svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รู้จัก "กัลปังหา" คืออะไร หลัง "ซีแฟน" โผล่พ้นน้ำ กลายเป็นอันซีนแห่งใหม่เกาะสุกร

15 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทำความรู้จัก "กัลปังหา" คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรกับระบบนิเวศทางทะเล พร้อมพาชมความสวยงามของ "กัลปังหาแดง" ที่โผล่พ้นน้ำ หลังน้ำทะเลลดลงต่ำสุด สร้างความตื่นตาให้นักท่องเที่ยว จนกลายเป็นอันซีนแห่งใหม่ของเกาะสุกร จ.ตรัง

หากใครเคยไปเที่ยวทะเล หรือมีโอกาสได้ดำน้ำ คงจะได้ชม "กัลปังหา" ซึ่งมีลักษณะคล้ายพัด หรือบางชนิดก็เป็นเส้นเดี่ยวคล้ายแส้ ดูเผินๆ นึกว่าต้นไม้ คุณรู้หรือไม่ แท้จริงแล้ว กัลปังหา เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง และมีความสำคัญกับระบบนิเวศใต้ทะเลด้วยนะ

วันนี้ Nation STORY ขอพาไปเที่ยวที่บริเวณหน้าหาดทรายทอง หมู่ที่ 2 ต.เกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เพื่อไปชมความสวยงามของ "กัลปังหาแดง" ที่โผล่พ้นน้ำในช่วงนี้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอันซีนของเกาะสุกร ว่าแล้วก็ออกเดินทางกันเลย
รู้จัก \"กัลปังหา\" คืออะไร หลัง \"ซีแฟน\" โผล่พ้นน้ำ กลายเป็นอันซีนแห่งใหม่เกาะสุกร
การเดินทางครั้งนี้ มี นายณัฐพัฒน์ พรหมเพชร ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกาะสุกร ซึ่งเป็นคนเก็บข้อมูลและสำรวจกลุ่มกัลปังหาแดง หรือ ซีแฟน (Sea Fan) คนแรกในอำเภอปะเหลียน นำนักท่องเที่ยว ไปชมความสวยงามของกัลปังหาแดงที่โผล่พ้นน้ำ หลังน้ำทะเลลดลงต่ำสุด ห่างฝั่งประมาณ 400-500 เมตร และเป็นกัลปังหาแดงกลุ่มเดียวใน จ.ตรัง ที่อยู่ในเขตน้ำตื้น หรือที่ระดับความลึกประมาณ 20-40 เซนติเมตร นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเดินไปชมได้อย่างใกล้ชิด 

โดยในช่วงหน้าแล้งของทุกปี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ในช่วงข้างแรม 1-3 ค่ำ ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำทะเลลดลงต่ำสุด จะพบกัลปังหาแดงโผล่พ้นน้ำมากที่สุด และพบเพียงแห่งเดียวใน จ.ตรัง ที่อยู่ในเขตน้ำตื้น สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยว จนกลายเป็นอันซีนแห่งใหม่บนเกาะสุกร ที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา

รู้จัก \"กัลปังหา\" คืออะไร หลัง \"ซีแฟน\" โผล่พ้นน้ำ กลายเป็นอันซีนแห่งใหม่เกาะสุกร
สำหรับ กัลปังหาแดง เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง อยู่ในกลุ่มเดียวกับปะการัง มีหนวดลักษณะคล้ายขนนกคอยดักจับแพลงตอน ที่ลอยมากับน้ำกินเป็นอาหาร พบมากในบริเวณที่มีกระแสน้ำไหลหรือที่ระดับความลึก 3-10 เมตร แต่ช่วงเดือนมีนาคมนี้พบว่า กัลปังหาแดงทรุดโทรมลงไปมากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจากน้ำทะเลลดลงเป็นเวลานานกว่าปกติ ทำให้อุณหภูมิของน้ำร้อนขึ้น ยอดของกัลปังหาแดงจึงเริ่มแห้งตายเพราะโผล่พ้นน้ำเป็นเวลานาน แต่ยังคงมีกัลปังหาแดงที่เกิดใหม่อยู่ใต้ผิวน้ำโผล่ขึ้นมาให้เห็น 
รู้จัก \"กัลปังหา\" คืออะไร หลัง \"ซีแฟน\" โผล่พ้นน้ำ กลายเป็นอันซีนแห่งใหม่เกาะสุกร
นายณัฐพัฒน์ เล่าว่า กัลปังหาแดง หรือซีแฟน กองนี้ มีความพิเศษตรงที่เป็นกัลปังหาแดงที่โผล่พ้นน้ำ ในข้อมูลที่เขาพยายามสืบค้นน่าจะเป็นกองเดียวที่เห็นอยู่ใน จ.ตรัง หรือกองเดียวในภาคใต้ โดยปกติแล้วซีแฟนจะอยู่ในระดับน้ำ 2-3 เมตร ถึง 10 กว่าเมตร แต่กองนี้เจอในระดับน้ำแค่หัวเข่า หรือว่าช่วงน้ำลงต่ำสุดจริง ๆ ก็สามารถเดินรอบกองนี้ได้โดยที่ไม่ต้องไปดำน้ำหรือนั่งเรือ แค่เดินมา 400-500 เมตรก็มาชมได้แล้ว ถือว่าเป็นหนึ่งอันซีนของเกาะสุกร 

"ส่วนจุดเด่น คือ เป็นกองขนาดใหญ่มาก คือ 2-3 เมตร และมีความสมบูรณ์จนแทบจะไม่มีซีแฟนตัวไหนที่โผล่พ้นน้ำให้เจอได้ง่ายเลย เพราะพวกนี้จะอาศัยอยู่ใกล้ๆ ร่องน้ำหรือโซนที่มีแพลงตอนเพียงพอในการเจริญเติบโต แต่วันนี้เจอในระยะชายฝั่งถือว่าเป็นโชคดีของเกาะสุกรจริงๆ" นายณัฐพัฒน์ กล่าว

นายณัฐพัฒน์ บอกด้วยว่า เขามาเจอกัลปังหาแดง และสำรวจกองนี้เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และได้เก็บข้อมูลทุกครั้งที่มีโอกาสหลังน้ำลด

ทำความรู้จัก "กัลปังหา" 

อย่างที่กล่าวไปตอนต้น "กัลปังหา" เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ BRT หรือ โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (Biodiversity Research and Training Program : BRT) ซึ่งเขียนโดย คุณวรณพ วิยกาญจน์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุเกี่ยวกับกัลปังหาว่า

กัลปังหา (Gorgonians) เป็นสิ่งมีชีวิตในทะเลที่บางชนิดมีรูปร่างแผ่แบนคล้ายพัด จะเรียกว่าพัดทะเล (Sea fan) หรือบางชนิดมีลักษณะเป็นเส้นเดี่ยวคล้ายแส้ ก็จะเรียกว่าแส้ทะเล (Sea whip) ซึ่งถ้ามองเผินๆ แล้วกัลปังหาจะดูเหมือนต้นไม้

แต่ความจริงแล้ว กัลปังหาเป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับปะการัง แต่ถูกแยกออกมาเป็น Subclass Octocorallia ซึ่งมีสมมาตรของร่างกายแบบรัศมี นอกเหนือจากรูปร่างลักษณะภายนอกที่เห็นแตกต่างกับปะการังแข็งแล้ว ตัวของกัลปังหาหรือที่เรียกว่า "โพลิป" (Polyp) แต่ละตัวนั้นจะมีหนวด (Tentacle) 8 เส้น ในขณะที่โพลิปของปะการังแข็งแต่ละตัวจะมีหนวด 6 เส้น หนวดเหล่านี้มีลักษณะคล้ายขนนก ทำหน้าที่กรองดักสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ล่องลอยอยู่ในมวลน้ำแล้วนำมากินเป็นอาหาร 

บริเวณหนวดของมันยังมีเข็มพิษที่คอยช่วยในการจับเหยื่อพวกแพลงก์ตอนสัตว์อีกด้วย โดยจะพบกัลปังหามากในบริเวณที่มีกระแสน้ำไหล เนื่องจากกระแสน้ำมีส่วนช่วยในการพัดพาอาหารมาให้ และช่วยพัดพาสิ่งขับถ่ายหรือของเสียที่ถูกปลดปล่อยจากตัวกัลปังหาออกไป

กัลปังหา สามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบ "อาศัยเพศ" และ "ไม่อาศัยเพศ" เช่นเดียวกับปะการัง การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศนั้นใช้วิธี "แตกหน่อ" หรือ "การแยกออกจากกัน" ส่วนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเป็นการผสมภายในระหว่างเซลสืบพันธุ์ของเพศผู้และเพศเมียที่มาจากต่างโคโลนีกัน โดยที่แต่ละโคโลนีของกัลปังหาส่วนใหญ่จะมีเซลสืบพันธุ์เพียงเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น

ประโยชน์ของ "กัลปังหา" ต่อระบบนิเวศทางทะเล

กัลปังหา มีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์ทะเลขนาดเล็ก หลายชนิด ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ อาจพบดาวเปราะ หอยเบี้ย ปู หรือกุ้ง เกาะติดอยู่ตามกิ่งก้านของกัลปังหาเป็นจำนวนมาก

ภัยคุกคามกัลปังหา

ภัยคุกคามของกัลปังหา คือ เรืออวนลาก อวนรุน และภัยส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อ ที่ว่ากันว่ากัลปังหา สามารถนำมาทำเป็นยารักษาโรคได้ มันจึงถูกลักลอบนำมาค้าขาย ผ่านรูปแบบทำเป็นเครื่องประดับ เครื่องรางของขลัง  ซึ่งในแง่มุมบางส่วนของความเชื่อ สายมูบางคน ก็เชื่อในเรื่องพ้องเสียงของ "กัลปังหา" ถือเป็นเคล็ดเพราะชื่อเรียกคล้ายๆกับ "กันปัญหา" ขับไล่สิ่งชั่วร้าย แบ่งเป็น กัลปังหาดำ กัลปังหาทองดำ กัลปังหาขาว และ กัลปังหาแดง (เป็นความเชื่อส่วนบุคคลโปรดใช้วิจารณญาณ)

สำหรับสีของกัลปังหามีตั้งแต่สีขาว เหลือง ชมพู ม่วง แดง ไปจนถึงแดงเข้ม สีอิฐแดงสนิมเหล็ก และสีน้ำตาลเข้ม แต่เมื่อนำขึ้นมาจากทะเลตัวกัลปังหาจะตายเหลือแต่แกนที่มีสีดำมีลักษณะแข็ง

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามมีไว้ในครอบครองหรือเพื่อการค้าขาย

สำหรับในประเทศไทย "กัลปังหา" ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามมีไว้ครอบครอง หรือ ซื้อขายกันอย่างเด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เช่น ปะการัง กัลปังหา เต่าทะเล ดอกไม้ทะเล หอยมือเสือ หอยสังข์แตร จระเข้ เป็นต้น หากพบการครอบครองจะมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ ตามพิจารณา

นี่ก็เป็นเรื่องราวของ "กัลปังหา" ที่ Nation STORY หยิบมาเล่าในวันนี้ จะเห็นได้ว่า แม้กัลปังหาจะมีเรื่องความเชื่อมาเกี่ยวข้อง จนกลายเป็นกระแสนำสู่การทำเป็น "เครื่องรางของขลัง" แต่สุดท้ายแล้ว ก็ไม่ควรมีไว้ในครอบครอง หรือ ซื้อขายกัน เนื่องจากจะมีความผิดตามกฎหมาย

ดังนั้น หากใครได้ไปชม ก็ขอให้ดูอย่างเดียว ไม่เอาอะไรกลับมา นอกจากรูปถ่าย หรือความทรงจำดีๆ ที่ครั้งหนึ่ง เราได้เห็นความสวยงามของเจ้ากัลปังหา ด้วยตาของตัวเอง

รู้จัก \"กัลปังหา\" คืออะไร หลัง \"ซีแฟน\" โผล่พ้นน้ำ กลายเป็นอันซีนแห่งใหม่เกาะสุกร

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
http://www1a.biotec.or.th/BRT/index.php/2010-08-09-09-38-28/156-gorgonians
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_7574655
https://news.ch7.com/detail/704542
https://www.komchadluek.net/amulet/536307
https://www.bangkokbiznews.com/business/990345
วิกิพีเดีย

logoline