12 มีนาคม 2568 เวลา 09.30 น. ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น นายปริญ นาชัยสิทธิ์ อดีตรองอธิการบดีฯประจำวิทยาเขตขอนแก่น และที่ปรึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าในการก่อสร้างระบบรางรถไฟฟ้าภายใน มทร.อีสานวิทยาเขตขอนแก่น เพื่อเตรียมการทดสอบระบบขบวนรถไฟฟ้า LRT และระบบรางรถไฟ ซึ่งคิดค้นและจัดทำขึ้นโดยทีมนักวิจัยของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการวางระบบรางในระยะทางรวมกว่า 400 เมตร
นายปริญ กล่าวว่า โครงการวิจัยระบบรางของ มหาวิทยาลัยฯ แยกออกเป็น 3 ส่วน เริ่มจากการวิจัยขบวนรถไฟฟ้า LRT ซึ่งเราได้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้จนได้รับความเสียหาย แต่ทีมงานนักวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ และนักศึกษาได้ช่วยกันทำการวิจัยให้ขบวนรถไฟฟ้าดังกล่าวนั้นกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นขบวนใหม่ รวม 3 โบกี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งระบบในเดือน พ.ค.2568 เช่นเดียวกันกับแผนงานต่อเนื่องกับขบวนรถไฟฟ้า คือ การจัดวางระบบราง รถไฟในมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการอนุมัติงบประมาณจากสภามหาวิทยาลัยฯ วางรางรถไฟฟ้าระยะทางรวมกว่า 400 เมตร ด้วยความกว้าง 1.435 เมตร ด้วยงบประมาณรวมประมาณ 7 ล้านบาท ซึ่งเป็นการวางระบบรางที่จะใช้ในการทดสอบขบวนรถไฟฟ้า LRT ที่ทำการจัดสร้างพร้อมกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งช่วนเวลาในการวางรางนั้นจะเสร็จในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คาดว่าจะเปิดใช้งานและทดสอบระบบได้พร้อมกันในเดือน มิ.ย. นี้ ซึ่งเป็นช่วงของการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2568 ของมหาวิทยาลัยฯพอดี
“แต่ถึงอย่างไรในการทดสอบขบวนรถไฟนั้น จะต้องใช้ความยาวมากกว่านี้ ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ ได้เสนอโครงการแบบต่อเนื่อง กับกระทรวง อว.เพื่อขอรับการสนับสนุนทุนวิจัย เป็นโครงการรถไฟรอบบึงแก่นนคร วงใน ซึ่งมีระยะทาง 4 กม.เพื่อใช้ในการทดสอบตามมาตรฐานของรถไฟฟ้าที่เป็นสากลทั้งระบบ ที่เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรม และใช้ในระบบการจัดการเรียนการสอน การซ่อมบำรุงขบวนรถและระบบราง รวมทั้งอาณัติสัญญาณ ต่างๆ ทั้งยังคงแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการขนส่งระบบรางว่าสามารถที่จะเชื่อมโยงกับภาคของการท่องเที่ยว การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน การแสดงให้เห็นถึงความเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ ที่สำคัญคือการพัฒนาเมืองด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชนโดยรอบ” นายปริญ กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีการเปิดสอนหลักสูตร และจัดการเรียนการสอนในระบบราง เพื่อรองรับกับการพัฒนาที่เกิดขึ้นทั้งในเรื่องของรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ที่กำลังเป็นที่สนใจ,โครงการรถไฟทางคู่ของ รฟท.และโครงการรถไฟฟ้าในเมือง หรือแม้กระทั่งโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ซึ่งทุกโครงการมีความต้องการในด้านของกำลังคนที่สูงมาก จึงเป็นสิ่งที่ทุกมหาวิทยาลัยได้มีการนำเรื่องระบบรางในภาคส่วนต่างๆมาจัดการเรียนการสอน
แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของบุคลากรที่เรามีการเตรียมการกันแล้ว ลำดับต่อมาคือเรื่องของเทคโนโลยี ที่เป็นการสร้างนวัตกรรมให้กับรถไฟ ซึ่งชัดเจนที่สุด คือ มทร.อีสานวิทยาเขตขอนแก่น โดยเฉพาะคณะวิศวกรรมศาสตร์ของเรานั้น สามารถร้างรถไฟฟ้า LRT ได้ และเมื่อเกิดปัญหาก็สามารถที่จะพัฒนาและต่อยอดรถไฟฟ้าขบวนนี้ไปได้และที่สำคัญคือนอกจากรถไฟฟ้าที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% จากฝีมือคนไทยแล้วก้าวต่อไปคือการสร้างขบวนรถไฟที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน เรียกได้ว่าเป็นโครงการแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทีมงานนักวิจัยไทยกำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกัน และในอนาคตมีแนวคิดขยายต่อยอดรถไฟชมเมืองรอบบึงแก่นนคร