1 ตุลาคม 2567 ที่ห้องอัมรินทร์ ศาลาว่าการ กทม. ย่านเสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ร่วมหารือกับ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
โดยมี นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และพ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เรื่องการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ให้กับบีทีเอส
นายชัชชาติ กล่าวภายหลังหารือว่า วันนี้บีทีเอสได้เข้ามาหารือกับ กทม.เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม.มีภาระหนี้สินที่ต้องจ่ายเงิน แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ส่วนที่ 1 ตามคำพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งได้นำเรื่องเข้าสภา กทม.เพื่ออนุมัติเงินสะสมจ่ายขาด
ส่วนที่ 2 และ 3 เป็นคำฟ้องให้ชำระหนี้ตั้งแต่ปี 2565-ปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ทั้งนี้คงจะปฏิบัติตามแนวทางของส่วนแรก แต่เพื่อเป็นไปด้วยความรอบคอบและให้รวดเร็วขึ้น จะมีการตั้งคณะทำงานระหว่าง บีทีเอส กทม. และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เพื่อพิจารณาหนี้สินในส่วนที่ 2 และ 3
และส่วนสุดท้ายส่วนที่ 4 คือหนี้สินในอนาคต สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งมีการเก็บค่าโดยสารมาแล้ว ต้องจ่ายค่าจ้างเดินรถกับทางบีทีเอส โดยทางบีทีเอสคุยว่าถ้าจ่ายมาก่อนได้จะช่วยบรรเทาภาระได้ กทม.ก็จะรับพิจารณาตรงนี้ไป
"ในเรื่องของอนาคตที่มีสัญญาจ้างเดินรถต่อไปถึงปี 2585 ก็ควรทำให้ถูกต้อง และสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องมีการพิจารณาระหว่างฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติด้วย วันนี้ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อพิจารณาหนี้สินในส่วนที่ 2 และ 3 และเรื่องในอนาคตว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ"
สำหรับหนี้สินส่วนแรก ได้นำเรื่องเข้าสภา กทม.เพื่ออนุมัติเงินสะสมจ่ายขาด เพื่อจัดทำเป็นร่างข้อบัญญัติ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญฯ โดยคาดว่าจะสามารถชำระหนี้ได้เร็วกว่ากรอบระยะเวลาที่คำพิพากษาสั่งให้จ่ายหนี้ภายใน 180 วัน โดยการพิจารณาในครั้งนี้จะมีผลต่อหนี้สินในส่วนที่ 2 และ 3 ด้วย
"ผมเห็นใจทางบีทีเอสนะ เพราะผมก็ขึ้นบีทีเอสทุกวัน ก็เห็นพนักงานที่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่ในขณะเดียวกัน กทม.ในฐานะผู้บริหารต้องทำตามรายละเอียดต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย ก็ต้องพยายามเดินไปด้วยกัน หาทางออกร่วมกัน ต้องขอบคุณ บีทีเอสที่กรุณาช่วยเดินรถ ซึ่งมีผู้โดยสารใช้บริการกว่า 9 แสนคนต่อวัน ถือว่าเป็นเส้นทางสำคัญของประชาชนชาวกรุงเทพฯ"
เมื่อถามว่าฝ่ายใดเป็นผู้นัดหารือก่อน
นายชัชชาติ ตอบว่า ทั้ง 2 ทาง เพราะ กทม.เองก็อยากคุยอยู่แล้ว ก็เป็นความต้องการทั้ง 2 ฝ่าย ที่ได้หารือทำความเข้าใจให้ตรงกัน ว่าแต่ละคนมีความกังวลด้านไหน บีทีเอสก็ให้บริการกับคนกรุงเทพฯ มานาน
เมื่อถามว่า กทม.ต้องรับภาระดอกเบี้ยวันละกี่บาท
นายชัชชาติ กล่าวว่า วันละ 2.7 ล้านบาทต่อวัน ตามที่ระบุในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
เมื่อถามว่าก่อนหน้าตามคำสั่ง คสช.ที่ให้ กทม.หยุดจ่ายค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 จะดำเนินการอย่างไร
นายชัชชาติ กล่าวว่า จริงๆแล้วไม่ได้สั่งไม่ให้จ่าย แต่บอกให้เอาค่าจ้างเดินรถของส่วนต่อขยายที่ 1 ไปรวมหนี้ เพื่อใช้ในการต่อสัญญาสัมปทาน ซึ่งตรงนี้คิดว่าคงไม่มีแล้วที่จะเอาไปต่อสัญญาสัมปทาน คงยากมาก แต่หลังจากนี้คงจะมีแนวทางว่าส่วนต่อขยายที่ 1 จะดำเนินการต่อไปอย่างไร ทั้งนี้รัฐบาลก็ไม่ได้มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ให้เป็นแนวทางให้เอาหนี้ทั้งหมดมารวมกันเพื่อพิจารณาต่อสัญญาสัมปทานเพื่อลดภาระหนี้ กทม. โครงสร้างอะไรต่างๆ
ส่วนค่างจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายที่ 2 ที่จะต้องจ่ายเป็นรายเดือนนั้น นายชัชชาติ ระบุว่า ตามหลักการจะต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภา กทม.ก่อน เนื่องจากส่วนต่อขยายที่ 2 จะต้องตั้งงบประมาณประจำปี เป็นหนี้ผูกพัน ซึ่งที่ผ่านมาส่วนต่อขยายที่ 2 ยังไม่ได้เข้าที่ประชุมสภา กทม.ให้อนุมัติ ดังนั้น จึงต้องนำเข้าสภา กทม.ให้ถูกต้องเพื่อในอนาคตจะได้จ่ายได้ต่อเนื่องไม่ต้องมีปัญหา
ขณะนี้เราทำข้อหารือไปสู่สภา กทม.แล้วว่าจะดำเนินการอย่างไร ฝ่ายบริหาร และฝ่ายสภา กทม.ที่เป็นตัวแทนประชาชนก็ต้องทำงานร่วมกัน เพราะถ้าฝ่ายบริหารจะใช้เงินสภา กทม.ก็ต้องเป็นผู้อนุมัติ เราไม่สามารถเอาเงินมาใช้โดยไม่ผ่านสภา กทม.ได้ และถ้าเราทุกคนเดินไปด้วยกันและเข้าใจตรงกันก็จะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น
ด้าน นายคีรี กล่าวว่า วันนี้ก็มีโอกาสมาพบ นายชัชชาติ สิ่งหนึ่งที่ต้องพูดคุยคือขอบคุณผู้ว่าฯชัชาติ ตนเข้าใจแล้วว่าผู้ว่าฯกทม. เข้าใจเรื่องทั้งหมดเลย และพยายามไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนทั้งกับ กทม.และทางเอกชน
"ตนเชื่อว่าผู้ว่าฯกทม. เข้าใจความลำบากของบริษัทฯ ขออนุญาตใช้คำว่าเสียสละ ที่ให้เดินรถทุกวัน แม้ว่ายังไม่ได้รับค่าจ้าง แต่วันนี้ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินไปแล้ว และได้เรียนว่าได้พยายาม และเข้าใจทุกกระบวนการ ไม่ต้องพูดอย่างอื่นแล้ว
นอกจากคำว่า ขอบคุณทาง กทม. ผู้ว่าฯชัชชาติ และคณะทำงาน และหวังอย่างยิ่งว่าบริษัทฯ จะได้รับการชำระเงินก้อนนี้ให้เร็วที่สุด และเราจะได้ให้บริการและขยายกิจการต่อไป จากการพูดคุยทำให้เข้าใจว่า ผู้ว่าาฯชัชชาติ มีความเข้าใจทุกย่างตรงกันอีก 3 เดือนครึ่ง ตนรอได้"