แห่งจาก 16 จังหวัดทั่วประเทศ แลกเปลี่ยนแนวทางและขยายผลการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ในระดับท้องถิ่น สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ กล่าวว่า สถานการณ์ PM2.5 ในไทยยังวิกฤต กระทบประชาชนกว่า 38 ล้านคน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท โดยหนึ่งในสาเหตุหลักของฝุ่น PM2.5 คือ การเผาในที่โล่งและการจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหานี้ สสส. จึงร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการป่าชุมชน 15 พื้นที่ และขยายผลเป็น 45 พื้นที่ ครอบคลุมทั่วทุกภาค 16 จังหวัด ผ่านแนวทางคณะกรรมการป่าชุมชน เสริมหนุนบทบาทชุมชนในการดูแลป่า สร้างเครือข่ายป่าชุมชน พัฒนานวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากป่า ลดรายจ่ายสร้างรายได้ เพิ่มแรงจูงใจในการไม่เผาป่า แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน ควบคู่กับการบริหารจัดการป่าอย่างเป็นระบบ ดังนั้นการผลักดันมาตรการเชิงรุก และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง