11 กันยายน 2567 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ประกาศดับไฟเนื่องจากน้ำท่วม 7 แห่ง ได้แก่
1.ซอยโรงฆ่าสัตว์ชุมชนรั้วเหล็ก
2.ชุมชนเกาะลอยบางส่วน
3.สะพานพญามังราย,ชุมชนเทิดพระเกียรติ
3.ชุมชนน้ำลัดซอยถ้ำพระ,บ้านป่าอ้อใหม่
4.ชุมชนฝั่งหมิ่น,ร่องเสือเต้น
5.บ.เมืองงิม,บ.ฟาร์ม
6.ต.ดอยฮาง
7.ชุมชนแควหวาย
ขณะที่ อัปเดตเมื่อประมาณ 1 ชม. ที่ผ่านมาเพจ "สวท.ฝาง คลื่นความรู้-คู่ความสุข" โพสต์คลิป
พร้อมระบุว่า "ภาพมุมสูงสถานการณ์น้ำพื้นที่ อำเภอฝาง ขัวเจ๊ทา 11/09/67 เวลา 08.50 น. โปรดหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทาง" และ สถานการณ์น้ำ ช่วงสะพาน บ้านนันทาราม กับ หน้าโรงเรียนรังษีวิทยา อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
เพจ "กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM" โพสต์ รายงานคาดการณ์และแจ้งเตือนภัย
ปภ.รายงานมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัด ประสานพื้นที่ดูแลและให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน
11 ก.ย. 67 เวลา 10.00 น. ปภ.รายงานมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา รวม 17 อำเภอ 97 ตำบล 450 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 14,328 ครัวเรือน
ประสานพื้นที่ดูแลและให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย และวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เข้าสนธิกำลังร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เร่งคลี่คลายสถานการณ์
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนปกคลุม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทำให้ระหว่างวันที่ 16 ส.ค. - 11 ก.ย. 67 มีสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 27 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู ปราจีนบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ระยอง ภูเก็ต ยะลา นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง และสตูล
รวม 120 อำเภอ 535
ตำบล 2,844 หมู่บ้าน
ประชาชนได้รับผลกระทบ 83,501 ครัวเรือน
มีผู้เสียชีวิต 26 ราย
ผู้ได้รับบาดเจ็บ 19 ราย
โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 11 กันยายน 2567) ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 7 จังหวัด รวม 17 อำเภอ 97 ตำบล 450 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 14,328 ครัวเรือน ดังนี้
1) เชียงราย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สาย อ.ขุนตาล และ อ.พญาเม็งราย รวม 4 ตำบล 27 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,276 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
2) เชียงใหม่ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอแม่อาย รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน ผู้สูญหาย 4 ราย จากสาเหตุดินถล่ม
3) ตาก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอแม่สอด รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
4) สุโขทัย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอกองไกรลาศ รวม 3 ตำบล 20 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 361 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
5) พิษณุโลก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ และ อ.เมืองฯ รวม 7 ตำบล 15 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 576 ครัวเรือน ระดับน้ำเทรงตัว
6) อ่างทอง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอวิเศษชัยชาญ รวม 3 ตำบล 14 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 343 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
7) พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.บางบาล อ.บางปะหัน อ.ผักไห่ อ.เสนา อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางปะอิน และ อ.บางไทร รวม 78 ตำบล 372 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 11,772 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน
โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำ รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย และรถผลิตน้ำดื่ม เพื่อระบายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนและผลิตน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หากมีความจำเป็นต้องระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่พื้นที่อื่น
ได้กำชับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดประสานเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการดำเนินการโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนเป็นสำคัญ และเลือกใช้วิธีการที่ส่งผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด พร้อมกันนี้ ยังได้สนับสนุนถุงยังชีพรวมแล้วกว่า 10,000 ชุด แจกจ่ายให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้น
สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ได้มีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป
ในส่วนของพื้นที่เสี่ยงภัยที่แม้ปัจจุบันยังไม่เกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัดให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมแจ้งเตือนประชาชนทันทีที่มีแนวโน้มเกิดสถานการณ์ภัยในพื้นที่ รวมถึงจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัยขึ้น
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามรายงานคาดการณ์สาธารณภัยและประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”
โดยสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android และหากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง