จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชน และประชาชน ในการปรับปรุงแนวเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานฝั่ง จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี โดยใช้แนวเขตที่มีการสำรวจเมื่อ ปี พ.ศ.2543 ตามมติคณะรัฐมนตรี มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ซึ่งหากมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแนวเขตใหม่นี้ จะส่งผลให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน มีเนื้อที่หายไปประมาณ 265,000 ไร่
วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ล่าสุด ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปยังบ้านไทยสามัคคี หมู่ 1 คุ้มคลองกระทิง ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประเด็นข้อพิพาทระหว่างอุทยานแห่งชาติทับลาน กับชาวบ้าน ภายหลังมีการประกาศเขตอุทยานทับซ้อนพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในพื้นที่ ต.ไทยสามัคคี ซึ่งกินพื้นที่ไปทั้งหมด 3 ตำบล ได้แก่ ต.ไทยสามัคคี ต.วังน้ำเขียว และตำบลอุดมทรัพย์ รวมพื้นที่กว่า 30,000 ไร่ โดยทางอุทยานแห่งชาติทับลาน อาศัยประกาศเขตพื้นที่อุทยานปี 2524 ในการฟ้องร้องชาวบ้านในพื้นที่ ขณะเดียวกันทางชาวบ้านก็งัดหลักฐานโต้กลับโดยอาศัยประกาศเขตพื้นที่อุทยานปี 2543 ซึ่งได้มีการลงพื้นที่สำรวจ และปักหมุดประกาศเขตพื้นที่อุทยานเมื่อปี 2537 โดยในเวลานั้นมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานเข้าร่วมการเดินสำรวจในครั้งนั้นด้วย มีทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่จากอุทยานฯ
โดยนายกิตฌพัฒน์ จ้ายนอก อายุ 42 ปี ชาวบ้านคุ้มคลองกระทิง บ้านไทยสามัคคี หมู่ 1 ต.ไทยสามัคคี หนึ่งในชาวบ้านที่ถูกฟ้องดำเนินคดี ได้พาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ดูหลักเขตของอุทยานแห่งชาติ ที่ได้เริ่มเดินสำรวจและปักหมุดในช่วงปี 2537 ซึ่งถนนที่เดินทางไปนั้นจะเป็นถนนลูกรังที่ชาวบ้านในพื้นที่ใช้เดินทางไปทำการเกษตร โดยฝั่งขวามือนั้นจะเป็นเขตพื้นที่ของชุมชน ซึ่งมีชาวบ้านในพื้นที่มาทำการเกษตร ส่วนฝั่งด้านซ้ายมือนั้น จะเป็นฝั่งของอุทยาน หลังจากเดินทางเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร ห่างจากถนนไม่ไกลนัก จะเห็นหลักแสดงเขตพื้นที่ของอุทยานฯ ใกล้กันนั้นยังพบหลักแสดงพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์
จากการสอบถามทางนายกิตฌพัฒน์ ทราบว่า หลักแสดงเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์นั้นมาก่อน ส่วนหลักแสดงเขตพื้นที่อุทยานนั้นทยอยตามมาภายหลัง โดยเริ่มมีการปักหลักในช่วงปี 2537 ทั้งนี้ จากการที่ทางอุทยานฯทับลานได้ใช้ประกาศของกรมอุทยานฯ ปี 2524 นั้น ได้สร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยประกาศดังกล่าวทับซ้อนพื้นที่ชุมชนทั้งอยู่อาศัยและการประกอบอาชีพ ตนและชาวบ้านยืนยันว่าอยากให้ทางอุทยานฯนั้นใช้ประกาศของปี 2543 ที่มีการสำรวจและแก้ไขใหม่ตั้งแต่ปี 2537 เนื่องจากสภาพความเป็นจริงของพื้นที่นั้นเป็นชุมชนและเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านมาก่อนที่จะมีการประกาศปี 2524 โดยเริ่มชาวบ้านมาอยู่อาศัยตั้งแต่ช่วงปี 2500 มีหลักฐานการก่อตั้งหมู่บ้าน การตั้งโรงเรียนไทยสามัคคี และการตั้งวัดไทยสามัคคี ซึ่งก่อตั้งโดยทางกองทัพภาคที่ 2 และใช้ชื่อหมู่บ้านว่าไทยสามัคคี เพื่อเป็นการต่อต้านภัยคุกคามจากกลุ่มคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้น ซึ่งปู่ของตนเองก็ได้ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ตั้งแต่ปี 2503 ก่อนที่จะสืบทอดต่อกันมาจนถึงรุ่นของตนคือรุ่นที่ 3 แล้ว
นายกิตฌพัตน์ กล่าวต่อว่า ตนอยากเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านที่ถูกทางอุทยานประกาศเขตพื้นที่ทับพื้นที่ชุมชนกว่า 90 หมู่บ้าน รวม 5 อำเภอ ถึงแม้ว่ากระแสสังคมจะมองว่าตนและชาวบ้านในพื้นที่นั้นเป็นผู้บุกรุก ซึ่งเท่าที่เห็นนั้น ส่วนใหญ่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นชาวบ้านที่อยู่อาศัยมาแต่ก่อนแล้ว ส่วนนายทุนนั้นจะมีอยู่ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และถ้าดูตามหลักฐานแล้ว ชุมชนอยู่มาก่อนที่อุทยานจะประกาศเขตพื้นที่อุทยานเสียอีก ตนและชาวบ้านไม่ต้องการให้ออกเป็นโฉนดที่ดิน ขอแค่เพียง สปก.เอาไว้อยู่อาศัย และทำกินเท่านั้นเอง
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวเดินทางไปพบกับ นางปิ่นแก้ว เหิมขุนทด ชาวตำบลไทยสามัคคี ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ถูกทางอุทยานฯทับลานฟ้องร้องดำเนินคดี และขณะนี้ คดียังอยู่ในชั้นศาล
โดย นางปิ่นแก้ว เล่าว่า ตนเองมีพื้นที่อยู่ประมาณ 4 ไร่กว่า ซึ่งรับมาจากพ่อของตน ที่ย้ายเข้ามาอยู่ประมาณปี 2500 ส่วนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ เป็นเอกสาร ภบท.5 ซึ่งตนก็มีหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่เรื่อยมา จนกระทั่งในปี 2524 ได้มีการประกาศให้พื้นที่บริเวณตำบลไทยสามัคคีเป็นพื้นที่อุทยาน ต่อมาในปี 2555 ตนเองได้ถูกอุทยานฯทับลานฟ้องร้อง ปัจจุบันนี้ตนก็ยังคงต้องไปขึ้นศาล และจะไปขึ้นศาลอีกครั้งในวันที่ 19 กันยายน นี้
อย่างไรก็ตาม จากการที่ถูกทางอุทยานฯทับลาน ฟ้องร้องดำเนินคดีตนเองนั้น ส่งผลกระทบต่อตนเป็นอย่างมาก เนื่องจากหมดค่าใช้จ่ายในการไปจ้างทนายความ เพื่อไปสู้คดี จ่ายค่าเดินทางไปขึ้นศาล รวมระยะเวลากว่า 12 ปี และนับตั้งแต่ที่ถูกฟ้อง ตนเสียเงินไปแล้วหลายแสนบาท อีกทั้ง ยังได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวเนื่องจากมีรีสอร์ทปิดตัวลง ชาวบ้านตกงานขาดรายได้ ซ้ำยังมาเจอปัญหาเศรษฐกิจอีก ทำให้ตอนนี้ตนมีความเครียดเป็นอย่างมาก ตนอยากให้ทางรัฐบาลดำเนินการตามประกาศปี 2543 ซึ่งเป็นประกาศที่กันพื้นที่ชุมชนออกจากป่า เนื่องจากหลักฐานเอกสาร รวมไปถึงหลักที่แสดงเขตพื้นที่อุทยานปี 2543 นั้น ก็แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่าชาวบ้านอยู่อาศัยมาก่อนอุทยานจะประกาศเสียอีก
ด้าน นายสมบูรณ์ สิงกิ่ง นายก อบต.ไทยสามัคคี กล่าวว่า จากกรณีที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ได้รับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ตามมาตรา 8 ตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติ ก็ทำให้ชาวบ้านรู้สึกตื่นตัวกันมาก เพราะเรื่องนี้จะเกี่ยวเนื่องกับมติ ครม. เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ซึ่งให้อุทยานฯ กันพื้นที่ออก ตามแผนที่ One Map
แต่ภายหลังที่ทาง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ ได้พยายามนำข้อมูลเพียงด้านเดียว มาให้ข่าวชี้นำสังคมให้เกิดความคล้อยตาม เพื่อไม่ให้มีการกันพื้นที่กว่า 2 แสนไร่นี้ออกไปจากเขตอุทยานฯ นั้น ก็ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่รู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างมาก เพราะความจริงนั้นการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เมื่อปี 2524 เป็นการประกาศเขตทับที่อยู่อาศัยของประชาชน จำนวน 97 ชุมชน ที่ตั้งรกรากอยู่มาก่อนนานแล้ว นับว่าเป็นการประกาศเขตอุทยานทับซ้อนชุมชนมากที่สุดในประเทศไทยเลยก็ว่าได้