จากกรณีการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” ในหลายพื้นที่ ส่งผลทำให้เกษตรผู้เลี้ยงกุ้ง ได้รับผลกระทบ เนื่องจากกุ้งที่เลี้ยงไว้ ได้ถูกปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็น “เอเลียนสปีชีส์” (Alien Species) หรือ เป็นสัตว์ที่มีชีวิตต่างถิ่น และไม่ได้มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย บุกเข้าไปทำลายระบบนิเวศ หรือกัดกินลูกกุ้งจนได้รับความเสียหาย สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรผู้เลี้ยงกุ้งเป็นจำนวนมาก
31 กรกฏาคมา 2567 เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น ทีมข่าวเนชั่นทีวี ได้รับการร้องเรียนจาก นายอดิศร จันทร์สุขสวัสดิ์ เจ้าของวังกุ้ง หมู่ที่ 6 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ โดยระบุว่า ได้พบปลานิลเป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นการกลายพันธุ์หรือไม่ โดยลักษณะของปลานิลดังกล่าว มีลักษณะคล้ายกับปลาหมอคางดำ ที่อาศัยอยู่ภายในบ่อเลี้ยงกุ้ง
ทั้งนี้ เมื่อทีมข่าวไปถึง นายอดิศร จึงได้พาไปตรวจสอบ ด้วยการทอดแห และสุ่มจับปลาในบ่อเลี้ยงกุ้งขึ้นมา เพื่อทำการตรวจสอบ ว่าลักษณะของปลาดังกล่าว มีการผสมพันธุ์กันระหว่าง "ปลาหมอคางดำ" กับ "ปลานิล" แล้วกลายพันธุ์เป็น "ปลานิลคางดำ" จริงหรือไม่
โดยจากการทอดแห ประมาณ 2 ครั้ง สามารถจับได้ปลาขึ้นมาได้หลายชนิด มีทั้ง ปลากะพง ปลานิล ปลาหมอคางดำ ปลาซักเกอร์ ส่วนปลาเป้าหมาย ที่มีลักษณะเหมือนปลาหมอคางดำ ที่ตั้งข้อสงสัยเอาไว้ว่า อาจจะเป็นปลากลายพันธุ์ ซึ่งมีลักษณะเหมือนปลานิล แต่ที่คางมีสีดำ ก็จับได้
โดย นายอดิศร ได้จับปลาขึ้นมาวางเปรียบเทียบ ให้ทีมข่าวได้ทำการตรวจสอบ โดย "นำปลานิลตัวโต วางเรียงไว้ด้านบน ต่อด้วยปลานิลตัวเล็ก และปลานิลลักษณะต้องสงสัย ว่ากลายพันธุ์อยู่ล่างสุด โดยปลาทั้ง 3 ตัว มีรูปร่างลักษณะเหมือนกัน แต่ตัวล่างสุดที่คางมีสีดำ"
นายอดิศร ระบุว่า ปลานิลที่จับขึ้นมา จะมีลักษณะตัวอ้วนกลม คางไม่มีสีดำ และปากจะยื่นยาวแหลมกว่า “ปลาหมอคางดำ” ตัวผอมยาวหัวโต ส่วนปลานิลคางดำ ซึ่งเป็นปลาต้องสงสัยว่าจะมีการกลายพันธุ์ ลักษณะตัวจะอ้วนกลม เหมือนปลานิล แต่ที่คางมีสีดำ เหมือนปลาหมอคางดำ โดยในบ่อเลี้ยงเพิ่งตรวจสอบ พบปลาลักษณะนี้ และยังไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ ว่าเป็นปลาที่มีการกลายพันธุ์จริงหรือไม่ และจะมีผลกระทบกับเกษตรกรอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ จากการค้นพบดังกล่าว คงต้องฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกรมประมง ให้รีบเดินทางลงพื้น เพื่อมานำตัวอย่างไปวิจัยถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะหากพบว่ามีผลเสีย หรือกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร หรือระบบนิเวศ ก็จะได้เร่งหาแนวทางป้องกันได้ทันเวลา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบสร้างปัญหาซ้ำซ้อนให้กับเกษตรกรขึ้นมาอีก