10 กรกฎาคม 2567 ที่วัดจังกระดาน อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ได้มีการนำช่างมาดีดยกฐานอุโบสถขึ้น ซี่งวัดจังกระดานเป็นวัดที่อยู่ในเขตอำเภอไพรบึง เป็นวัดที่เก่าแก่พุทธศาสนิกชนพร้อมทั้งส่วนราชการในอำเภอไพรบึง จะมาทำกิจกรรมและศาสนพิธีอยู่เป็นประจำ อุโบสถหลังนี้จึงเป็นศูนย์รวมในการทำศาสนพิธีและทำกิจกรรมต่างๆเช่นอุปสมบท เวียนเทียน ปฏิบัติธรรม
แต่ในช่วงฤดูฝนก็จะเจออุปสรรค ในการปฏิบัติศาสนพิธีและกิจกรรมต่างๆ เพราะน้ำจะท่วมตัวอุโบสถทำให้ไม่สามารถที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ทางวัดจึงจำเป็นจะต้องบูรณะอุโบสถใหม่โดยการดีดยกอุโบสถให้สูงขึ้น และซ่อมแซมทำนุบำรุงเพื่อให้พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนทำกิจกรรมได้สะดวก
พระครูวาปี บุญญารักษ์ เจ้าอาวาสวัดจังกระดาน เล่าว่า ก่อนที่จะยกฐานอุโบสถขึ้นมีชาวบ้านฝันเห็นว่าใต้อุโบสถมีพระพุทธรูปฝันเห็นเกือบทุกวัน และมีความกระวนกระวายอึดอัดใจ เหมือนมีสิทธิ์ศักดิ์สิทธิ์บางอย่างที่อยู่ในอุโบสถมาสื่อและดลใจเป็นนิมิตกับชาวบ้านคนนั้น จนทำให้เขาอยู่ไม่ได้ อาตมาจึงให้โยมคนนั้นเข้ามาปฏิบัติธรรม แต่ใจก็ยังว้าวุ่นอยู่ไม่หาย
"จนถึงวันที่ยกฐานอุโบสถขึ้นแล้ว อาตมาจึงมาเห็นว่ามีพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานที่เก่าแก่อยู่ใต้ฐานพระประธานอุโบสถ พระพุทธรูปเก่าแก่นี้มีอายุเกือบ 100 ปี อาตมาไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีพระพุทธรูปเก่าแก่อยู่ใต้ฐานพระประธานอุโบสถหลังนี้จริง ทำให้รู้สึกถึงความเชื่อที่ชาวบ้านฝัน" พระครูวาปี ระบุ
เจ้าอาวาสวัดจังกระดาน บอกอีกว่า หลังจากที่ยกอุโบสถเสร็จแล้ว อาตมาจะให้ช่างเคลื่อนฐานพระพระประธานในอุโบสถออกก่อน ถึงจะได้ยกพระพุทธรูปเก่าที่อยู่ใต้ฐานประประธานขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชา ตั้งแต่เริ่มทำพิธีดีดอุโบสถชาวบ้านและช่างถูกหวยมา 2 งวดติดกัน
ทั้งนี้ ตามความเชื่อที่คนเฒ่าคนแก่เล่าต่อกันมา พื้นที่ตรงที่สร้างอุโบสถหลังนี้เดิมทีเป็นหลังเก่าและมีประประธานตั้งอยู่แล้ว หลังจากที่รื้อหลังเก่าออก ก็ไม่ได้ยกพระประธานออก สมัยนั้นได้เทฐานพระประธานองค์ใหม่ทับเลย จึงเป็นที่มาของความเชื่อ ที่ชาวบ้านฝันเห็นว่ามีพระพุทธรูปอยู่ใต้อุโบสถและก็มีอยู่จริงตามความฝัน