11 กันยายน 2567 ถือเป็นสถานการณ์น้ำท่วมหนัก ที่เป็นประวัติการณ์ ที่เกิดขึ้นกับอำเภอเเม่สาย เเละอีกหลายอำเภอใน จ.เชียงราย เป็นมวลน้ำที่มาจากผลพวงของฝนที่เกิดจากหางพายุซุปเปอร์ไต้ฝุ่น "ยางิ" ที่เข้ามาสลายตัวบริเวณเมียนมาตอนบน
ทั้งนี้หากเราย้อนกับไปดูเเบบจำลองสภาพอากาศ ที่ผู้สือข่าวเนชั่นทีวี ได้ทำการบันทึกเส้นทางพายุเก็บเอาไว้ จะเห็นได้ว่า ศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป หรือ ECMWF คาดการณ์ไว้ เเตกต่างจากทุกสำนัก เเม้กระทั่งญี่ปุ่น ที่มีความเเม่นยำ เเต่ก็ยังให้รัศมีมาไม่ถึงเชียงราย
เเต่ ECMWF คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ให้หัวของพายุ ปักหัวลงมาเมียนมา ครอบคลุมพื้นที่ท่าขี้เหล็ก รัศมีขอบพายุลงมาที่ตอนบน จ.เชียงราย จึงเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า การสลายตัวของพายุ ก่อให้เกิดฝนจุดบริเวณนี้ เป็นเหตุให้เกิด น้ำท่วมระลอก 2 ตามที่ได้มีการเเจ้งเตือน คือ จังหวัดเชียงราย
นักอุตุฯ เผยเเม่สายอ่วมหนัก อธิบายทำไมมวลน้ำถึงมาเยอะ
นายสุรพงษ์ สาระปะ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยา อธิบายว่า ลักษณะการสลายตัวของพายุที่เกิดขึ้นว่า เปรียบเสมือน บรรทุกคว่ำ โอ่งเเตก บรรทุกน้ำมาจำนวนมาก มาด้วยความเร็ว ระหว่างทางน้ำหกไปบ้าง เเต่พอถึงจุดหมายเบรกคว่ำ น้ำทะลักเเผ่กระจายออกทั้งหมด
อธิบายง่ายๆ คือ ช่วงพายุอยู่ในทะเล มีพลังงาน เหมือนตักน้ำไว้เต็มตุ่ม ระหว่างที่เคลื่อนตัวอยู่ที่ประเทศจีน เคลื่อนตัวมาด้วยความเร็วลมรุนเเรง ผ่านเวียดนาม มีเเรงลม มีฝนตกไปบ้าง เเต่ความเสียหายส่วนใหญ่จะเป็นวาตภัย ต้นไม้หักโค่น บ้านเรือน อาคาร เสียหายหลังคาปลิว จึงอยู่จีน เวียดนาม
พายุนี้เคลื่อนตัวไว พอมาถึงตอนใต้ของจีน เวียดนาม เมียนมา กลายเป็น ดีเปรสชั่น หย่อมความกดอากาศต่ำ เคลื่อนตัวช้า เเผ่ซึม ให้นึกภาพลักษณะโอ่งเเตก ลมไม่เเรง เเต่มวลน้ำที่เต็มตุ่มเเตก ฝนตกเเช่อยู่ตรงลุ่มน้ำโขงตอนใต้ รวมกับมวลน้ำฝนเก่าที่มีอยู่เเล้ว มวลน้ำลงมาอย่างรวดเร็ว หลังจากที่พายุผ่านไปเเล้ว 2 วัน
นาย สุรพงษ์ เปิดเผยด้วยว่า เหตุการณ์เเบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเเรก ที่มวลน้ำมาลงที่ลำน้ำโขง เเม่น้ำสาย เพราะเกิดขึ้นประจำ อีกทั้ง เราไม่รู้ว่าจีนปล่อยน้ำมาเท่าไหร่ เมียนมาปล่อยน้ำมาเท่าไหร่ เเละมวลน้ำที่ค้างมีอยู่เท่าไหร่ เเละ ในอดีตหน่วยงานของไทย ไปติดระบบโทรมาตร เพื่อจะเเจ้งเตือนตรงนี้ เพราะเเต่ก่อนตลาดเเม่สายบูมด้านเศรษฐกิจ ส่วนในฝั่งเมียนมาไม่มีระบบโทรมาตร ในการตรวจวัดปริมาณฝน ทำให้กลายเป็นจุดอ่อนการเเจ้งเตือน ความเสียหายของบ้านเราเยอะกว่า เพราะเป็นปลายทาง
นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการ เปิดเผยด้วยว่า ส่วนใหญ่เเล้ว พายุที่เข้ามาในบ้านเรา จะไม่ได้รับความเสียหายรุนเเรงจากลม เหมือนกับที่เวียดนาม เวียดมักจะเจอในขณะที่เป็นพายุโซนร้อน หรืออย่างล่าสุดระดับซุปเปอร์ไต้ฝุ่น ที่เสียหายรุนเเรง เเต่ในบ้านเรา ส่วนใหญ่พายุที่จะเข้ามา คือ ดีเปรสชั่น หรือ หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังเเรง ระดับโซนร้อน ก็มีเเต่ไม่บ่อย ซึ่งบ้านเราท่วมหนัก ท่วมบ่อย เพราะมวลน้ำมารวมกันตรงนี้
นอกจากนี้ยังความชื้นจากฝั่งทะเลอันดามัน พัดปกคลุมเข้ามาทางด้านฝั่งเมียนมา ซึ่งลักษณะเเบบนี้ คล้ายกับปี 2554 ที่พายุเคลื่อนเข้ามาทางจีน เวียดนาม มาสลายบริเวณเมียนมา เเละภาคเหนือ เเล้วก็ทิ้งมวลน้ำเอาไว้
ผลกระทบที่เราได้รับ จาก "ยางิ " เป็นเพียงเเค่หางพายุ ยังมีโอกาสเสี่ยงในช่วงครึ่งหลังเดือนกันยายน เเละครึ่งเเรกตุลาคม ซึ่งค่าสถิติเกิดการก่อตัวของพายุมากที่สุด อาจจะเจอเเบบเข้ามา ยังภาคอีสาน ภาคเหนือ เเบบเต็มๆ ซึ่งต้องติดตามจับตาอย่างใกล้ชิด